พอเกิดการระบาดของ Covid-19 ก็เกิดแนววิเคราะห์ด้านหนึ่งว่า โลกหลังจากนี้ไปจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว
จะเริ่มมีการเปรียบเทียบโลก Pre-Covid กับ Post-Covid
หมายความว่าก่อนการระบาดของโรคร้ายนี้ วิถีชีวิตของคนในโลกเป็นอย่างหนึ่ง แต่หลังจากมันสิ้นสุดลงมนุษย์จะดำรงชีวิตไปอีกแบบหนึ่งอย่างสิ้นเชิง
หนึ่งในประเด็นที่จะเปลี่ยนคือ "โลกาภิวัตน์" หรือ globalization จะสิ้นสุดลงหรือไม่
นักวิชาการบางคนบอกว่า "โลกาภิวัตน์" มีอันจบลงแน่ๆ เพราะจะเห็นว่าการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ประเทศส่วนใหญ่ทำแบบ "ตัวใครตัวมัน"
จีนสู้แบบหนึ่ง ยุโรปก็ใช้ยุทธศาสตร์อีกแบบ และสหรัฐฯ ก็ใช้สูตรของตัวเอง
ทำให้ไทยเราต้องคอยสรุปบทเรียนจากกลุ่มประเทศต่างๆ มาใช้กับตัวเอง
แม้ในอาเซียนเองก็ยังมีลักษณะ "สู้เพื่อตัวเองก่อน แล้วค่อยช่วยคนอื่น"
เมื่อเกิดการ "ปิดประเทศ" ก็เท่ากับเป็นการกันตัวเองห่างจากประเทศอื่น เพราะไม่ต้องการให้คนของตัวเองรับเชื้อจากเพื่อนบ้านหรือคนจากประเทศอื่น
โลกไม่ได้มองว่านี่เป็น "สงครามโลก" แต่เห็นว่ามันคือ "สงครามระดับโลกที่แต่ละคนต้องสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง"
แต่มองอีกด้านหนึ่ง การที่แต่ละประเทศสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเองในตอนต้นๆ นั้น ท้ายที่สุดก็มาตระหนักว่าหากแต่ละประเทศใช้ยุทธศาสตร์ "ตัวใครตัวมัน" ท้ายที่สุดก็อาจไม่มีใครรอดได้
เพราะไวรัสไม่ถือพาสปอร์ต ไม่รู้จักเส้นแบ่งพรมแดน และโจมตีทุกคนโดยไม่สนใจเชื้อชาติ ศาสนา และระบบการเมืองด้วยซ้ำไป
หรือคำว่า Social Distancing กลายเป็นกระแสที่เรียกว่า "รวมกันเราตาย แยกกันเราอยู่"?
แต่ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ครั้งนี้ก็ตอกย้ำว่า ไม่มีประเทศไหนอยู่โดดเดี่ยวด้วยตนเองได้ เพราะไวรัสเป็น "ศัตรูร่วม"
พอเกิดการระบาดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นถึงขั้นต้องปิดเมือง ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก็ระเบิดขึ้นต่อหน้าต่อตา
จีนป่วย โลกทั้งโลกก็ผวา และป่วยตาม
แต่ขณะเดียวกันองค์การระหว่างประเทศ ที่ควรจะมีบทบาทประสานงานให้ประเทศสมาชิกได้ช่วยเหลือกันและกันก็พังสลายไปต่อหน้าต่อตาเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ, อียู, อาเซียน, นาโต หรือเอเปก
กรณีอิตาลีเป็นตัวอย่างว่าเมื่อเจอกับวิกฤติรุนแรง แทนที่ประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ จะยื่นมือมาช่วยเหลือ กลับกลายเป็นว่าประเทศยุโรปอื่นๆ ต่างปิดชายแดนเพื่อรักษาสถานภาพตนเอง
และเมื่อประเทศยุโรปอื่นๆ ถูกเชื้อ Covid เล่นงานด้วย ก็กลายเป็นเรื่องของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเองก่อนคนอื่นทั้งสิ้น
พอศึกสงครามนี้ลากยาวออกไป โลกกลับมาตระหนักว่าหากไม่ช่วยกันสกัดไวรัส มันก็จะทำลายล้างทั่วโลกได้
คำว่า globalization เดิมอาจจะถูกสึกกร่อนไปมาก แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดการยอมรับว่า หากโลกไม่เชื่อมโยงกันในรูปแบบใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคแบบอื่นๆ อีกในอนาคต ก็อาจจะถึงจุดอวสานของสังคมโลกได้
นักวิชาการบางคนมองว่า "ชาตินิยม" หรือ nationalism จะเพิ่มความเข้มข้นมาแทน "โลกาภิวัตน์" หรือ globalization หลังจาก Covid-19 สลายหายไป
แต่ผมมองว่าทุกอย่างกำลังก้าวเข้าสู่ยุค "หลังโควิด-19" ที่จะต้องมีการทบทวนระเบียบโลกขนานใหญ่
คำนิยามของศัพท์แสงเดิมๆ จะต้องมีการสังคายนากันอย่างชนิดพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินกันทีเดียว
แม้คำว่า "ประชาธิปไตย" "ทุนนิยม" "สังคมนิยม" "รัฐสวัสดิการ" และ "เผด็จการ" ก็จะถูกตั้งคำถามจากทุกฝ่ายอย่างรุนแรงเพื่อหาคำตอบใหม่ๆ
เพราะความปั่นป่วนครั้งนี้มีหลายระดับ...เริ่มด้วยปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4
เสริมด้วย Digital Disruption ที่เกิดจากเทคโนโลยี
และสำทับด้วยโรคระบาดระดับโลกอย่าง Covid-19
นั่นแปลว่าจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |