คนละไม้คนละมือ


เพิ่มเพื่อน    


    ในช่วงนี้น้ำใจที่หลั่งไหลของคนไทยในยามที่ประเทศเกิดวิกฤติยังไหลมาต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วในประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ทยอยออกมาตรการมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อย่างกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลด้านพลังงานของประเทศไทยได้ ออกสารพัดมาตรการมาช่วยเหลือประชาชนและครอบคลุมในหลากหลายมิติ รวมไปถึงมาตรการทางด้านสังคม มีการร่วมมือกับองค์กรด้านพลังงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างรอบด้าน
    โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นได้คลอดมาตรการช่วยเหลือล็อตแรกออกมา คือ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก จำนวน 21.5 ล้านราย ซึ่งได้ทยอยจ่ายคืนเงินให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมาแล้ว การตรึงค่าไฟฟ้าหรือค่าค่าเอฟทีเดือนพฤษภาคม 2563 ในอัตรา -11.60 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าฐาน คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,534 ล้านบาท ต่อเนื่องด้วยมาตรการลดค่าไฟฟ้า อัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทนาน 3 เดือน ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน 2563 ซึ่งในส่วนนี้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบ และดำเนินการ
    นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟในกลุ่มธุรกิจโรงแรม และที่ให้เช่าพักอาศัยได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล โดยไม่คิดค่าปรับดอกเบี้ยตลอดเวลาผ่อนผัน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563
    และยังลดค่าก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนลง 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน และลดราคาขายปลีก NGV ลง 3 บาท/กิโลกรัมให้รถโดยสารสาธารณะ เหลือ 10.62 บาท/กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน และตรึงราคา NGV สำหรับรถทั่วไปต่อเนื่องไปอีก 5 เดือน
    นอกจากนี้ ในล็อตที่สองที่เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือลดต้นทุนค่าไฟแก่ผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม โดยผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าจากต้องจ่ายตายตัว 70% ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือนมาเป็นจ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ตั้งแต่เมษายน-มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือนเช่นกัน
    ลดอัตราสำรองน้ำมันดิบสำหรับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงจาก 6% ลงเหลือ 4% ระยะเวลา 1 ปี และหลังจากนั้นปรับเพิ่มเป็น 5% ตลอดจนลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ให้โรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 หรือโรงพยาบาลสนามอีกด้วย
    และหลังจากนี้ กระทรวงพลังงานจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันนโยบายด้านปิโตรเลียมให้เดินหน้าต่อด้วยการส่งเสริมอาชีพในกิจกรรมรื้อถอน และสร้างแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัน-บงกช ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเกิดการจ้างงานราว 2,000 อัตรา จะเกิดการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานคนไทยมากกว่า 1,000 อัตราต่อปี และเกิดการใช้อุปกรณ์และบริการต่างๆ ในประเทศอีกเป็นจำนวนมาก
    มาตรการต่างๆ ยังไม่นับมาตรการด้านสังคม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ร่วมกับองค์กรด้านพลังงานดำเนินการในหลากหลายปาร์ตี้ เช่น ร่วมมือกับองค์กรและบริษัทด้านพลังงานสนับสนุนทางด้านการแพทย์ในการปลดล็อกเอทานอลที่ใช้ด้านพลังงานมาใช้ผลิตเป็นเจลล้างมือ, การเตรียมผลิตชุดตรวจโควิด-19 จากความสำเร็จของนักวิจัยไทย โดย VISTEC-ศิริราช-ปตท.-SCB ร่วมวิจัยชุดตรวจโควิด-19 ได้สำเร็จ, การมอบหน้ากากอนามัย, การมอบชุด PPE ให้บุคลากรทางการแพทย์, สนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล, การเปิดช่องทางจำหน่ายแอลกอฮอล์ 70% ที่ปั๊มน้ำมันของ ปตท. ล่าสุด ปตท.จีซี มอบสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผลิตจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนคุณภาพดีจาก GC และอุปกรณ์ชุดตรวจโควิดให้โรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดระยองจำนวน 9 แห่ง
    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทางด้านพลังงานจะมาโหมหลากหลายมาตรการ เพื่อช่วยเหลือทั้งภาคประชาชน ภาคผู้ประกอบการแล้วก็ตาม กระทรวงพลังงานในฐานะที่กำกับดูแลในด้านพลังงานก็ต้องคงไม่หยุดเพียงเท่านี้ หวังว่าคงจะทยอยกำหนดมาตรการเพื่อช่วยดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้กระเตื้องขึ้น
    แต่สิ่งสำคัญคือมาตรการต่างๆ นั้นเพียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในยามที่เกิดวิกฤติ ก็ยังเห็นความร่วมมือกันของคนไทยคนละไม้คนละมือ ใครมีน้อยก็ให้น้อย ใครมีมากก็ให้มากตามกำลังของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อมีราคาพลังงานถูกลง การใช้ก็ต้องใช้อย่างประหยัดและมีคุณค่าเช่นเดิม เพราะต้นทุนพลังงานนั้น คือการที่เราต้องใช้สูญเสียเงินตราต่างประเทศไปนำเข้ามา ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า บางส่วนต้องใช้เงินในอนาคตไปล่วงหน้า
    และต้องคำนึงกันเสมอว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราขณะนี้ไม่ใช่เแค่เรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ยังมีเรื่องปัญหาของภัยแล้ง ปัญหาของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ยังหนักหนาสาหัสในหลายๆ พื้นที่ เลวร้ายที่ยังคงอยู่ และรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน ดังนั้นหลังจากการแพร่ระบาดหมด ปัญหาที่จะตามมาหลังจากนี้คือระบบเศรษฐกิจที่ร่อแร่ ที่ต้องเร่งกระตุ้นและพยุงให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เพราะปากท้องของชาวบ้านยังต้องกินต้องใช้      
    ดังนั้น ต้องร่วมกัน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ.  
 บุญช่วย ค้ายาดี 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"