ประเดิมจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ประชาชนหลายพื้นที่แห่ไปกด แต่ต้องผิดหวังเพราะยังไม่ถึงคิว คลังบอกอยากรู้ให้ไปเช็กที่เว็บเราไม่ทิ้งกัน สาวดรามาบอกเศษเงินมีหนาว คลังส่งดีอีเอสตรวจสอบ เจอหนักทั้งกฎหมายคอมพ์-อาญา ฝ่ายค้านพาเหรดข้องใจเกลี่ยงบประมาณ 2563 ทำไมอืด “กรณ์” แนะคุยเอกชนให้ส่วนลดเพื่อให้ใช้เงินคุ้มค่า
เมื่อวันพุธที่ 8 เม.ย. ถือเป็นวันแรกที่กระทรวงการคลังส่งเอสเอ็มเอส หรืออีเมล ไปยังผู้ที่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาทระยะเวลา 6 เดือน ก่อนทยอยโอนเงินให้ ซึ่งเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้เปิดเมนูตรวจสอบสถานะขึ้นมา เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิลงทะเบียนเข้าไปตรวจสอบขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยาในรายชื่อของตัวเองได้ว่าขณะนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว โดยผู้ต้องการตรวจสอบสามารถกดที่เมนูตรวจสอบสถานะ หลังจากนั้นระบบจะให้กรอกหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้ลงทะเบียน และวัน-เดือน-ปีเกิดก่อนระบบจะแจ้งผลว่าขณะนี้ขั้นตอนการจ่ายเงินดำเนินการถึงไหนแล้ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 8-10 เม.ย. จะแจ้งผลผู้ผ่านเกณฑ์ไปทางเอสเอ็มเอสและอีเมล ส่วนผู้ไม่ผ่านเกณฑ์จะได้รับเอสเอ็มเอสในวันที่ 9 เม.ย.เป็นต้นไปว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่สามารถเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้ที่เว็บไซต์เดียวกัน ส่วนกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนแต่ต้องรอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม จะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งรายละเอียด เพื่อขอให้ประชาชนกรอกข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 11-12 เม.ย.
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการของเนชั่นทีวียืนยันว่า การจ่ายเงินจะมีการตรวจสอบได้ว่าคุณสมบัติตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริง ต้องเรียกเงินคืน และหากกรอกข้อมูลไม่จริงจะดำเนินการในทุกกรณี ถ้าข้อมูลปลอมไม่ได้ไปต่อแน่นอน ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลที่ระบุเงิน 5,000 บาทเป็นเศษเงิน ว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ทราบว่าเจตนาเป็นอย่างไร เงินที่ให้ในครั้งนี้รัฐบาลตั้งใจดูแลพี่น้องประชาชน อาจไม่มากมาย แต่มีความหมายในภาวะเช่นนี้ ส่วนใหญ่เข้าใจในเรื่องนี้ดี
“การขยายเวลาแจกเงินจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน เพราะเราไม่รู้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะยืดยาวแค่ไหน แต่ในหลักการเยียวยานั้น เราดูแลทุกกลุ่มแน่นอน โดยเริ่มต้นจากกลุ่มที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม ต่อด้วยกลุ่มอาชีพอิสระและเกษตรกรด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีวิธีการไม่เหมือนกัน จะปรับให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ความเป็นจริง โดยในอนาคตสามารถขยับปรับเปลี่ยนได้” นายอุตตมกล่าว
ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่ผู้ได้รับสิทธิต่างพากันไปเช็กยอดเงินที่ธนาคารว่ามีเงินเยียวยา 5,000 บาทเข้ามาหรือไม่ ทำให้ธนาคารหลายแห่งมีประชาชนมาเข้าคิวจำนวนมาก และบางคนต้องผิดหวังแม้ประกอบอาชีพขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงเริ่มทยอยโอนเงิน 5,000 บาทให้กับผู้ที่ได้รับคัดกรอง จากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com วันนี้เป็นวันแรก โดยประเมินว่าช่วง 3 วันแรก ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย.นี้ จะมีผู้ได้รับการโอนเงินจำนวน 1.68 ล้านราย แบ่งเป็นวันที่ 8 เม.ย. 280,000 คน, วันที่ 9 เม.ย. 753,000 คน และวันที่ 10 เม.ย. จำนวน 644,000 คน ขณะนี้มียอดผู้ลงทะเบียนล่าสุดอยู่ที่ 24.3 ล้านคน โดยมียอดยกเลิกการลงทะเบียนประมาณ 370,000 คน
“ยืนยันว่าได้เงิน 3 เดือนแน่นอน ส่วนจะขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือนเป็น 6 เดือนนั้น รัฐบาลก็ยืนยันว่าดูแลได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดว่าจะเป็นอย่างไรอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่ง ณ วันนี้เรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องมาประเมินก่อน หรือหากรัฐบาลต้องการนำเงินไปเยียวยานี้ไปช่วยคนที่ตกหล่นก็ทำได้”
นายลวรณยืนยันว่า ระบบคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ไม่มีปัญหา สามารถคัดกรองผู้ที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือจริง แต่ขอให้เข้าใจว่า เนื่องจากเวลาเตรียมมาตรการมีน้อย ทำให้ไม่สามารถวางระบบตรวจสอบเข้มงวดได้ แต่ในกลุ่มที่ได้เงินไปแล้ว กระทรวงการคลังก็จะมีระบบตรวจทานซ้ำ ว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือถูกต้องหรือไม่ โดยยืนยันว่ากลุ่มแรกที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยอะสุด คือ กลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไปและค้าขาย ซึ่งมีสัดส่วนสูงสุด ไม่ได้เน้นจ่ายกลุ่มที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ 4 กลุ่ม คือผู้ค้าสลาก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และมัคคุเทศก์ เป็นการเฉพาะ
โฆษกกระทรวงการคลังระบุอีกว่า จากข้อมูลผู้มาลงทะเบียนกว่า 24.8 ล้านคน พบว่ากลุ่มรับจ้างทั่วไป ลงทะเบียน 11.7 ล้านคน ผ่านเกณฑ์แล้ว 4 แสนคน, กลุ่มค้าขาย ลงทะเบียน 6.3 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 6 แสนคน, กลุ่มที่มีนายจ้าง ลงทะเบียน 1.9 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 4 แสนคน, ขับรถรับจ้าง ลงทะเบียน 3 แสนคน ผ่านเกณฑ์ 1 แสนคน กลุ่มผู้ค้าสลาก ลงทะเบียน 2 แสนคน ผ่าน 2 หมื่นคน, มัคคุเทศก์ ลงทะเบียน 3 หมื่นคน ผ่านแล้ว 1 หมื่นคน, อาชีพอิสระอื่นๆ ลง 1.7 ล้านคน ผ่าน 1 แสนคน
"กลุ่มที่ไม่เข้าข่ายช่วยเหลือแต่มาลงทะเบียนมาก เช่น อาชีพอิสระบางประเภท อาทิ ค้าขายออนไลน์ รับจ้าง แรงงานก่อสร้าง โปรแกรมเมอร์ ก็จะไม่ได้ โดยเฉพาะค้าขายออนไลน์ พบว่ามาลงทะเบียน 2.1 ล้านคน ไม่ผ่านเกณฑ์เลยแม้แต่รายเดียว เนื่องจากรัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการ"
สำหรับกรณีที่มีสาวโพสต์ว่าได้รับเงินเยียวยาแล้ว 5,000 บาท แต่เป็นแค่เศษเงิน ซึ่งภายหลังได้ออกมาขอโทษแล้ว นายลวรณชี้แจงว่า กระทรวงได้รับรายงานแล้ว ซึ่งกำลังตรวจสอบจากฐานข้อมูลซ้ำอีกรอบ หากไม่มีคุณสมบัติต้องส่งเงินคืนภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลง และหากพบว่าเป็นคนที่ไม่ได้รับเงิน แต่อ้างว่ารับเงินก็จะได้ส่งข้อมูลให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ไปดำเนินการต่อ และหากได้รับเงินจริง โดยอ้างว่าลงไปเล่นๆ แต่ฟลุกได้ก็ต้องมาตรวจสอบ พร้อมเรียกเงินคืน และจะระงับเงินในเดือนต่อๆ ไปด้วย
ชี้ผิดทั้งพรบ.คอมพ์-อาญา
ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา กล่าวถึงกรณีผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ว่าอาจเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย
ขณะเดียวกัน นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. พรรคได้เรียกประชุมด่วน และมีมติจะยืนเคียงข้างพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยได้มีทำหนังสือเพื่อส่งไปยังนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว
นายดวงฤทธิ์กล่าวว่า ข้อเสนอของ รปช.ต้องการให้ช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการดูแล 62% จากเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยจะนำหนังสือไปส่งให้กับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เพื่อให้ทราบถึงจุดยืนของพรรค รปช.ต่อไป
ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าสถานการณ์ของไทยวันนี้เป็นบททดสอบสำคัญต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ว่ามีศักยภาพเพียงพอในการเป็นผู้นำในยามวิกฤติหรือไม่ แต่วันนี้ยังไม่เห็นถึงความชัดเจนของรัฐบาลในนโยบายสำคัญด้านการเงินการคลัง ว่ามีแผนจะจัดการปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณปี 2563 อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19
“ผมยังไม่เห็นความชัดเจนในการปรับงบประมาณปี 2563 แล้ว ยังห่วงต่อการที่รัฐบาลเตรียมขอออกพระราชกำหนดกู้เงิน ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่มีคุณภาพ เราอาจเพิ่มความเสี่ยงในการนำเงินเก็บก้อนใหญ่อันเป็นเงินในอนาคตของประเทศมาใช้อย่างขาดหลักประกัน” นายสมพงษ์กล่าว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดจำนวนผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเพียง 9 ล้านคน จากผู้มาลงทะเบียนมากถึง 24 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้วหรือไม่ ระหว่างการช่วยเหลือเยียวยา 30,000 บาทต่อคนได้ 9 ล้านคน กับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 15,000 บาทต่อคนได้ 18 ล้านคน แบบไหนกระจายการช่วยเหลือในภาวะที่งบประมาณมีจำกัดออกไปได้มากกว่ากัน
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวถึงการแจกเงิน 5,000 บาท ว่าน่าเสียดายที่ครอบคลุมเพียง 8 ล้านคน ลดลงจากเดิม 1 ล้านคนตามที่เคยมีมติ ครม.ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ โดยเฉพาะแรงงานในระบบที่ยังไม่ถูกเลิกจ้างและไม่ได้ว่างงาน ซึ่งถูกลดเงินเดือน หรือถูกบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
ข้องใจเกลี่ยงบ 63 อืด
“งบประมาณส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท รมว.การคลังบอกเองว่ายังไม่มีรายละเอียด รอหน่วยราชการเสนอแผนขึ้นมา ซึ่งเสี่ยงจะเป็นงบแบบเบี้ยหัวแตกแบบที่เคยเป็นมา อย่างโครงการไทยนิยมยั่งยืน พรรคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอแผนส่วนนี้ไปก่อน และนำแผนการฟื้นฟูและกระตุ้นทั้งหมดไปพิจารณารวมกับงบประมาณ 2564 เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลากระตุ้นเศรษฐกิจ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว และว่า ส่วนการปรับเกลี่ยงบประมาณ 2563 ผ่านมา 2-3 สัปดาห์แล้ว ยังไม่เห็นว่าเป็นเม็ดเงินที่แน่นอนเท่าไหร่ โอนจากหน่วยงานใดบ้าง และยังไม่มีกำหนดเวลาว่าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลจะส่งกฎหมายการโอนงบประมาณให้สภาพิจารณา
น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจพื้นฐานฟื้นได้จริง ควรแจกเงินประชาชนทุกคน 6 เดือนโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนเด็กต่ำกว่า 18 ปีหรือคนชรา ก็แจกโดยลดยอดแจกเหลือครึ่งหนึ่งจากยอดของวัยทำงาน
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.การคลังโพสต์เฟซบุ๊กว่า อยากให้รัฐบาลเชิญผู้ประกอบการหารือร่วมกันลดราคาสินค้า 20-50% หรือเท่าไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะหมวดหมู่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อให้เงิน 5,000 ดังกล่าวเกิดประโยชน์อันสูงสุดต่อประชาชน เพราะในสถานการณ์ที่ทุกธุรกิจต่างก็เดือดร้อนกันไปหมด สิ่งที่จะทำให้ประเทศเราก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกันได้นั้น คือน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยอยู่แล้ว และเชื่อว่าผู้ประกอบการพร้อมหยิบยื่นน้ำใจให้ผู้ที่กำลังลำบาก
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีต รมว.แรงงาน และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเสมอภาค กล่าวว่า เห็นด้วยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศให้โควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ โดยขอเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคณะกรรมการร่วมยุทธศาสตร์แก้วิกฤตการณ์ไวรัสโควิดแห่งชาติ โดยเชิญตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน ภาคส่วนอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย และแพทย์ เป็นต้น
วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องหักเงินเดือน ส.ส.เพื่อช่วยแก้โควิด-19 ว่านับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ได้มี ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการกระทำที่ดี แต่ขอยืนยันว่าสภาไม่มีความคิดหักเงินเดือน ส.ส.แน่นอน ส่วน ส.ว.จะดำเนินการก็เป็นสิทธิ์ของ ส.ว.เอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |