สสส. เสนอจัดเวลาให้ผู้สูงวัย-คนพิการซื้อของลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด19


เพิ่มเพื่อน    

สสส.-เครือข่ายผู้สูงอายุ-คนพิการเสนอมาตรการจัดเวลาพิเศษให้ผู้สูงอายุ-คนพิการใน กทม.เกือบ 2 ล้านคน ซื้อของจำเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต ลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ย้ำหากออกจากบ้านต้องเตรียมตัวให้พร้อมซื้อแล้วรีบไปรีบกลับห่างไกลเชื้อโรค

 

 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (Covid-19) ว่า สสส.และเครือข่ายผู้สูงอายุ และคนพิการ ได้แก่ เครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้สูงอายุ Young Happy เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายรองรับสังคมสูงวัย มูลนิธิพระมหาไถ่การพัฒนาคนพิการ เครือข่าย COVID-19 Fighter เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ เครือข่ายบริษัท กล่องดินสอ จำกัด เห็นตรงกันว่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีการปิดศูนย์การค้า และเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ต บางช่วงมีผู้เข้าไปซื้อของจำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุใน กทม. ราว 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 1 แสนคน หรือร้อยละ 10.8 ที่อาศัยอยู่คนเดียวตามลำพัง หรืออยู่ลำพังกับคู่สมรส รวมถึงผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ที่อาจไม่สะดวกในการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ รวมถึงคนพิการ 88,000 คน ใน กทม.ที่มีความจำเป็นต้องซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นกัน

 

จึงอยากขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ พิจารณาจัดช่วงเวลาให้บริการพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และคนพิการก่อนเวลาทำการปกติ รวมถึงช่องทางอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากความแออัดของผู้ใช้บริการทั่วไป

 

“อย่างออสเตรเลีย เปิดให้บริการผู้สูงอายุและคนพิการเข้ามาจับจ่ายซื้อของได้ในช่วงเวลาพิเศษ ตั้งแต่เวลา 07.00-08.00 น. หรือในสหรัฐอเมริกาห้าง Costco เปิดให้บริการผู้สูงอายุเข้าไปซื้อของได้ตั้งแต่เวลา 08.00-10.00 น. ทุกวันอังคารกับวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะเปิดบริการให้คนทั่วไปตั้งแต่ 10.00 น. อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุ และคนพิการควรพิจารณาถึงความจำเป็น รีบซื้อรีบกลับบ้านและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วย” ภรณีกล่าว

 

 

ธิดา ศรีไพพรรณ์ เลขาธิการสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการเปิดช่วงเวลาพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ โดยหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในการออกมาซื้อสิ่งของ อาจจะเป็นก่อนห้างเปิดปกติ เช่น ห้างเปิดเวลา 10.00 น. ก็ควรเปิดให้ผู้สูงอายุมาซื้อของในเวลา 09.00 น. เพราะคนจะน้อยกว่าเวลาปกติ และต้องช่วยเหลือ ดูแล ผู้สูงอายุให้มีความรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ต้องย้ำกำหนดเวลาให้ผู้สูงอายุทราบให้ชัดเจน เพื่อให้ซื้อสินค้าเสร็จก่อนห้างเปิดตามเวลาปกติ เพื่อลดเวลาผู้สูงอายุในการอยู่รวมกับคนทั่วไป สิ่งสำคัญคือ ผู้สูงอายุต้องเข้าใจในเรื่องของการป้องกันตนเอง เพราะส่วนมากจะมีโรคประจำตัว ทำให้ติดกันง่ายและหายยาก

 

              

กาญจนา พันธุเตชะ เจ้าของเพจ ป้าแบ็กแพ็ก หรือป้าแป๋ว อดีตข้าราชการ วัย 67 ปี กล่าวว่า แม้ว่าปกติตนเองจะสามารถไปใช้บริการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตในช่วงเวลาปกติได้ แต่หากซูเปอร์มาร์เก็ตพิจารณาเพิ่มช่วงเวลาพิเศษเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการที่มีความจำเป็นต้องไปเลือกซื้อของเอง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการต้องไปเจอคนจำนวนมาก  รวมถึงหากมีบริการส่งของให้สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการได้ด้วยก็จะช่วยเหลือผู้สูงอายุและคนพิการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผู้สูงอายุและคนพิการที่ต้องมีการป้องกันสุขภาพตัวเองโดยสวมหน้ากาก และใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ หรือล้างมือบ่อยๆ ตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย

               

สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะรับผิดชอบคนที่ได้รับความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน คนสูงอายุ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ มุสลิม คนไร้สถานะ ผู้หญิง ผู้ต้องขัง คนพิการ ประชากรกลุ่มเฉพาะก็คือกลุ่มคนที่ต้องประสบกับภาวะความไร้ตัวตนในสังคม ถูกมองข้าม ละเลย เข้าไม่ถึงทรัพยากร ถูกผลักภาระให้รับผิดชอบชีวิตและชะตากรรมไปตามที่ต้องประสบ มีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ขาดอำนาจในการต่อรอง ทำให้จิตสำนึกที่จำยอม หรือต้องยอมจำนนให้กับความไม่เที่ยงธรรม หรือตามคำนิยามของสำนัก 9  “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” คือประชากรบางกลุ่มที่มีทั้งความเปราะบาง มีความเสี่ยง หรือต้องการกระบวนการพิเศษในการเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะอันเป็นปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพที่ทำให้สูญเสียงสุขภาวะ เข้าไม่ถึงบริการ และไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวม

               

ประชาชนกลุ่มเฉพาะหรือกลุ่มคนชายขอบคือบุคคลหรือกลุ่มคนส่วนน้อยซึ่งสังคมไม่รับรู้ ไม่สนใจ เป็นผู้ที่ถูกทำให้มีความสำคัญ และมีชีวิตอยู่ตามชายแดน หรือริมขอบของพื้นที่ในสังคม ทั้งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ศาสนา การศึกษา ภาษา วิถีชีวิตทางเพศ การจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งการเท่าทันกระแสความทันสมัยในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นธรรมแล้ว คนชายขอบยิ่งอยู่ห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าความเป็นธรรม ไม่ถูกนับรวมไว้เป็นพวกเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ของสังคม

               

สถานการณ์ประชากรโลกปี 2558 จำนวน 7,349 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 901 ล้านคน หรือร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด อายุ 60 ปีขึ้นไป 901 ล้านคน หรือ 12% อายุ 15-19 ปี 4,533 ล้านคน (62%) อายุ 0-14 ปี 1,916 ล้านคน หรือ 26% ทั้งนี้ประชากรผู้สูงวัยในอาเซียนในปี 2558 อาเซียนมีประชากรทั้งหมด 633 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้สุงอายุ 59 ล้านคน (ร้อยละ 9) จำนวน 3 ประเทศที่เข้าเกณฑ์สังคมผู้สูงวัยคือ 1.ประเทศสิงคโปร์ 18% 2.ประเทศไทย 16% 3.ประเทศเวียดนาม 10% ส่วนประเทศที่มีแนวโน้มสังคมผู้สูงวัย มาเลเซีย, เมียนมา 9% บรูไน อินโดนีเซีย 8% ฟิลิปปินส์ ติมอร์เลสเต กัมพูชา 7% ลาว 6%

               

ประชากรสูงวัยในประเทศไทยปี 2548 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยถึงร้อยละ 10 ปี 2558 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 65.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 11 ล้านคน หรือร้อยละ 16 ปี 2564ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ 20%  ปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด 28%


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"