“บุญรักษ์”วางมาตรการตรวจสอบ 2กองทุน "กองทุนอาหารกลางวัน -กองทุนนักเรียนพิการ "ที่สังกัดสพฐ. นำระบบสุ่มตรวจบัญชีปลายทางผู้รับเงินมาใช้ แต่งตั้งคณะกรรมการนอกร่วมตรวจสอบ ตั้งไลน์กลุ่มครู 3แสนคน เหตุนโยบายด้านการศึกษาจากส่วนกลางมีความล่าช้า ลั่น หากไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานได้ การปฏิรูปการศึกษาก็คงไม่สำเร็จ
ตามที่รัฐบาลได้สั่งการให้ทุกกระทรวงปราบทุจริต และในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเกิดการทุจริตมากมายหลายโครงการ และล่าสุดการโกงเงินเด็กที่ต้องได้รับทุนจาก กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตที่ถือว่าเป็นกรณีที่อื้อฉาวมาก ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) จึงมีหนังสือสั่งการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุจริต โดยกำชับให้หน่วยงานองค์กรหลัก ศธ.ทุกหน่วยงานดำเนินการเรื่องระบบตรวจสอบบัญชีของหน่วยงานตัวเองให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า จากกรณีทุจริตกองทุนเสมาฯ จะเห็นได้ว่ากองทุนนี้ก่อตั้งมากว่า 10 ปี แต่ระบบตรวจสอบกลับมีความบกพร่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบตรวจสอบบัญชีของทุกหน่วยงานจะต้องสามารถตรวจสอบได้ว่า ระบบการโอนเงินของหน่วยงานเป็นแบบไหน บุคคลที่รับผิดชอบกับระบบการเงินต้องตอบได้ว่าโอนเงินไปแล้วผู้รับเงินเป็นใคร ซึ่งจะต้องมีระบบปฎิบัติการดำเนินการให้ชัดเจน และในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีกองทุนใหญ่ที่อยู่กับ สพฐ.ถึง 2 กองทุน คือ กองทุนอาหารกลางวัน กองทุนนักเรียนพิการ ซึ่งทั้ง 2 กองทุน จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบด้วย ดังนั้นในกลุ่มตรวจสอบภายในของ สพฐ.จะวางมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการนำระบบของภาคเอกชนเข้ามาใช้ เช่น ต้องมีการสุ่มตรวจบัญชีปลายทางผู้รับเงิน เป็นต้น เพื่อให้การตรวจสอบระบบการจัดทำบัญชีมีความรัดกุมมากขึ้น
นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้จัดทำระบบออฟฟิศเชี่ยลไลน์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม โดยจดทะเบียนสมาชิกระบบดังกล่าวกำหนดไว้ 300,000 คน ซึ่งขณะนี้มีครูสมัครเข้าร่วมระบบนี้แล้ว ประมาณ 70,000 คน เพราะที่ผ่านมา สพฐ.จะมีโรงเรียนกว่า 30,000 โรง มีครูในสังกัดอีก 400,000 คน แต่พบว่านโยบายด้านการศึกษาต่างๆ ที่สั่งการผ่านกระบวนการจากส่วนกลางลงไปที่เขตพื้นที่กลับไม่ดีเท่าที่ควร มีความล่าช้า
" ผมมองว่าหากเราไม่สามารถสื่อสารให้ผู้ปฎิบัติงานก็คือ ครูและโรงเรียนได้ การปฏิรูปการศึกษาก็คงไม่สำเร็จ ดังนั้นตั้งระบบออฟฟิศเชี่ยลไลน์ขึ้นจึงทำให้ตอบสอนงานนโยบายจากส่วนกลางได้อย่างเต็มที่และพบว่าครูได้รับข่าวสารต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งระบบนี้จะเป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ด้วย"เลขาสพฐ.กล่าว