08 เม.ย.2563 - นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กในรูปแบบจดหมายถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง ฉบับที่ 3 มีเนื้อหาว่า ตามที่กระผมได้เรียนให้ท่านทราบเกี่ยวกับกรณีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกพระราชกำหนดเพื่อให้ ธปท. ทำการซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ออกพระราชกำหนดดังกล่าวแล้ว กระผมขอเรียนความคืบหน้า ดังนี้
ข้อมูลที่กระผมใช้วิเคราะห์นั้น พระราชกำหนดดังกล่าวเปิดให้ ธปท. ซื้อตราสารหนี้ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยจัดตั้งกองทุน BSF มีอายุไม่เกิน 5 ปี และรัฐบาลจะชดเชยถ้า ธปท. เกิดความเสียหายไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท กองทุนฯ จะบริหารโดยคณะกรรมการสองชั้น ชั้นบนพิจารณานโยบาย ส่วนชั้นปฏิบัติการที่ตัดสินใจเลือกรายตราสารนั้น มีรองผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน และมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังพร้อมภาคเอกชน
กระผมขอกราบเรียนให้ท่านทราบความเห็นของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ และอดีตประธาน ธปท. ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ ธปท. จะเข้าไปจัดสรรเครดิตรับความเสี่ยงจากบริษัทเอกชนโดยตรง(ซึ่งจะเป็นครั้งแรก) โดยเห็นว่ามาตรฐานการบริหารของเอกชนไทยยังไม่สูงเท่าประเทศตะวันตกที่มีการดำเนินการทำนองนี้ ประกอบกับในระบบไทยปัจจุบัน ธปท. สามารถดูแลตลาดตราสารหนี้ได้อยู่แล้วผ่านแบงค์พาณิชย์ บริษัทประกันภัย หรือธนาคารรัฐ ให้เป็นผู้ซื้อ แล้ว ธปท. ก็ค่อยรับเป็นหลักประกันเพื่อให้สภาพคล่อง โดยให้เงินในสัดส่วนที่สูง เช่น ให้ถึงร้อยละ 90 ของราคาที่รับซื้อไว้ เป็นต้น
กระผมขอเรียนว่าในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น วิธีที่ธนาคารกลางจะดูดเงินหรือปล่อยเงินเข้าระบบทางหนึ่งคือการขายหรือซื้อตราสารหนี้ ซึ่งโดยปกติจะซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจในตลาดรองเท่านั้น (ที่เรียกว่า Open market operation) ไม่มีการซื้อในตลาดแรก
ในช่วงมหาวิกฤต 1930s สหรัฐเป็นประเทศแรกที่เสริมการอัดเงินเข้าระบบ โดยวิธีกำหนดเป็นปริมาณ ซึ่งหลายประเทศได้นำกลับมาใช้ในช่วงสิบกว่าปีนี้ และเรียกวิธีนี้ว่า Quantitative Easing (QE) โดยบางประเทศได้ขยายไปซื้อขายตราสารหนี้เอกชนชั้นดีอีกด้วย แต่ก็ซื้อในตลาดรองตามราคาตลาดเท่านั้น
ดังนั้น โครงการที่ ธปท. จะซื้อตราสารหนี้เอกชนครบกำหนดออกใหม่ ซึ่งเป็นการซื้อในตลาดแรก มิใช่ซื้อตามราคาตลาด จึงมิใช่การดำเนินนโยบายการเงิน มิใช่ QE
แต่เป็นการดัดแปลงบทบาทของ ธปท. จากการทำหน้าที่ธนาคารกลาง ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ แบบMacro policy ไปทำหน้าที่จัดสรรเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ในสังคม แบบ Micro operation
บทบาทที่สองข้างต้น สังคมพึงจะต้องระวัง และกันไว้มิให้เป็นบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง แต่ให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินเท่านั้น และที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือ เมื่อมีการออกพระราชกำหนดที่บิดเบือนบทบาทหน้าที่ ธปท. ได้ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายมาก ก็ย่อมเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และต่อไปจะขยายไปกว้างขวางเละเทะได้อีกขนาดไหน ก็เกินที่จะประมาณได้
เหตุผลที่กระผมคัดค้านอีกประการหนึ่ง ก็คือ ธปท. มีหน้าที่เป็น banker ให้แก่รัฐบาล ให้แก่หน่วยงานด้านรัฐ และให้แก่สถาบันการเงินเท่านั้น แต่ ธปท. ไม่มีหน้าที่เป็น banker ให้แก่บริษัทเอกชน ไม่ควรทำหน้าที่จัดสรรเครดิต ไม่ควรเป็นผู้ตัดสินใจว่าบริษัทไหนควรได้ บริษัทไหนไม่ควรได้ เพราะ ธปท. จะต้องเป็นเกาะกลางมหาสมุทรที่เป็นหลักของประเทศที่ไม่มีความเสี่ยง แม้ท่ามกลางพายุ
และถึงแม้ในการจัดสรรเครดิต จะเอาข้อมูลจากสถาบันจัดอันดับเครดิตมาช่วยประกอบได้ก็ตาม แต่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เตือนไว้ถูกต้องว่า ในสภาวะมหาวิกฤตระดับโลกเช่นปัจจุบันนี้ อันดับเครดิตสามารถลดต่ำลงได้อย่างรวดเร็ว วันนี้อาจจะจัดเป็น Investment grade แต่อีกสามเดือน ก็อาจจะหลุดไปเป็น Junk bond ก็ได้
นอกจากนี้ สถาบันการเงินที่หากำไรจากการจัดสรรเครดิตเป็นระดับอาชีพนั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้นควบคุมผู้บริหาร ซึ่งจะถูกบังคับโดยกฎหมายหลายฉบับ และได้รับผลตอบแทนขึ้นกับความสำเร็จ แต่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่มีรองผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน มีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และผู้แทนจากภาคเอกชน นั้น นอกจากจะไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังมีความเสี่ยงการแทรกแซงชี้นำจากนักการเมือง และการหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบอีกด้วย
เพราะในระยะหลังนี้ ธนาคารกลางของบางประเทศได้เกิดแพ้ภัยตัวเอง จากเดิมที่รักษาความเป็นอิสระของตนเองอย่างเด็ดขาด ได้เปลี่ยนเป็นยอมให้การเมืองเข้าไปแทรกแซง
กรณี ธปท. ถ้าหากเกิดข้อครหา ชื่อเสียงที่สะสมมาช้านาน ก็อาจจะสั่นคลอน และถ้าสากลขาดความเชื่อมั่นใน ธปท. เศรษฐกิจโดยรวมก็มีแต่จะยากลำบาก
อนึ่ง กระผมมีความเห็นว่าพระราชกำหนดฉบับนี้อยู่เกินขอบเขตหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ธปท. และได้แจ้งให้เลขาธิการกฤษฎีการับทราบแล้ว แต่รัฐบาลนี้มีความชำนาญพิเศษด้านตีความ จึงอาจจะผ่านก็ได้
กรณีเช่นนี้ มีข้อมูลจากนายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรัฐมนตรีคลัง ซึ่งกล่าวถึงมาตรการที่ ธปท. สามารถจะลดความเสี่ยงได้หลายอย่าง เช่น 1. บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด 2. ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์หรือการเพิ่มทุน 3. ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด 4. หากผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายตราสารหนี้ต่อนักลงทุนทั่วไปและมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือ ตราสารหนี้ที่กองทุน BFS จะลงทุนในคราวเดียวกันต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น
ผมขอเรียนท่านว่า มาตรการลดความเสี่ยงถือเป็นทางเลี่ยงไม่ให้ลงเหว แต่ดีที่สุด คืออย่าไม่เสนอรัฐบาลเพื่อขอ ไปเดินตามถนนที่อยู่ติดไหล่เขาตั้งแต่ต้น
คนเราควรยึดหลักการที่ถูกต้อง ไม่เข้าไปในคาสิโนตั้งแต่ต้น มิใช่ไปนั่งโต๊ะเล่นไพ่ โดยพยายามใช้มาตรการลดความเสี่ยง หรือการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด ฯลฯ
ในวิกฤตเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ ธปท. หลายระดับคงอยากจะได้แนวทางชี้นำจากท่าน ในฐานะผู้ที่เคยต่อสู้กับแรงกดดันจากผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารได้สำเร็จ
กระผมเองเป็นผู้ด้อยความสามารถ แต่เห็นปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้ 1. สหรัฐแก้ปัญหาด้วยนโยบายการคลังได้ระดับหนึ่งเพราะต้องอาศัยการสนับสนุนของทั้งสองพรรค จึงเน้นนโยบายการเงินด้วยการปั๊มเงินเข้าระบบแบบไม่อั้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นปีเลือกตั้ง แต่หลังการเลือกตั้ง ในปีหน้าก็จำเป็นต้องเริ่มคิดแผนถอยกลับ ดังนั้น การฟื้นตัวกำลังซื้อในระยะปานกลางจึงยังไม่แน่นอน
2. ในยุโรป ประเทศแข็งแรงเช่นเยอรมันจะยังไม่ยอมช่วยด้านการคลังแก่ประเทศอ่อนแอเช่นอิตาลีอยู่เช่นเดิม ดอกเบี้ยระยะยาวหลายประเทศจะติดลบไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงจะย่ำอยู่กับที่เป็นเวลาถึงสองปี 3. ส่วนญี่ปุ่นก็ยังไม่อาจหวังให้เป็นหัวรถจักรฟื้นโลก และในอนาคตจะมีปัญหาในการวางตัวอีกอย่างหนึ่ง เพราะตกอยู่ระหว่างเขาควายในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน 4. ถึงแม้จีนจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในเมื่อกำลังซื้อจากตะวันตกและญี่ปุ่นยังไม่เต็มที่ การผลิตสินค้าย่อมไม่อาจเกินคำสั่งซื้อ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่ขายวัตถุดิบให้จีนนั้น ก็ต้องรอจีนฟื้นเต็มที่เสียก่อน
5. ดังนั้น ในไทย คอนโดเพื่อขายคนจีนและบ้านตากอากาศเพื่อขายคนยุโรป จะไม่กลับไปเหมือนเดิม ประกอบกับนิสัย work from home และ e-commerce จะลดความต้องการพื้นที่ออฟฟิศและค้าปลีก รวมทั้งครอบครัวที่เดิมวางแผนการซื้อสินค้ารายการใหญ่ เช่น ซื้อบ้านและรถยนต์ อาจจะถูกชะลอ ส่วนโอกาสที่คนจีนจะกลับมาท่องเที่ยวก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของรัฐบาลไทย
กล่าวเป็นภาษาชาวบ้าน สำหรับบางธุรกิจ ผู้ออกตราสารหนี้จะไม่กลับไปเหมือนเดิม กระผมจึงเห็นว่า ธปท. ควรจะปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตราสารหนี้ปรับตัวกันเองตามสภาพตลาดเป็นหลัก โดย ธปท. ควรเน้นแค่ ring fence ระบบสถาบันการเงินให้มั่นคงไว้ก็พอ แต่ควรเน้นสรรพกำลังด้านการเงิน ไปช่วยเหลือรากหญ้าให้ฝ่าฟันวิกฤต และอาจต้องช่วยเขาเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่อีกด้วย ทำเช่นนี้น่าจะดีกว่า
ส่วนในตลาดตราสารหนี้ ทั้งผู้ออก และทั้งผู้ลงทุน ไม่ว่าคนไทย หรือคนต่างชาติ ล้วนมีขนาดใหญ่พอที่จะช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว ดังนั้น ภายในความรู้ที่จำกัด กระผมขอเสนอให้ผู้บริหารกองทุน BSF ระมัดระวังไว้ก่อน เพราะถึงแม้กระทรวงคลังจะชดเชยขาดทุนให้จำนวนหนึ่ง แต่ท่านต้องไม่ลืมกรณี ปรส. ที่ถูกสอบสวนและตัดสินว่ากระทำผิดในภายหลัง จึงขอให้ท่านโปรดให้กำลังใจและชี้นำผู้ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |