ศบค.น้อมนำพระราชดำรัสไปปรับใช้สู้โควิด-19 เผยแนวโน้มดีตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ลดเหลือ 38 ราย ทำให้หัวใจพองโตแต่ไม่ประมาท การ์ดตกเมื่อไหร่โดนน็อกได้ ขณะที่พวกแหกเคอร์ฟิวเพิ่ม 1,217 ราย ขู่ถ้าตัวเลขฝ่าฝืนยังสูงจ่อยกระดับมาตรการเข้ม นายกฯ สั่งการเดินทางเข้าประเทศเป็นรุ่นๆ ง่ายต่อการกักกัน สธ.ปรับเกณฑ์ตรวจเชื้อโควิดฟรีทุกรายครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง แจงตรวจเชื้อแล้ว 71,860 ราย จ่อขยายห้องแล็บ 110 แห่งทุกจังหวัด
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า เมื่อวันที่ 6 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์และพระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเราจะทำหน้าที่ตามที่มีกระแสพระราชดำรัสมา เพื่อให้โรคที่เราเผชิญอยู่ลดน้อยถอยลงไป
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 38 ราย ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 3 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,258 ราย ในจังหวัด 66 จังหวัด หายป่วยเพิ่มเติม 31 ราย หายป่วยสะสม 824 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,408 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 27 ราย ในส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 27 เป็นชายไทย อายุ 54 ไม่มีโรคประจำตัว ก่อนหน้านี้ไปงานเลี้ยงสังสรรค์หลายแห่งโดยเฉพาะสถานบันเทิงย่านทองหล่อ มีอาการป่วยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. และวันที่ 14 มี.ค.เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน มีอาการหนักมากขึ้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อเอกซเรย์พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 6 เม.ย.ด้วยระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งเมื่อดูจากอายุผู้เสียชีวิตตอนนี้ทุกคนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้น
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 38 ราย ทำให้หัวใจพองโตและดีขึ้นมากๆ โดยตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ป่วยรายใหม่เริ่มทรงตัว และหลังจากประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 5 วัน แม้บางส่วนจะอยู่ในช่วงฟักตัว ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือ ก็ถือเป็นการทำงานของทุกคนที่ทำให้การแพร่ระบาดลดลง เราพึงพอใจ ประเมินว่าเหตุที่ตัวเลขลดลงมาจากปัจจัย 3 ประการ คือ 1.การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิว 2.การควบคุมกันเองในประเทศ การเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย และ 3.การควบคุมบุคคลกลุ่มเสี่ยงให้อยู่ในสถานที่รับรองให้ชัดเจน
"แม้ตัวเลขจะลดลง ไม่ใช่ดีใจแล้วเลิก ดูอย่างกรณีในบางประเทศ มีคุณป้าคนหนึ่งออกไปงานบางงาน แต่กลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ ดังนั้นเพียงคนเดียวก็สามารถแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการ์ดห้ามตก ตกเมื่อไหร่ก็โดนต่อย โดนกระทุ้ง น็อกได้เลยทีเดียว จึงต้องตรึงแบบนี้ตลอดไป เพราะทั่วโลกยังเป็นแหล่งรังโรค อาจเป็นพาหะมาสู่เรา เราไม่ใช่ให้รังเกียจ แต่ให้ระมัดระวัง ต้องยืนระยะยาวๆ ถ้าตัวเลข 38 ถือว่าดี ลดลงไปกว่านี้จะยิ่งดี ยืนระยะไปเรื่อยๆ เราก็จะชนะ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ใช้มาตรการเข้มพวกแหกเคอร์ฟิว
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ตัวเลขที่ออกมาเราก็ยังทราบว่ามีกลุ่มบุคคลที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีกเป็นร้อยรายที่ยังไม่ได้ส่งมา แต่ถือว่าตัวเลขที่มีอยู่นั้นดี และวันนี้ต้องชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะตัวเลขที่ลดลงถือเป็นความสามารถของทุกคนที่ช่วยกัน จากเลข 3 หลักมาเหลือ 2 หลัก ถ้าจะให้ดีตัวเลขต้องลดลงเรื่อยๆ ส่วน กทม.แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ยังสูงอยู่ ในต่างจังหวัดก็ลดลง จากแนวโน้มตัวเลขที่ลดลงแสดงว่าเราได้รับความร่วมมือ ถ้าผู้ติดเชื้อน้อยลงแบบนี้ เชื่อว่าผู้บริหารคงไม่ใช้มาตรการที่เข้มกว่านี้ ถ้าเราอยากให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเรายังมีเสรีภาพอยู่ ช่วยกันกดตัวเลข เราจะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม
"ผลการปฏิบัติงานในช่วงการประกาศเคอร์ฟิว เมื่อคืนวันที่ 6 เม.ย.ถึงเช้า 7 เม.ย. คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี แต่จะเห็นว่ามีคนออกจากเคหสถานเพิ่มขึ้น 1,217 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อนที่มี 919 ราย ซึ่งมีการดำเนินคดี 1,047ราย ตักเตือน 246 ราย รวม 1,293 ราย ตัวเลขดูไม่ดีเลย ท่านช่วยเราหน่อยได้หรือไม่ เพราะตลอด 4 วันที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด ท่านไม่ให้ความร่วมมือ รวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม ซึ่งไม่ลดลงเลย ขอร้องประชาชนว่ามาตรการจะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเลขตรงนี้เหมือนกัน ถ้าตัวเลขรายงานขึ้นมาและเห็นความไม่เรียบร้อยคงต้องมีมาตรการขึ้นมา เพราะการออกนอกบ้านถือเป็นความเสี่ยงทั้งนั้น"
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนการดูแลคนไทยที่อยู่ระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากมีการขยายเวลาห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 18 เม.ย. จนมีผู้ได้รับผลกระทบหลายคน โดย ศบค.ได้ประชุมอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาคนติดค้าง โดยรัฐบาลจะดูแลอย่างดี ตอนนี้ กต.ทำงานหนักมากๆ และจะทำกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่มีคนไทยบางส่วนติดค้างอยู่ที่อินโดนีเซียไม่สามารถเดินทางมากับกลุ่มเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ได้นั้น เป็นเพราะไม่สบายสงสัยว่าจะติดเชื้อ แต่ยังไมได้บอกว่าเป็นโควิด-19 คนกลุ่มนี้จะต้องรักษาที่อินโดนีเซียให้หายก่อน ถือเป็นมาตรการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนอื่นๆ บนเครื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งคำถามตัวเลขที่ลดลง เป็นเพราะเราตรวจได้น้อยหรือมีประสิทธิภาพการตรวจลดลงหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อเช้าวันที่ 7 เม.ย. มีการประชุมโดยผู้ใหญ่หลายคนที่เป็นนักวิชาการและผู้บริหาร สธ.ก็ตั้งคำถามเช่นนี้ โดยมีการวิเคราะห์ตัวเลข เราไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ขณะนี้มีตัวเลขสะสมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 71,860 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจ จะต้องหาหนทางเพิ่มการตรวจให้ได้มากกว่านี้ โดยขณะนี้ กทม. ปริมณฑล และทั่วประเทศ รวมแล้วตรวจได้วันละ 2 หมื่นราย ซึ่งทำเต็มที่แล้ว เราจะพยายามเพิ่มให้ได้มากขึ้นเหมือนกับบางประเทศที่ตรวจได้แสนรายต่อวัน เราจะทำให้ได้ เราไม่กลัวที่ยิ่งตรวจเยอะจะเจอเยอะ เพราะเรามีการเตรียมเตียงไว้หลายระดับทั้งเบาและไอซียู
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมว่า รัฐบาลยืนยันเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการจะรักษาสุขภาพให้ประชาชนคนไทย จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากท่าน สิ่งใดก็ตามที่ภาครัฐยังมีปัญหาอยู่ก็ต้องขอให้เข้าใจ และเห็นใจรัฐบาลสักนิด เพราะเราต้องทำงานด้วยคนจำนวนมาก อีกทั้งในส่วนของประชาชนก็มีจำนวนมากเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางกลับเข้าประเทศ การเข้าสู่ระบบการกักกัน (quarantine) ทั้งในส่วนของรัฐและส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น วันนี้เรามีหลายมาตรการออกมา ตรงนี้จึงจะต้องอยู่ที่การบูรณาการงานร่วมกันและทำหน้างานให้ดีทุกๆ สถานที่ โดยเฉพาะสนามบินจะมีศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center) หรืออีโอซี ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งแพทย์และพยาบาลประจำอยู่ที่ศูนย์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง การขนส่ง คมนาคม
"ดังนั้นการตัดสินใจต่างๆ จะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานตามนโยบายที่ได้ประกาศออกไปแล้ว จะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น สำหรับการเดินทางเข้าประเทศตนได้สั่งการไปแล้วให้มีการทยอยเดินทางเข้าเป็นรุ่นๆ เป็นผลัด หรือเป็นเที่ยวบิน เพื่อง่ายต่อการส่งต่อไปยังพื้นที่การกักกัน จึงต้องขอให้ทุกคนเข้าใจ" นายกฯ กล่าว
ปรับเกณฑ์ตรวจเชื้อผู้ป่วย
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.ได้ขยายเกณฑ์ผู้ป่วยต้องสอบสวนโรคและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และอีกส่วนคือคนอาจจะไม่มีอาการแต่มีความเสี่ยงสูง โดยในส่วนของการเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กลุ่มที่ 1 ให้เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากทุกประเทศ หากป่วยมีไข้ 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับมีประวัติเสี่ยงเดินทางไปมาจากทุกประเทศทั่วโลก ต้องได้รับการสอบสวนและตรวจทางห้องปฏิบัติการ กลุ่ม 2 กรณีผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาล หากคนมีอาการไข้ อาการโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ สัมพันธ์กับประกอบอาชีพเสี่ยงสัมผัสคนต่างชาติจากทุกประเทศที่เข้าไทยในระยะ 14 วัน หากคนไทยที่มีอาชีพสัมผัสแล้วมีอาการต้องได้รับการสอบสวน และรับการตรวจแล็บ กลุ่ม 3 คือกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ รักษาไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีอาการรุนแรงเสียชีวิต ถ่ายภาพรังสีแล้วเข้าได้กับโรคโควิด-19 จะได้รับการสอบสวนและตรวจแล็บอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขวันนี้พบติดเชื้อเพิ่มอีก 3 ราย และเมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีบุคลากรการแพทย์ที่ รพ.วชิระภูเก็ต รักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุที่ตรวจพบโรคโควิด-19 ในภายหลัง ต้องกักตัว 112 ราย ในจำนวนนี้กว่า 90 รายผลตรวจออกมาเป็นลบ แต่ต้องกักแยกไม่น้อยกว่า 14 วัน ดังนั้นจึงมีเกณฑ์ใหม่ และกลุ่ม 4 อีกไม่นานเราจะเข้าหน้าฝน สิ่งที่พบคือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ดังนั้นหากพบผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน และมีผลตรวจไม่ว่าจะ rapid test หรือเรียลไทม์ พีซีอาร์ ที่ให้ผลเป็นลบจะต้องแยก หากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ป่วยมากกว่า 3 คน ต้องแยกออกมาตรวจแล็บหาโควิด-19 ส่วนประชาชนทั่วไปป่วย 5 รายขึ้นไปต้องแยกออกมาตรวจแล็บ พร้อมสอบสวนโรคต่อไป
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ในส่วนของคนที่สัมผัส ไม่มีอาการนั้น จะจำแนกทันทีเมื่อพบผู้ป่วยยืนยันและทำการตรวจ หากพบว่ามีไข้จะต้องเข้าเกณฑ์จัดการทันที หากไม่มีไข้ต้องเฝ้าระวังที่บ้านไม่น้อยกว่า 14 วัน อาทิ สมาชิกในครอบครัว คนเดินทางร่วมยานพาหนะ ครอบคลุมถึงคนขับและเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หรือด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ยืนยันว่ากระบวนการเหล่านี้ดำเนินการฟรีทุกราย
"สำหรับที่มีผู้ทำนายว่าภายในวันที่ 15 เม.ย. ไทยจะมีผู้ป่วยถึง 7,500 คนนั้น หากดูตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่กว่า 2 พันราย ตัวเลขผู้ป่วยใหม่แกว่งๆ แต่อยู่หลักกว่า 100 ราย วันนี้ลงต่ำ 38 ราย ที่เกิดจากการที่ประชาชนให้ความร่วมมือ นั่นแปลว่าเรายังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นไม่ให้เชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ และยังต้องการความร่วมมือจากประชาชนต่อเนื่องในการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ แยกของใช้ และการเว้นระยะห่างทางสังคม หากมีอาการเข้าเกณฑ์ให้รีบแจ้ง อย่าโกหก เพื่อจะได้รีบนำเข้าระบบ ก็จะทำให้ถึงวันที่ 15 เม.ย.ไม่เป็นไปตามที่ผู้รู้คาดการณ์ เรื่องนี้ต้องช่วยกันทุกคนในสังคม" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการขยายการคัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตลอด โดยมีการตรวจแล้วทั้งหมด 71,860 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้มีการขยายเกณฑ์การตรวจคัดกรองเพิ่ม ดังนั้นในส่วนของห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ด้วยวิธีเรียลไทม์ พีซีอาร์ (RT PCR) ก็มีการขยายเครือขายเพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีกว่า 40 แห่ง สามารถตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่าง ส่วนต่างจังหวัดก็มีประมาณกว่า 40 แห่ง สามารถตรวจได้วันละ 10,000 ตัวอย่างเช่นเดียวกัน เบื้องต้น รพ.ศูนย์ในจังหวัดใหญ่มีครบแล้ว ส่วนจังหวัดเล็กบางจังหวัดไม่มีก็จะส่งตรวจที่จังหวัดใกล้เคียง ยกเว้นจังหวัดเล็กที่มีปัญหาการคมนาคมไม่สะดวกจะต้องไปสนับสนุน เช่น แม่ฮ่องสอน และ 3 จังหวัดภาคใต้
"ขณะนี้มีโครงการขยายแล็บไปทุกจังหวัด เป้าหมายคือ 110 แห่ง คาดว่าภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ก็จะครบ ส่วนน้ำยาตรวจนั้นกรมวิทยาศาสตร์ฯ ผลิตได้เอง ที่ผ่านมาก็ใช้ตัวที่ผลิตเอง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับบริษัทสยามไบโอไซม์ผลิตเอง ไม่ได้มีการนำเข้าแต่อย่างใด โดยในสิ้นเดือนเม.ย.นี้จะมีเพิ่ม 100,000 ชุด และถ้าการระบาดยังมีมากก็จะผลิต 1,000,000 ชุดใน 6 เดือน ส่วนเอกชนจะเป็นการนำเข้า ขณะเดียวกันก็ปรับระบบการรายงานผลผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค (PUI) เป็นแบบออนไลน์ภายใน 24 ชั่วโมงด้วย และเชื่อว่าถ้าเป็นช่วงกำหนดดีๆ จะใช้เวลา 12 ชั่วโมง" นพ.โอภาสกล่าว
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) โดยขอให้กองทัพภาคที่ 1 ส่งรายชื่อกำลังพล เหล่าแพทย์ ที่มีอายุไม่เกิน 50 ปี เพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหากได้รับการร้องขอในการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเฉพาะการจัดกำลังปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงในทุกภารกิจ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเต็มที่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |