กู้1ล้านล้าน ครม.ออก‘พรก.3ฉบับ’รับมือวิกฤติโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    


    ครม.ลุงตู่เคาะแล้วมาตรการเยียวยาโควิด-19 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทล้อไวรัส ออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ ฉบับแรกกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแจกประชาชนคนละ 5 พันยาวครึ่งปี ส่วนอีก 4 แสนล้านเล็งใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนอีก 2 พ.ร.ก.แบงก์ชาติจัดดูแลเอกชน-เอสเอ็มอี โดยไร้มาตรการดูแลมนุษย์เงินเดือน "คลัง" เผย 8 เม.ย. 2 แสนรายเตรียมเป๋าตุงประเดิมรับ 5 พันบาท ชี้มีแค่ 8 ล้านได้สิทธิ์จากลงทะเบียน 24.5 ล้านคน ใจป้ำ! ใช้ไฟฟรี 90 หน่วย 3 เดือน
    เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเต็มคณะครั้งแรก หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยนั่งเว้นระยะห่าง และจำกัดผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ติดตามเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด
    ทั้งนี้ วาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ การพิจารณารายละเอียดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท รวมทั้งมีการพิจารณาออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับด้วย  
    และเมื่อเวลา 14.05 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า วันนี้รัฐบาลได้ประกาศให้โรคไวรัสโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติไปแล้วในที่ประชุม ครม. จึงอยากให้ทุกคนได้รับฟังในเรื่องของการใช้จ่ายในภาครัฐ รวมทั้งมาตรการและการดำเนินการต่างๆ ที่ออกมา โดยยินดีรับข้อสังเกตข้อเสนอแนะจากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจต่างๆ แต่ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย บางอย่างถ้าสามารถช่วยเหลือกันได้ก็ขอความกรุณา 
    "ช่วงปี 2561-2562 การประกอบกิจการต่างๆ ก็ได้รับผลกำไรมากพอสมควร ดังนั้นในปี 2562-2563 ช่วงที่เกิดปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 ก็คงต้องย้อนไปดูผลประกอบการในปีที่ผ่านมาตามวงรอบของบัญชีว่าเป็นอย่างไร ถ้าทั้งหมดสามารถพิสูจน์และชี้แจงได้ว่าปัญหาเป็นเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รัฐบาลก็ยินดีดูแลแก้ไขให้ในส่วนของงบประมาณเพื่อเยียวยา รวมทั้งในส่วนของแรงงานและผู้ประกอบการ แต่ถ้าจะเหมาทั้งหมดเท่าไหร่ก็คงรับไม่ไหว เพราะงบประมาณที่เรามีอยู่นั้นจำกัด ขอขอบคุณทุกท่านหากรับฟังรายละเอียดและสงสัยอะไร สามารถประสานงานติดต่อสอบถามขึ้นมาได้ รัฐบาลยินดีพร้อมรับฟังจากทุกความคิดเห็นของท่าน" นายกฯ กล่าว
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนในวันนี้เป็นนโยบายที่รัฐบาลโดยตนเองในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาลได้ให้นโยบายลงไป วันนี้ส่วนราชการต่างๆ ทุกกระทรวง รองนายกฯ และ ครม.ก็ได้นำเสนอความต้องการในมาตรการต่างๆ ขึ้นมา แต่จำเป็นต้องคัดกรองให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ถือเป็นสิ่งสำคัญ คิดได้ทำได้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเรื่องอันตรายในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ขอยืนยันอีกครั้งว่าจะกวดขันในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องประสงค์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
แจก 5 พันยาว 6 เดือน
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (กค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 ที่โดยกระทรวงเสนอให้มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบวงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นได้ขยายเวลาการดูแลภาคประชาชนที่ได้ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com และมีคุณสมบัติที่ตรงตามเกณฑ์กำหนด จากเดิมจ่ายเงิน 5,000  บาทเป็นเวลา 3 เดือน จะขยายเป็น 6 เดือน โดยคิดเป็นวงเงินจาก 15,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท รวมถึงการเยียวยาเกษตรกรและด้านสาธารณสุขและแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศวงเงิน 400,000  ล้านบาท ครอบคลุมการเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า  การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่ โดยจะให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทุกกระทรวงที่ต้องดำเนินงานต่างๆ เสนอโครงการเข้ามาใช้งบประมาณในส่วนนี้  ซึ่งจะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ และเสนอ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนอนุมัติการใช้เงินต่อไป
    "การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจะเป็นเงินสกุลบาทเป็นหลัก โดยทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของงบประมาณ ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะบังคับใช้ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ และภายในต้นเดือน  พ.ค.การกู้เงินจะเริ่มขึ้นได้ ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวจะไม่ทำให้เต็มเพดานหนี้สาธารณะ โดยจากที่ดูอัตราส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2564 มีอัตราส่วนเพียง 57% แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่สถานการณ์ปกติ หากจำเป็นต้องขยายเพดานก็พร้อมนำเสนอการขยายเพดานการก่อหนี้สูงกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ 60% เป็นการชั่วคราว" นายอุตตมกล่าว
    นายอุตตมย้ำว่า เงินที่จะกู้นี้ถือว่าสมเหตุสมผลถ้าเปรียบเทียบกับวิกฤติที่เกิดขึ้น เพราะกู้จริงแค่ 1  ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนล้านบาท เป็นการดำเนินการของ ธปท.ไม่ได้เป็นการกู้ เป็นแค่นำเงินที่ ธปท.มีอยู่แล้วออกมาใช้ ที่สำคัญรัฐบาลจะเน้นกู้เงินจากแหล่งเงินในประเทศก่อน ส่วนการกู้เงินจากต่างประเทศก็มีพิจารณาแพ็กเกจที่เหมาะสม เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการกู้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แน่
    รมว.การคลังกล่าวอีกว่า ในระยะที่ 3 นี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) พร้อมเสริมสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยตราร่าง พ.ร.ก. 2  ฉบับ ดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตรา 0.01% ต่อปี เพื่อให้ธนาคารและสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่เอสเอ็มอี ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และไม่เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) วันที่ 31 ธ.ค.62 โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี
    "ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก  นอกจากนี้ยังมีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิม ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเวลา 6 เดือนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท"
    และ 2.ร่าง พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. ...  สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดย ร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (บีเอสเอฟ) โดยให้ ธปท.สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกทำงานได้เป็นปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้บริษัท 
8 เม.ย.เริ่มเป๋าตุง
    นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. .... เพื่อให้ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 ส.ค.64 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน 2.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้  และ 3.การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินจากอัตรา 0.46% ต่อปี เหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีต้นทุนต่ำลง และนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน
    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ประเมินว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ไม่เกิน 8 ล้านคน จากผู้มาลงทะเบียนทั้งหมดล่าสุดที่ 24.5 ล้านคน โดยวันที่ 8-10 เม.ย. ระบบจะเริ่มส่งเอสเอ็มเอสให้ผู้ที่ได้รับเงินประมาณ 1.6 ล้านคนแรก ซึ่งเอสเอ็มเอสเข้าวันไหนก็ได้เงินวันนั้นเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้างกับค้าขาย และ 4 อาชีพหลักคือ แท็กซี่  มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลาก และมัคคุเทศก์
    "การพิจารณาข้อมูลล็อตแรกกว่า 10 ล้านคนมีผู้ได้รับเงินแน่นอน 1.6 ล้านราย กลุ่มนี้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือแน่นอน 3 เดือน และเมื่อมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ก็จะได้รับเงินต่อเนื่องไปจนครบ 6 เดือน  ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในรอบแรกคาดว่าจะมีมากกว่าครึ่ง" นายลวรณกล่าว
    ทั้งนี้ ระบบจะเริ่มส่งเอสเอ็มเอสพร้อมโอนเงิน 5,000 บาท โดยในวันที่ 8 เม.ย.ประมาณ 2 แสนคน  วันที่ 9 เม.ย.ประมาณ 7 แสนคน และวันที่ 10 เม.ย.อีกประมาณกว่า 6 แสนคน ส่วนคนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเอสเอ็มเอสในวันที่ 9 เม.ย.เป็นต้นไปว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ได้  และในช่วงวันที่ 11-12 เม.ย. ระบบก็จะส่งเอสเอ็มเอสให้ผู้ลงทะเบียนที่มีคุณสมบัติไม่ชัดเจน ให้ส่งข้อมูล และกรอกแบบสอบถามกลับเข้ามาผ่านทางออนไลน์ให้พิจารณา 
    ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชนผ่านร่าง พ.ร.ก. 2 ฉบับ ซึ่งมาตรการประกอบด้วย 4 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน 2.การสนับสนุนซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่ง ธปท.หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้มีเงินสดในมือเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน นอกจากนั้น ธปท.คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ธนาคารต้องทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้ 
ธปท.ชี้ไม่ใช่ พ.ร.ก.กู้เงิน
    3.มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี ที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564 และ 4.การปรับลดเงินนำส่งสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชนลงเหลือ 0.23% จากปกติที่ 0.46% เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในทันที
    "ธปท.ขอเรียนว่า พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับนี้ไม่ใช่ พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะแท้จริงแล้ว พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นการให้อำนาจ ธปท.บริหารจัดการสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้มีกลไกที่รัฐบาลจะช่วยรับภาระชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" นายวิรไทกล่าว
    นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3  เม.ย. ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ ธปท. ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และนอนแบงก์ได้เร่งดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ทั้งการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้าน เป็นต้น สถาบันการเงินได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว  9.9 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งทำให้เข้าถึงลูกหนี้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    "มาตรการซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทนั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย 1.7 ล้านราย คิดเป็นยอดคงค้าง 2.4 ล้านล้านบาท"
    นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติให้ความเห็นชอบขยายระยะเวลาบังคับใช้วงเงินการคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาท จากเดิมถึงวันที่ 10 ส.ค.63 เป็น 10 ส.ค.64 เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 
3 เดือนใช้ไฟฟรี!
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ คือ 1.เห็นชอบกำหนดนโยบายมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ซึ่งเป็นประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จาก 50 หน่วยต่อเดือนเป็น 90 หน่วยต่อเดือน  โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการ และ 2.ขยายเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย.-มิ.ย.63 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ กฟน.และ กฟภ.โดยไม่มีเบี้ยปรับ
     "การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นวงเงิน ประมาณ 9,375 ล้านบาท โดยค่าไฟฟ้าฟรี 3 เดือนตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนรวม 3,029 ล้านบาท มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์รวม 6.435 ล้านราย ส่วนการขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้า 3 เดือน ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนรวม 6,346 ล้านบาท และประชาชนได้ประโยชน์ 4.265 ล้านราย" 
    นางนฤมลยังกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษาวินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศกำหนด โดยแก้ไขวันใช้บังคับจากเดิมให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 ก.ย.63 เป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 ถึงวันที่ 30  ก.ย.63 เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"