เศรษฐกิจไทยอ่วมพิษโควิด19


เพิ่มเพื่อน    


    เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 ลงเหลือขยายตัวติดลบ 5.3% สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ได้กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่สำคัญอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างเกือบทั่วทั้งโลกในขณะนี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง
    ขณะที่ภาคเอกชนก็มองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก เริ่มที่ “ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research)” ที่ได้ออกมาปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงอีกครั้งจาก -0.4% เป็น -2.4% หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังมีผลกระทบอีกระลอกจากการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศไทย
    ขณะที่ “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)” ก็ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เช่นกัน โดยหดตัวลงมาอยู่ที่ -5.6% จากคาดการณ์เดิมที่ -0.3% ถือเป็นระดับต่ำสุดนับจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2541 โดยมีสาเหตุหลักจากพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการหยุดลงแบบฉับพลันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นผลจากปัญหาโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวมากที่ -12.9% ในปีนี้ อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงมาก และฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยจะลดมาอยู่ที่ 13.1 ล้านคนในปีนี้ หรือหดตัวที่ -67% จากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อการเดินทางระหว่างประเทศตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาโรคที่ได้ผล และจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้
     และการประกาศปิดเมืองในหลายส่วนของไทย ซึ่งแม้เป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาดของโรค แต่จะส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการของภาคครัวเรือนโดยรวมลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มเติมจากความกังวลของผู้บริโภคต่อธุรกรรมที่มีลักษณะ face-to-face ในช่วงโรคระบาดอยู่แล้ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่คาดว่าจะมีออกมาเพิ่มเติม จะมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย
    ด้าน “สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย” ก็ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงเช่นเดียวกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ติดลบ 6.4% จากคาดการณ์เดิม 1.7% เป็นติดลบ 6.4% ซึ่งเป็นไปตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อไทยให้เศรษฐกิจจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก
    และ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้” ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือติดลบ 6.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.8% จากปัจจัยกดดันสำคัญ ในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากคาดการณ์เดิมที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงยืดเยื้อ ซึ่งคาดว่าจะยาวนานจนถึงเดือน ก.ย. จากเดิมคาดว่าจะจบที่เดือน พ.ค. โดยประเมินว่าปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยแล้วจะส่งผลกระทบต่อจีดีพี 0.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 0.2%
    “ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” ก็ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2563 คาดขยายตัวติดลบ 5% จากเดิมคาดว่าหดตัว 1% ซึ่งนับเป็นอัตราหดตัวที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2541 การปรับลดประมาณการในครั้งนี้สะท้อนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น.

ครองขวัญ รอดหมวน​​​​​​​


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"