เมื่อหมออุดมลงมือ เย็บจักรสู้ Covid-19 เอง


เพิ่มเพื่อน    


    ผมเห็นภาพคุณหมออุดม คชินทร ลงมือถีบจักรเย็บผ้าเอง เพื่อช่วยทำถุงผ้าครอบรองเท้าช่วยหมอและพยาบาลที่กำลังสู้กับ Covid-19 แล้ว ก็ต้องยกหูไปคุยทันที
    เพราะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า นี่คือสงครามที่ทุกคนต้องลงมือทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อเอาชนะสงครามกับ "ศัตรูที่มองไม่เห็น" ให้จงได้
    ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ในวัย 66 เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งเป็นอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลด้วย
    จึงเป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และการศึกษาที่เข้าร่วมวางยุทธศาสตร์ระดับชาติหลายเรื่อง รวมถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0
    ล่าสุดเป็นสมาชิกวุฒิสภา และลาออกก่อนได้รับการทาบทามจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มาเป็นที่ปรึกษาพร้อมกับอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เพื่อระดมสรรพกำลังสู้กับไวรัสวายร้ายตัวนี้
    คุณหมออุดมสร้างความฮือฮาเพราะรูปนี้ไปปรากฏในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ทำให้มีคนโทรศัพท์ไปหามากมาย
    "บางท่านโทร.มาบอกว่าทนไม่ได้ที่เห็นคุณหมออุดมต้องลงมือทำงานถึงขนาดนี้ จึงมีการเสนอมาช่วยกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเลยครับ..." คุณหมออุดมบอกผม
    คุณหมอบอกว่าไม่ได้คิดว่าจะมี "มิติ" อย่างนี้ เพราะไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหญ่
    "ผมถือว่าที่ผมทำเป็นเรื่องนิดเดียว ใครทำอะไรได้ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ"
    ประเด็นคือมีการขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่แยกโรคติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลก็สั่งซื้อไม่ได้ สั่งแล้วของก็ยังไม่มา แต่เป็นของที่ต้องใช้ทุกวัน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ เป็นเรื่องของความปลอดภัยของคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ 
    "ท่าน ผอ.ศิริราชได้รับบริจาคผ้ามาเยอะมาก แต่หาคนเย็บไม่ได้ ไม่รู้จะติดต่อใคร บอกให้พยาบาลไปช่วยกันเย็บเอง แต่พยาบาลก็มีภาระงานเยอะมากอยู่แล้ว จะให้ต้องมาช่วยกันเย็บด้วยก็คงไม่ไหว เขาก็ไปเผยแพร่ข่าวในหมู่พยาบาลเกษียณ ภรรยาผมก็เป็นพยาบาลเกษียณ ภรรยาผมบอกว่าเรามีจักรเย็บผ้านี่นา จะรับผ้ามาช่วยเย็บ..."
    หมออุดมบอกภรรยาว่า "ผมเย็บผ้าเป็นนะ...ภรรยาผมยังไม่เชื่อเลย...ความจริงคุณแม่ผมเย็บจักรคล่อง ตอนผมเป็นเด็กประถมก็ได้ช่วยคุณแม่เย็บผ้าด้วยความสนุก คุณแม่สอน ก็ติดตัวผมมา แต่ตั้งแต่นั้นมา 40-50 ปีก็ไม่เคยเย็บอีกเลย..."
    จักรเย็บผ้าที่บ้านของคุณหมออุดมเป็นของแม่ยาย ให้มาหลายปีแล้ว 
    "ผมก็เลยลองมาทำดู เอาที่ง่ายคือถุงครอบเท้า ข้างบนมีสายรัด เราก็เอามาเย็บ รับผ้าเป็นพับๆ มาแบ่งช่วยกันเย็บระหว่างพยาบาลเกษียณที่มีจักร..." คุณหมออุดมเล่า
    อุปกรณ์ที่ว่านี้เป็นถุงสำหรับหุ้มรองเท้าสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้าหอผู้ป่วยแยกโรค  ป้องกันการติดเชื้อ หรือเข้าห้องผ่าตัด ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
    "ใช้เครื่องเย็บผ้าเก่านี้เหนื่อยมากนะครับ เพราะไม่ได้ใช้มานาน มันฝืด ต้องซื้อน้ำมันมาหยอด  สายพานก็ใช้ไม่ได้แล้ว หยุดปั๊บเดียวก็ขาด ก็ต้องซื้อสายพาน ลำบากพอสมควร เย็บไปเข็มก็ติดๆ ขัด ๆ มันก็วุ่นวาย ช้า แต่ก็ถือว่าช่วยกันครับ" คุณหมอเล่าอย่างสนุกและจริงจัง
    "มันต้องใช้สมาธิไม่น้อยครับ ถ้าตะเข็บไม่ตรงกับผ้าก็จะมีปัญหา"
    ภรรยาคุณหมอถ่ายรูประหว่างคุณหมออุดมกำลังปฏิบัติการนี้อยู่ ส่งไปให้คุณแม่ดู อันเป็นที่มาของภาพนิ่งและคลิปที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา
    "แม่ยายคงส่งไปให้ญาติๆ ดูจนออกมาเป็นข่าว ความจริงผมไม่ได้ต้องการเผยแพร่อะไร ถือว่าช่วยกันทำ"
    ที่น่าชื่นใจคือเมื่อได้เห็นคลิปนี้แล้ว มีคนติดต่อไปที่คุณหมออุดมกันอย่างคึกคักเพื่อขออาสาช่วยเสริมกำลังด้วย
    "หลายคนโทร.มา มาเป็นร้อยเลยครับ บอกว่าเห็นหมออุดมต้องลงมือเองอย่างนี้รับไม่ได้ ขอมาช่วยเย็บ ที่บ้านมีจักร ต่างจังหวัดก็มีนะครับ มีโรงงานหลายแห่งติดต่อมา โรงงานเย็บเสื้อก็มี บอกว่าหมออย่าทำเลย เดี๋ยวจะทำให้ฟรี บอกให้ส่งผ้ามา ประธานหอการค้า (คุณกลินท์ สารสิน) โทร.มาบอกว่าหมออุดมทำอย่างนี้ผมรับไม่ได้ มีโรงงานอยู่ในมือเยอะแยะ จะช่วยคุณหมอ..."
    คุณหมออุดมสรุปว่า "สำหรับผม ผมไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่มันสะท้อนว่านี่คือน้ำใจคนไทยครับ...พิสูจน์อีกครั้งว่าในวิกฤติคนไทยเราจะรวมพลังกันได้เสมอ...ผมประทับใจมากครับ"
    นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความเป็นไทยในวิกฤติ...Covid-19 สอนอะไรเรามากมายที่ต้องนำมาเป็นบทสรุปกันจากนี้ไป!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"