"บิ๊กตู่" แหวกทางหนีรุมสกรัม ยืมมือสภาฝักถั่วยื่นตีความกฎหมาย ส.ส. อ้างกลัวถูกมองไม่ดี "มาร์ค" จิกกลับ คสช.กำหนดทุกอย่างอยู่แล้ว เตือนดูประวัติศาสตร์ สังคมไม่ยอมหากคิดทำอะไรเพื่อประโยชน์ตัวเอง "ป๋าเหนาะ" ออกโรงฟันธง ก.พ.ไม่มีเลือกตั้ง ขณะที่เด็กเพื่อไทยมันส์ปากอัดฆ่าพรรคการเมือง
เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กรณีความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท้วงติง แต่นายกฯ จะไม่เป็นผู้นำร่างดังกล่าวยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยตัวเอง แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะให้อำนาจเอาไว้ก็ตาม
"โดยการยื่นครั้งนี้ สนช.จะเข้าชื่อกันตามกฎหมายเหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และไม่ได้ถือว่านายกฯ ส่งร่างกฎหมายส่งกลับให้ สนช. เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ เมื่อประธาน สนช.ส่งร่างกฎหมายให้นายกฯ ซึ่งระหว่างนี้นายกฯ มีเวลารอไว้ 5 วัน ถ้าไม่มีใครคัดค้านให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน แต่ในระหว่าง 20 วันนั้น ยังให้สิทธิสมาชิก สนช.เข้าชื่อเพื่อส่งให้ประธาน สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ คาดว่าจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 เม.ย.นี้ ตามกรอบเวลา" รายงานข่าวระบุ
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากฝั่ง สนช.ระบุด้วยว่า สาเหตุที่ สนช.ไม่ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตั้งแต่แรกนั้น เพราะในช่วงพิจารณากฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ไม่ได้มีสัญญาณจากนายกฯ ว่าจะให้ยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงตัดสินใจยื่นเฉพาะกฎหมาย ส.ว.เพียงฉบับเดียว เพราะกลัวจะถูกมองว่าต้องการจะยืดโรดแมปออกไป แต่ต่อมานายมีชัยท้วงติงในประเด็นดังกล่าว และนายกฯ กลับมีท่าทีในภายหลังว่าต้องการจะยื่น เพราะเกรงว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วจะมีผู้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นผู้พิการ ซึ่งอาจสร้างปัญหาใหญ่ในภายหลังได้ ส่วนที่นายกฯ ไม่ยื่นตีความร่างกฎหมายด้วยตัวเอง แต่ให้สมาชิก สนช.ยื่นนั้น เพราะเกรงจะทำให้นายกฯ ถูกมองไม่ดี
มาร์คจิกทุกอย่าง คสช.กำหนด
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า หัวหน้า คสช.มีอำนาจในการแก้ปัญหานี้ได้อยู่แล้ว แต่จะตีความกี่วัน หัวหน้า คสช.ก็ไปย่นระยะเวลาก่อนการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามเดิม ส่วนจะเป็นรัฐบาลหรือ สนช.ที่จะเป็นผู้ส่งตีความกฎหมายนั้น ทุกอย่าง คสช.จะเป็นผู้กำหนด ซึ่ง คสช.เคยบอกกับคนไทยและชาวโลกไว้อย่างไร ก็ควรเดินไปตามนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการขอความร่วมมือไปทางศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ส.เร็วขึ้นเพื่อไม่ให้กระทบโรดแมปคิดว่าทำได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องดูตามความเป็นจริงว่าใช้เวลาเท่าไหร่ อย่างไร เพราะมีหนทางแก้ไขอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงไม่ต้องการให้ล่าช้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นตามกระบวนการ ซึ่งเรื่องที่ส่งตีความนั้นอาจจะไม่เป็นการซับซ้อนก็ได้
เมื่อถามว่า เป็นการโยนภาระไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลพิจารณาล่าช้า นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเองยืนยันว่าคนที่รับผิดชอบ สุดท้ายแล้วก็คือหัวหน้า คสช. เพราะไม่ว่าศาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ หัวหน้า คสช.ก็ต้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแมปได้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเขาจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี ตนเองเป็นห่วง เพราะ สนช.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะต้องเป็นหลักเป็นฐานในความรอบคอบ แต่คุณภาพของกฎหมายที่ออกมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่ตลอดเวลา สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการทำงานที่บกพร่องอย่างมาก ควรต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมาอีก
เมื่อซักว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องว่าการสรรหาจะยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน และถ้ายังไม่มีเลือกตั้ง ตุลาการปัจจุบันที่พ้นวาระไปแล้วก็ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าใครที่คิดจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และคิดว่าจะทำได้ไปเรื่อยๆ ให้ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะสังคมไม่ยอม
“ส่วนสภาวการณ์เช่นนี้จะไม่เป็นผลดีต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ภาวะปัจจุบันขณะนี้ความอึมครึม ความไม่แน่นอนยังมีปรากฏทุกเวลา ความไม่ชัดเจนในเรื่องการขจัดผลประโยชน์ที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมติงมาตลอดว่า ถ้าอยากจะปฏิรูปการเมือง ต้องช่วยกันทำให้เรื่องแบบนี้หมดไป ไม่ใช่มาทำเสียเอง ถ้าจะพูดเรื่องธรรมาภิบาล ต้องไม่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรพูด ทั้งนี้ จะเป็นการทำลายระบบองค์กรอิสระหรือไม่นั้น ผมมองว่าขณะนี้องค์กรอิสระก็ได้รับผลกระทบหลายองค์กรแล้วจากการเขียนกฎหมายลูก และการใช้มาตรา 44” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคำสั่ง คสช.ว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเองเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจ และควรที่จะส่งเรื่องนี้ไปที่หน่วยงานที่สามารถแก้ปัญหาได้ เห็นว่าควรส่งทั้ง คสช.และ สนช. ขณะเดียวกันจะส่งเรื่องหรือไม่ส่งนั้น ตนมองว่า คสช.และ สนช.ทราบแล้วว่ามติของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นอย่างไร ดังนั้นท่านควรเคารพสิทธิของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเรื่องนี้ไม่ให้เกิดการเสียเวลาในศาล
ป๋าเหนาะฟันธง ก.พ.ไร้เลือกตั้ง
วันเดียวกัน นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย เปิดบ้านพักให้ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ และนักการเมือง อวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 84 ปี โดยนายเสนาะกล่าวว่า อยากเห็นบ้านเมืองเกิดความราบรื่น และนำพาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน อยู่เย็นเป็นสุข บุคคลที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศจะต้องมีเป้าหมาย ไม่ใช่ใช้กำลังอำนาจที่จะเข้ามาแทรกแซงระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติในอนาคต และขณะนี้ไม่เชื่อว่าจะเกิดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม เพราะยังมีอะไรหลายอย่างขาดตกบกพร่อง หากรีบร้อนให้เกิดการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการบกพร่องในเรื่องสำคัญ และจะทำให้ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจะต้องมาอภิปรายตอบโต้กันวุ่นวาย ทั้งนี้ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องการใช้มาตรา 44 เพราะอาจจะมีผลย้อนหลังในอนาคตได้
"คิดว่าการเลือกตั้งจำเป็นจะต้องเลื่อนออกไป เพราะเลือกตั้งมาก็จะทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญยังไม่เรียบร้อย บ้านเมืองตอนนี้ตื่นตัวที่จะเลือกตั้ง ก็มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมากจำนวนมาก ซึ่งตนมีความเป็นห่วงในเรื่องระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ยังไม่เรียบร้อย และพรรคใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองมีข้อจำกัดคือ จะต้องมีสมาชิกตาม รธน. เพราะคุณสมบัติสมาชิก 100 คนหายากมาก โดยเฉพาะพื้นฐานเงื่อนไข" นายเสนาะระบุ
พท.มันส์ปากชี้ฆ่าพรรคการเมือง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าถ้าสุดท้ายแล้วทำให้คำสั่ง คสช.ที่ 53 ถูกยกเลิก หรือถูกแก้ไขในสาระสำคัญ อาจจะลดความเสียหายที่เกิดกับพรรคการเมืองลง และถ้า คสช.รีบปลดล็อกพรรคการเมือง จะทำให้พรรคการเมืองดำเนินการในเรื่องต่างๆ เร็วขึ้น และการเลือกตั้งจะไม่ล่าช้าจนเกินไป เพราะพรรคการเมืองยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับ แต่เมื่อผู้ตรวจการเป็นคนยื่น เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องรับ
เนื่องจากถือว่าความเห็นของผู้ตรวจการมีประเด็นอยู่ เพราะเห็นว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ตรวจการตัดสินใจยื่น รวมถึงได้แจกแจงประเด็นที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญว่าในแง่ของพรรคการเมืองการที่จะให้สมาชิกถูกลิดรอนสิทธิในการเป็นสมาชิก แต่ต้องมาทำตามเงื่อนไขที่ให้เวลาน้อยมาก และเหมือนกับทุกอย่างต้องมาเริ่มต้นกันใหม่หมด ทำให้เสียหายต่อผู้เป็นสมาชิกและมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองมากที่สุด คือต้องยุบสาขาพรรคเดิมไปหมด และต้องเริ่มต้นกันใหม่ จะทำให้สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมมีจำนวนเหลือน้อยมาก อย่างชนิดที่แตกต่างกันลิบลับกับที่เคยมีอยู่ บางพรรคมีเป็นแสน อาจเหลือแค่หลักหมื่น ที่มีเป็นล้านอาจจะเหลือแค่แสนหรือไม่ถึงแสน เป็นการทลายพรรคการเมืองอย่างมาก
ดังนั้นคำสั่งของ คสช.นี้จึงมีผลต่อการทำลายพรรคการเมือง และมีผลโดยอัตโนมัติ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ตามมา และทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของคสช. และเรื่องที่เป็นปัญหามากควบคู่กันคือการที่ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องห้ามพรรคการ เมืองทำกิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความวุ่นวายในบ้านเมืองเลย และเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งที่ต้องให้พรรคการเมืองในการเตรียมเรื่องต่างๆ เตรียมนโยบายที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชน และเมื่อขัดขวางกระบวนการนี้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองทำประโยชน์ได้น้อย การเลือกตั้งมีความหมายน้อยลงเป็น
"จุดมุ่งหมายของ คสช.คือต้องการให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป การเลือกตั้งไม่มีความหมาย และต้องการให้คนเห็นว่าถึงการเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นต้องให้ คสช.และกองทัพปกครองเรื่อยไป อันนี้เรียกความเห็นแก่ตัวก็ได้ เป็นจุดมุ่งหมายของ คสช.มาตั้งแต่ต้นแล้ว"
คสช.เก็บงาน57คนอยากเลือกตั้ง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกองบัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติและมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ กับพวก รวม 57 คน โดยแบ่งเป็นแกนนำจำนวน 10 คน คือ นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายรังสิมันต์ โรม, นางสาวณัฏฐา มหัทธนา, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายเอกชัย หงส์กังวาน, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, นายอานนท์ นำภา, นายปกรณ์ อารีกุล และนางศรีไพ นนทร ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ข้อ 12 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เหลืออีก 47 คน ประกอบด้วย 1.นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 2.นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว 3.นายกรกช แสงเย็นพันธ์ 4.นายศรวัชร์ คมนียวนิช 5.นายรัฐพล ศุภโสภณ 6.นางสุวรรณา ตาลเหล็ก 7.นายหนึ่ง เกตุสกุล 8.นางมัทนา อัจจิมา 9.นายสุรศักดิ์ อัศวเสนา 10.นางนัตยา ภานุทัต 11.นางภัสสร บุญคีย์ 12.นางยุภา แสงใส 13.นางประนอม พูลทวี 14.นายภัทรพล ธนเดชพรเลิศ (ไก่ บิ๊กแมน) 15.นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 16.นายวิศรุต อนุกูลการย์ 17.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ 18.นายสมบัติ ทองย้อย 19.นายกิตติทัศน์ สุมาลย์นพ 20.นายอ๊อด แอ่งมูล
21.ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร 22.ฉัตรมงคล วัลลีย์ 23.นางสาวมัญจา หม่องคำ 24.นางกลมวรรณ หาสารี 25.นางสาวนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ 26.นายโชคดี ร่มพฤกษ์ 27.นางพรวลัย ทวีธนวาณิชย์ 28.นางสาววาสนา กองอุ่น 29.นางสาววลี ญาณะหงสา 30.นางยุพา พวงทองดี 31.นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร 32.นางพรนิภา งามบสง 33.นางกองมาศ รัศมิมัต 34.นายเทวินทร์ พูนทวี 35.นางสาวสุชาดา แซ่เบ๊ 36.นางกุลวดี ดีจันทร์ 37.นางสาวเสาวรักษ์ หนูขวัญแก้ว 38.นายมนัส แก้ววิกิจ 39.นายกลวัชร ดอกลำเจียก 40.นางสาวกิ่งกนก ธนจิตรภาส 41.นายโกวิทย์ ซมมิน 42.นายบุญสม เทพจันทร์ 43.นายสมพิณ ศรีสุข 44.นางรักษิณี แก้ววัชระรังษี 45.นายทรงชัย วิมลภัตรานนท์ 46.นายสุเทพ สุริยะมงคล และ 47.นางพยงค์ ศิริงามเพ็ญ โดยทั้ง 47 คน จะถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,130 คน ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2561 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อการเลือกตั้ง ในคำถามที่ว่า ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร? กรณีการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 57.56% ระบุว่าควรแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ มีสติ รอบคอบ, 21.84% ควรชุมนุมอย่างสงบ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง รุนแรง ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 59.13% มองว่าเป็นหน้าที่ที่ควรทำ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และ 22.26% ระบุว่าเลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา นอกจากนี้ 18.61% สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ขณะที่คำถามที่ว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกิดขึ้นในขณะนี้ ประชาชนคิดว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งหรือไม่? โดยอันดับ 1 คิดว่ามีผลกระทบ 35.75% เพราะอาจเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ขัดแย้ง แตกแยก คสช. ต้องควบคุมสถานการณ์ ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ฯลฯ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |