7 เม.ย.63- ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ส่งตัวนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาพร้อมส่งสำนวนสอบสวนและความเห็นควรสั่งฟ้องต่ออัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) ในคดีจัดแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562
ภายหลังทั้งสามเข้ารายงานตัวต่ออัยการเสร็จสิ้นแล้ว นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของทั้งสาม เปิดเผยว่า มีการตั้งข้อหาเดิม 5 ข้อหา ทางอัยการนัดผู้ต้องหาทั้งสามมาฟังว่าสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในวันที่ 15 เม.ย. นี้ เวลา 10.00 น. แต่ตนปรึกษากับทั้งสามแล้ว เราคงจะต้องยื่นขอความเป็นธรรม เพราะการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ยังไม่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีเดียวกับที่นักศึกษา ประชาชน กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกกล่าวหาด้วย ขณะนี้อัยการยังไม่สั่งฟ้อง อยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม
ด้าน นายปิยบุตร กล่าวว่า เราตั้งใจต่อสู้คดีตามกฎหมาย เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ กระทั่งชั้นศาล พวกเราที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างน้อยที่สุดจะได้เป็นกรณีศึกษา ว่าการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งออกมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช. นั้น ถึงเวลาใช้ในทางปฏิบัติมีปัญหาจริงๆ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทำไปทำมา วัตถุประสงค์ที่ตั้งใจทำให้เสรีภาพในการชุมนุมเกิดขึ้นได้ แต่ในท้ายที่สุดอาจจะเกิดขึ้นไม่ได้จากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ การที่เราถูกตั้งข้อหาเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาทบทวนเสนอแก้ไขปรับปรุง หรือยกเลิกแล้วเขียนใหม่ ให้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะบังคับการให้เสรีภาพการชุมนุมซึ่งรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้น ใช้ได้จริง
เมื่อถามมองว่าการใช้กฎหมายครั้งนี้เป็นการใช้เฉพาะกลุ่ม กลั่นแกล้งหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ไม่อยากจะคิดไปขนาดนั้น ตนมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ หวังว่าประเทศไทยจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง กลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่ง สลับกันเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านเพียงเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ความเห็นแตกต่างทางการเมืองสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสันติ ต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มี 2 มาตรฐาน วิธีทางเดียวที่จะทำให้ความเห็นต่างในทางการเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแฟลชม็อบ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ส่งตัวพร้อมสำนวนและความเห็นควรสั่งฟ้องนายธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 นครปฐม, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย แกนนำวิ่งไล่ลุง และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ใน 5 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง 2.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ 3.ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ 4.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 5.ชุมนุมในรัศมีใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร
ทั้งนี้ คดีในส่วนของผู้ต้องหา 5 คนแรก อยู่ระหว่างการสอบพยานเพิ่มเติม โดยอัยการนัดสั่งคดีชุดแรกในวันที่ 23 เม.ย. 2563 เวลา 10.00 น. ส่วนที่มีการส่งสำนวนในส่วนของนายปิยบุตร, น.ส.พรรณิการ์ และนายพิธา ภายหลังนั้น เนื่องจากเป็น ส.ส. มีเอกสิทธิ์ในสมัยประชุมสภาก่อนหน้านี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |