7 เม.ย.63 - นายอมร อมรรัตนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) โพสต์จัดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2) ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้
"ถึงเวลา พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทบทวนยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดแนวทางนโยบาย สร้างชาติให้ยืนหนึ่ง ในสังคมโลก"
วันที่ 7 เมษายน 2563
เรื่อง ขอให้มีการจัดการประชุม รัฐสภา เพื่อร่วมกันกำหนด ยุทธศาสตร์ ทิศทาง และแนวนโยบาย ในการสร้างชาติ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและยั่งยืน เพื่อ รองรับ สถานการณ์วิกฤต ที่เกิดจากภัยพิบัติที่คาดไม่ถึง
เรียน นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา
สำเนาถึง นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี หัวหน้าพรรคการเมือง และผู้นำองค์กรอิสระ
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก จะมาด้วยสาเหตุ ของการช่วงชิงพัฒนา อาวุธชีวภาพของมหาอำนาจ หรืออาจเป็นการพัฒนากลายพันธุ์ ของไวรัสซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องค้นคว้าต่อไป
แต่ที่แน่นอน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชืวิตและความเป็นอยู่
ของประชาชนและเศรษฐกิจโดยของประเทศ จะหนักหน่วงมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล และโครงสร้างของสังคมการเมืองเศรษฐกิจ ของประเทศนั้นๆ
ในประเทศจีนซึ่งถือว่า เป็น ประเทศแรกของการ ค้นพบ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การจัดการแก้ปัญหา การแพร่ระบาดด้วยความรวดเร็วเด็ดขาด และสามารถ ควบคุมการแพร่ระบาด ให้อยู่ในวงจำกัด ด้านหนึ่งเป็นผล จากโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นสังคมนิยม อีกด้านหนึ่ง เป็นความร่วมมือของพี่น้องประชาชนจีน ที่มีระเบียบวินัย เนื่องจากถูกหล่อหลอม มาจากโครงสร้างทางวัฒนธรรม ที่ผ่านการต่อสู้อย่างยาวนาน
ในทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศจีน ชีวิตความเป็นอยู่ ของพี่น้องประชาชนจีน ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมาก จะมีเพียงบางส่วนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว
ในทางกลับกัน ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม สามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้วิกฤต และได้รับผลกระทบน้อยมาก
แต่เมื่อมาพิจารณา โครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ของสังคมไทย จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรก การรับมือ และแก้วิกฤต สามารถทำได้ด้วยดี แต่เมื่อสถานการณ์พัฒนาไป จังหวะก้าวและการ กำหนดมาตรการการแก้ปัญหา หลายกรณี คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องสรุปบทเรียนและพัฒนาในอนาคต
ทั้งนี้ การตัดสินใจการแก้ปัญหา ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องที่ เข้าใจได้ และไม่อาจโยนความผิดให้กับการจัดการและการบริหาร ของฝ่ายรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว เพราะเป็นสถานการณ์ที่สังคมประเทศไทยไม่เคยผ่านบทเรียนวิกฤตที่ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน
แต่สิ่งหนึ่งที่ ผู้นำทุกภาคส่วนของสังคม จำเป็นต้อง นำสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น มาอภิปราย และหาข้อสรุป เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางทิศทางและนโยบาย ในการแก้ปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า กับเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนโดยเร็ว และเร่งด่วน
อีกทั้ง ยังต้องเก็บรับบทเรียน มาทบทวนยุทธศาสตร์ ทิศทางแนวทางและนโยบายในการสร้างชาติในอดีต ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางโครงสร้างทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรมสังคม และการศึกษา
ในที่นี้ ผมขอเสนอ ความเห็นส่วนตัว ต่อ ผู้นำทุกภาคส่วน รวมถึงพี่น้องประชาชน ให้ได้ร่วมกันพิจารณา และอภิปรายหาข้อสรุป เพื่อร่วมกันกำหนดและอนาคตของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รักของทุกคน ใน 2 กรอบประเด็นใหญ่ๆดังนี้
ประเด็นที่ 1 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาด
1.1 ต้องใช้ อำนาจทางการบริหารจัดการ อย่างเข้มงวด สูงสุด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ที่ต้องควบคุมพิเศษ โดยนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้ใช้
1.2 การเยียวยาชีวิต เศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกอาชีพ เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่รัฐบาล ต้องดูแลอย่างทั่วถึง
ที่มาของจำนวนเงินงบประมาณ ผมเห็นด้วยกับการ โอนงบสัมมนา งบลงทุนต่างๆ ที่ไม่ก่อหนี้ผูกพัน คาดว่า น่าจะได้ หลายแสนล้านบาท
*ในกรณีที่ งบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอ การออก พรก. เงินกู้ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น แต่ควรหลีกเลี่ยง การกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดภาระระยะยาว ต่อหนี้สินของต่างชาติ
1.3 เม็ดเงินงบประมาณในการเยียวยาชีวิตเศรษฐกิจของประชาชน จะต้องใช้อย่างคุ้มค่าและก่อประโยชน์สูงสุด หลีกเลี่ยงการนำไปใช้ในงบปกติที่เป็นภาระกิจที่อยู่ในแผนงบประมาณเดิมที่กำหนดไว้แล้ว
1.3.1 เงินเยียวยา ที่แจกกับประชาชนแต่ละกลุ่มอาชีพ มีความจำเป็น ในการประทังชีวิต และเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ทั้งนี้ต้อง พิจารณาอย่างรอบคอบ ในกรอบวงเงินที่เหมาะสม เช่น เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ควรได้รับเงิน สนับสนุน ครอบครัวละ เท่าใด นั้นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา อย่างเร่งด่วน
เพราะ อาชีพเกษตรกร ยังสามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งต่างกับอาชีพอิสระ หรือ แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ จำนวนเงินจึงแตกต่างกัน
1.3.2 เงินกระตุ้น และฟื้นฟู เศรษฐกิจ ของทุกกระทรวง ต้องใช้ในโครงการ ที่ต้องรองรับ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังภาวะวิกฤต และรองรับวิกฤตภัยแล้ง ที่รุนแรงกว่าทุกปี ซึ่งกำลังจะมาถึง
ที่สำคัญ การใช้เม็ดเงิน ต้องใช้ภายใต้ยุทธศาสตร์ การใช้เงินเพื่อการสร้างงาน และให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบมีงานทำ
เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเร่งทำแผนที่น้ำ เร่งจัดสร้าง และ พัฒนาฟื้นฟู แหล่งน้ำ ในพื้นที่การเกษตร เพื่อรองรับน้ำ ในช่วงฤดูฝน จัดเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง อย่างครบวงจร ทั้งนี้โครงการต่างๆ ต้องเน้นการสร้างงาน ให้มีการว่าจ้างแรงงาน ในพื้นที่ ได้มีโอกาสได้มาทำงาน
*กระทรวงพาณิชย์ ต้องมีมาตรการ ดูแลผลผลิต ของเกษตรกร ที่จะออกมาในตลาดในช่วงนี้
โดยเฉพาะสินค้าของชาวสวนผลไม้ กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งหาตลาดและจัดระบบการกระจายสินค้า ทั้งภายในและต่างประเทศ
ในภาวะวิกฤตเช่นนี้การส่งออกอาจมีปัญหา ผมเสนอให้ รับซื้อหรือ รวบรวม ภายใต้กลไกความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านกลุ่ม หรือสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ภายใต้กลไกการกระจายสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง มีหลายช่องทางเช่น ร้านธงฟ้า ร้านสมาร์ทโชห่วย รถพุ่มพวง และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งมีช่องทางการตลาด ถึงทุกอำเภอทุกตำบล
*กระทรวงศึกษาธิการ ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เพื่อให้เกิดการศึกษาของเยาวชนได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องนำงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบ เทคโนโลยีและการศึกษาออนไลน์ ให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของการศึกษาในสายอาชีพ ควรเร่งสร้างแผนงาน ปรับปรุงหลักสูตร ให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ในสังคม เรียนจบแล้วมีงานทำทันที
"อาชีวะสร้างชาติ สร้างประเทศ"
โดยเฉพาะอาชีวะ ด้านเกษตรกรรม ต้องเร่งปฏิรูปครั้งใหญ่ นอกจากการพัฒนาหลักสูตร และปรับปรุง ระบบการเรียนการสอนให้ทันสมัย
รัฐบาลต้องจัดให้มีเงินทุน และที่ดิน ให้ลูกหลานเกษตรกร เมื่อเรียนจบแล้ว สามารถเป็น เกษตรตัวอย่าง (Young Smart Farmer) ในแต่ละชุมชน
ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆที่เสนอเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่คิดภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด ผมเชื่อว่า ถ้าผู้บริหารและผู้รับผิดชอบในกระทรวงต่างๆได้นำไปขยายผล ก็จะมีโครงการที่ดี ออกมารองรับ ในการแก้ปัญหาและ ฟื้นฟูภาวะหลังวิกฤตได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ผมเชื่อว่าศักยภาพของผู้บริหาร แต่ละกระทรวงรวมถึงกลไกของรัฐ จะสามารถกำหนดแผนงานและโครงการต่างๆที่สามารถเยียวยาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนได้ หากกำหนดจากจุดยืน บนผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
ประเด็นที่ 2 การสร้างชาติ ต่างประเทศให้มั่นคงยั่งยืน จำต้อง ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ แนวทางทิศทางและนโยบาย
ภายใต้การพัฒนาประเทศ สังคมไทยตกอยู่ใต้กรอบคิด และการกำหนดจากสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2493 ต่อมาธนาคารโลก ได้เข้ามาเสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนบทบาท และเพิ่มภารกิจในปี 2502 โดยเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
จากนั้นมา ประเทศไทย จึงตกอยู่ภายใต้การพัฒนา โดยมี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นพิมพ์เขียวชี้นำ ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยมาแล้ว 12 ฉบับ
62 ปีของสภาพัฒน์ มีทั้งด้านรุ่งโรจน์และประสบความสำเร็จ ในขณะเดียวกันการมีแนวคิดครอบงำ ใกล้ชิด กับประเทศ มหาอำนาจ ฝากฝั่งทุนนิยมเสรี ทำให้การพัฒนาประเทศ ก้าวสู่ยุคทุนนิยม ที่อ้างความทันสมัย โดยละทิ้ง การสร้างความมั่นคงรากฐาน ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในภาคชนบท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ท่านจึงทรงเป็นผู้นำ ในโครงการพระราชดำริต่างๆ อีกทั้งยังพระราชทานปรัชญา และยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ ด้วยระบบเศรษฐกิจพอเพียง
แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ภายใต้องค์ประกอบ ที่ตกอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ของกลุ่มทุน ที่มีความคิดทุนนิยมเสรี ก็หาได้น้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้ความสำคัญน้อยมากดังที่ปรากฏให้เห็น
ดังนั้นการเกิดวิกฤตครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่ผู้นำองค์กรทุกภาคส่วน จะต้องหันมาทบทวน กลับทิศเปลี่ยนทาง ในการพัฒนาประเทศ
ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตครั้งนี้รุนแรง ดังที่ปรากฏให้เห็นประเทศชาติเกือบล้มละลาย เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรา ไปพึ่งพิง แต่ธุรกิจภาคบริการภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมด้านการส่งออกเท่านั้น
ในสถานการณ์เช่นนี้ การนับหนึ่งใหม่ จึงยังไม่สายเกินไป ที่เราจะเก็บรับบทเรียน จากภายในประเทศ และจากต่างประเทศ
ในทางกายภาพ ประเทศไทย อยู่ใน เขตร้อนชื้น ที่มีความเหมาะสม ในการทำเกษตรกรรม
*กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องเป็นผู้นำหน้า ในการจัดทำแผนที่ภาคการเกษตร และพัฒนา การผลิตให้ภาคเกษตรกร อีกครั้งจำเป็นต้องส่งเสริม ให้เกิดการรวมตัว การทำการเกษตร ภายใต้รูปแบบ เกษตรแปลงใหญ่ หรือจะเป็นสหกรณ์การเกษตร ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว
ภาครัฐจะต้องแก้ปัญหาปัจจัยในการผลิต ที่สำคัญคือที่ดิน ให้เกษตรกรเป็นเจ้าของ หรือเช่ากับ รัฐในราคาที่เป็นธรรม ให้การส่งเสริม จัดให้มีโครงข่าย ทรัพยากรน้ำ เข้าถึงแปลงการผลิตอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังต้องมีกองทุน ที่เข้าสนับสนุน และส่งเสริม เกษตรกร อย่างจริงจัง ภายใต้หลักคิดให้เกษตรกร เติบโตและมีความมั่นใจ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีในอาชีพตนเอง
หากรัฐบาล ทำได้เช่นนี้ "เกษตรผลิต พาณิชย์จำหน่าย" เกษตรกรส่วนใหญ่ ก็จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และผมเชื่อ เมื่อ “เกษตรกรร่ำรวย ทุกคนก็จะร่ำรวย” ไม่ว่าจะเกิดวิกฤต หนักหน่วงเพียงใด สังคมประเทศไทยก็จะอยู่ได้ ประชาชนคนไทยก็จะไม่อดตาย
การนำเสนอข้อคิดเห็นครั้งนี้ มิได้ปฏิเสธการพัฒนาที่ผ่านมา สิ่งที่มีอยู่ ก็ยังจำเป็นต้องส่งเสริมให้ดำรงอยู่และพัฒนาดียิ่งขึ้น
ที่สำคัญ ธุรกิจภายใต้กลุ่มทุน จะต้องพัฒนาตัวเอง ให้หันมา ดูแล และช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น ภายใต้หลักการยุทธศาสตร์ การพัฒนาของสหประชาชาติ Sustainable Development Goal ซึ่งผู้บริหาร เจ้าของทุน และพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน จะต้องให้ความสำคัญ และยึดหลักปฏิบัติ เคียงคู่กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หากทุกภาคส่วนร่วมมือ ปฏิบัติการร่วมกัน ส่วนตัวผมเชื่อว่า การสร้างชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์เช่นนี้ จะทำให้สังคมไทย เป็นสังคมที่น่าอยู่ อบอุ่น และมีความสุข ที่นานาอารยประเทศ จะได้ใช้เป็นแบบอย่าง ในการสร้างสังคมที่สันติสุข
ในโอกาส นี้ ผมจะขอเสนอ ให้ ฯพณฯชวน หลีกภัย ในฐานะ ประธานรัฐสภา เรียกประชุมรัฐสภา เปิดอภิปรายทั่วไป หรือหากไม่สามารถ จัดกระบวนการการประชุมเพื่อความปลอดภัยได้ ให้แต่ละพรรคการเมือง หรือองค์กร ที่เกี่ยวข้อง จัดให้การประชุมขยายวง เพื่อให้ได้ข้อสรุปให้หัวหน้าพรรคและตัวแทนองค์กรต่างๆสามารถจัดการประชุมร่วมในวงขนาดเล็กได้
เป้าหมายคือการ ระดมความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการเสนอแนะ และร่วมมือกัน หาข้อสรุป ในการนำพาประเทศให้ฝ่าข้ามวิกฤต เพื่อสร้างชาติสร้างประเทศ ให้มีความมั่นคง มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และมีความยั่งยืน ในการรักษาวัฒนธรรมไทย
จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
ด้วยความเคารพนับถือ
นายอมร อมรรัตนานนท์
7 เมษายน 2563
เวลา 9.24 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |