7 เม.ย.63- นายธีระชัย ภูวนาถยรานุบาล อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขียน จดหมายถึงนายเข้ม เย็นยิ่ง ฉบับที่ 1 ลง วันที่ 6 เมษายน 2563 ระบุรายละเอียดว่า
กราบเรียน นายเข้ม เย็นยิ่ง
กระผมไม่เคยจะคิดเขียนจดหมายถึงท่าน แต่ในวันนี้มีความจำเป็น
กระผมได้ศึกษาสารานุกรมวิกิพีเดียพบประวัติการประสานงานระหว่าง ธปท. กับรัฐบาลในช่วงการทำงานของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่ง ดร.ป๋วย ได้ยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องมาโดยตลอด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เจ้าหน้าที่ของ ธปท. มาโดยตลอด
ตัวอย่างกรณีหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2496 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ ดร.ป๋วย พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง เนื่องจากดร.ป๋วย ปฏิเสธการที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพจำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยและกำลังถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ขอให้ ดร.ป๋วย ยกเลิกการปรับ แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธ และยืนกรานให้คณะรัฐมนตรีปรับธนาคารแห่งนั้น
ในที่สุดคณะรัฐมนตรี ก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย
อีกกรณีหนึ่ง ต่อมา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายามเสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทน บริษัท โทมัส เดอลารู คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้
ดร.ป๋วย ตรวจพบว่าบริษัทดังกล่าวฝีมือไม่ดี ปลอมง่ายและมีชื่อเสียงในการวิ่งเต้น จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอให้เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตร จึงทำรายงานเสนอให้ใช้ บริษัทโทมัส เดอลารูตามเดิม แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันเป็นผู้พิมพ์ธนบัตร ก็จะออกจากราชการ
คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้น ต่างไม่พอใจ ดร.ป๋วย
เพื่อความปลอดภัย พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ให้ ดร.ป๋วย ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2499 และยังได้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ มีผลทำให้ ไทยสามารถขายแร่ดีบุก เป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศได้มากขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ดร.ป๋วย ได้ท้าทายบุคคลในรัฐบาลในการกล่าวสุนทรพจน์ของสมาคมธนาคารไทยเพื่อเตือนสติผู้มีอำนาจ มีใจความว่า จอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรีผู้มีคำขวัญประจำใจว่า "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" มีนโยบายไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีจะไปยุ่งเกี่ยว กับ "การค้า"
แต่ทำไมจึงมีรัฐมนตรีบางคนไปเป็นกรรมการในธนาคารต่างๆ หรือเป็นเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่"การค้า" ชนิดหนึ่ง สุนทรพจน์นี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่ว
ในยุคสมัยรัฐบาลทหาร ดร.ป๋วย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนเดียวที่กล้าวิจารณ์ นักการเมือง รัฐมนตรี และนายทหารชั้นสูง ที่มักเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารต่างๆ เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวเมื่อจอมพลถนอมทราบความ ก็ยินยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดลาออกตาม
กระผมขอกราบเรียน ได้ข่าวว่าในวันพรุ่งนี้ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติออกพระราชกำหนด เพื่อให้ ธปท. ทำการซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ ซึ่งกระผมมีความเห็นว่าจะเป็นกฎหมายที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอาจจะเข้าข่ายเป็นการใช้ ธปท. เป็นเครื่องมือในการผลักภาระขาดทุนของบริษัทเอกชนไปให้เป็นภาระแก่ประเทศชาติ อันจะทำให้ ธปท. ดำเนินการในสิ่งที่นอกเหนือการดำเนินนโยบายการเงินและวัตถุประสงค์ของ ธปท. ตามของเขตของกฎหมาย
ดังนั้น กระผมจึงขอกราบเรียนให้ท่านกรุณาทราบเบื้องต้นไว้ก่อน เพื่อจะเป็นข้อคิดให้แก่เจ้าหน้าที่ ธปท. ต่อไป
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายธีระชัย ภูวนาถยรานุบาล
อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้นายเข้ม เย็นยิ่ง คือชื่อรหัสของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ใช้ปฏิบัติงานในขบวนการเสรีไทย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |