ศบค.เปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าร้อย อยู่ที่ 51 ราย แต่บุคลากรทางการแพทย์ติดถึง 13 ราย ชี้แม้น้อยแต่ยังปลื้มไม่ได้ ส่วนคนตายเพิ่มอีก 3 ราย หมอทวีศิลป์เตือนเป็นเคสอายุต่ำ การแพร่เชื้อในบ้านน่าห่วง สธ.เศร้าแจงบุคลากรทางแพทย์ดับ 3 ราย แม้ไม่ใช่ติดโควิด-19 แต่มาจากงานหนัก-โรคประจำตัว ลั่นต้องคุมโรคให้อยู่ก่อนช่วงหน้าฝน-เปิดเทอม ไม่งั้นอันตราย "กพท." ต่ออายุปิดน่านฟ้าอีกระลอกจนถึง 18 เม.ย. "ศบค.-นฤมล-กห." รุมสวดเฟกนิวส์ ดีดปาก "ปิยบุตร" ไม่รู้กาลเทศละ
เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ว่า มีจำนวน 51 ราย กระจายใน 66 จังหวัด โดยจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 13 คน ซึ่งนอกจากดูแลผู้ป่วยแล้วยังมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น รับประทานอาหาร ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสม 2,220 ราย หายป่วย 793 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสม 26 ราย
“แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง แต่ยังไม่ต้องมั่นใจ เพราะตัวเลขมีขึ้นมีลง 2-3 วันนี้ยังไม่เห็นภาพชัดนัก ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ อย่าไปดีใจ เพราะกองระบาดวิทยามีระบบการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ มีการรอสอบสวนโรค มีข้อมูลที่รอผลยังไม่ได้รายงานเข้ามา” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนของผู้เสียชีวิตรายที่ 24 เป็นชายไทย อายุ 28 ปี เป็นพนักงานบริษัทใน กทม. มีประวัติเพื่อนร่วมงานภรรยาติดโควิด-19 มีอาการป่วยเมื่อวันที่ 27 มี.ค. มีไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง อาการไม่ดีขึ้นจึงย้ายไปรักษาที่ รพ.เอกชนอีกแห่งหนึ่ง ก่อนนำตัวเข้ารักษาที่ รพ.เอกชนใน กทม. ผลออกมาวันที่ 4 เม.ย.ว่าเป็นโควิด-19 และเสียชีวิตในเวลา 22.00 น.วันเดียวกัน รายที่ 25 เป็นชายไทย อายุ 51 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน มีอาการป่วยวันที่ 28 มี.ค. และเข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชนใน กทม. แรกรับมีอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และกลับมาอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. รวมถึงเข้ารับการรักษาใน รพ.เดิมอีกครั้งในวันที่ 1 เม.ย. โดยครั้งนี้ต้องนอนพักรักษาตัวที่ รพ. เอกซเรย์ปอดพบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรง ผลออกมาวันที่ 2 เม.ย.ว่าเป็นโควิด-19 และเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย. รายที่ 26 เป็นหญิงอายุ 59 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวเบาหวาน ก่อนหน้านี้ไปเล่นการพนันในหลายแห่งของ กทม. ไปเจอผู้คนจำนวนมาก เริ่มป่วย 29 มี.ค. เข้ารับการรักษา รพ.เอกชนวันที่ 1 เม.ย. อาการแรกรับไม่มีไข้ แต่หายใจหอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดลดลง ปอดอักเสบรุนแรง แพทย์พบว่าติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย.
“ใน 3 รายที่เสียชีวิตล้วนอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งสิ้น อายุน้อยที่สุดคือ 28 ปี ดังนั้นทุกอย่างเป็นความเสี่ยง คนอายุ 20-29 ปีที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากที่สุด จึงต้องเฝ้าระวังในการแพร่เชื้อให้คนอื่น นอกจากนี้ อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือการแพร่เชื้อที่มากที่สุดคือ การแพร่เชื้อในบ้าน ดังนั้นการแสดงความรักอย่างใกล้ชิดขอให้ระมัดระวัง ตอนนี้ขอให้ส่งสติกเกอร์ไลน์ไปก่อน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ขยายเวลาห้ามบิน
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงผลปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนวันที่ 5 เม.ย. ถึงเช้าวันที่ 6 เม.ย. พบว่ามีผู้ฝ่าฝืนออกจากเคหสถาน 919 ราย มีการรวมกลุ่มชุมนุม มั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในเคหสถาน 79 ราย ดำเนินคดี 708 คน ซึ่งจะมีการเพิ่มจุดตรวจในคืนวันที่ 6 เม.ย. จาก 836 เป็น 923 จุด ส่วนกรณีคนไทยที่กำลังเดินทางกลับประเทศ แต่ติดค้างอยู่ที่สนามบินต่างประเทศมี 48 ราย แบ่งเป็นญี่ปุ่น 12 ราย เกาหลีใต้ 35 ราย และเนเธอร์แลนด์ 1 ราย คนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลจากสถานทูตเป็นอย่างดี และวันที่ 6 เม.ย. จะมีเที่ยวบินจากอินโดนีเซียพาคนไทย 111 คน ซึ่งมีการขออนุญาตไว้ก่อนแล้ว มาลงที่สนามบินหาดใหญ่ในเวลา 16.00 น. โดยมีการเตรียมสถานที่รองรับสำหรับการกักตัวไว้แล้ว ส่วนนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งมีการเปลี่ยนเที่ยวบินกลับ หรือกลับหลังจากวันที่ 15 เม.ย. ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทย ขอให้ไปติดต่อสถานทูตไทยในแต่ละเมือง เพื่อเราจะได้เตรียมรองรับคนที่เดินทางกลับมาตามที่เราสามารถรองรับได้ 200 คนต่อวัน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ได้ลงนามออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) หลังจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ได้ออกประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 6 เม.ย.2563 เวลา 23.59 น. โดยประกาศฉบับใหม่จะห้ามตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2563 เวลา 00.01 น. ไปเป็นวันที่ 18 เม.ย.2563 เวลา 23.59 น.
ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือ 51 คน แต่มีการสูญเสียบุคลากรสาธารณสุข 3 คน ที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำพูน และ อสม.จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนับเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของประเทศ และเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่ง สธ.จะให้การเยียวยาผู้สูญเสียและครอบครัวอย่างเต็มความสามารถ และขอบคุณครอบครัวบุคลากรทุกคนที่เป็นลมใต้ปีก สนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขอย่างเต็มที่
“ในไทยแม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศ แต่ทุกคนก็ทำงานอย่างกล้าหาญ เต็มที่สุดความสามารถ นี่ไม่ใช่แค่การมาทำงานเฉยๆ แต่มารบกับสิ่งที่มองไม่เห็น ยิ่งข้าศึกมาก บุคลากรทางการแพทย์ยิ่งเสี่ยงมาก ดังนั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะจับมือกับบุคลากรเพื่อช่วยกันรบกับโรคนี้ เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติโรคนี้ไปได้” นพ.วรตม์กล่าว
บุคลากรทางแพทย์ทำงานหนัก
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิต 3 รายนั้นไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะมีโรคประจำตัว และทำงานหนัก ซึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้ภาระงานควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 นั้นมีมากขึ้นในขณะที่บุคลากรมีเท่าเดิม ส่วนจำนวนตัวเลขผู้ป่วยใหม่นั้นจะเป็นตัวบอกว่ามาตรการที่เราทำอยู่นั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ 51 ราย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่สามารถวางใจได้ เพราะยังมีการกระโดดไปกระโดดมา การจะบอกได้ว่าเป็นแนวโน้มดีคือต้องมีตัวเลขต่ำเรื่อยๆ ระดับนี้ ต่อเนื่องกันหลายๆ วัน แต่ตัวเลขคนที่รักษาหายป่วยแล้วนั้นถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี
“สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องยังเป็น 2 มาตรการสำคัญคือ มาตรการการค้นหาผู้ป่วย ผู้สัมผัส เพื่อนำเข้าสู่ระบบให้เร็ว เป็นการตัดวงจรการระบาด อีกมาตรการคือความร่วมมือจากประชาชนในการเว้นระยะห่างทางสังคม ระยะห่างระหว่างบุคคล มีคนถามว่าเรื่องนี้จะจบเมื่อไหร่ คงตอบไม่ได้ อยู่ที่ทุกคนช่วยกัน ภาครัฐอย่างเดียวคงทำให้จบเร็วไม่ได้ ประชาชนต้องช่วยกัน” นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์ยังกล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาพบว่าสังคมไทยมีปัญหาเรื่องของการตีตราต่อต้านคนที่หายป่วยแล้วไม่ให้กลับเข้าชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา สธ.พยายามสื่อสารมาตลอด โดยเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชน ไม่ใช่การสร้างความตื่นกลัว เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดการตีตราขึ้น คนไข้ก็เลยไม่ยอมไปพบแพทย์ พบแพทย์ก็ไม่บอกความจริง เป็นความเสี่ยงแก่บุคคลทั่วๆ ไป ดังนั้นการให้ความรู้ที่ถูกต้อง วิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ
นพ.ธนรักษ์กล่าวอีกว่า ในประเด็นที่ว่าผู้ป่วยเมื่อหายแล้วกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนได้หรือไม่นั้น ต้องขอชี้แจงว่าในกลุ่มคนป่วยที่มีอาการน้อยจะได้กลับบ้านใน 14 วัน หลักปฏิบัติของเราคือ ให้คนเหล่านี้อยู่ใน รพ. 7 วัน เมื่ออาการดีก็จะอยู่ในฮอสพิเทล หรือโรงแรมที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานใช้รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการ หรืออาการน้อยอีก 7 วัน หรือครบ 14 วัน เมื่อหายแล้วให้กลับบ้าน ซึ่งเมื่อกลับถึงบ้านยังปฏิบัติตัวเข้มข้น ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะฉะนั้นถามว่าจำนวน 14 วันที่เฝ้าดูกันอยู่นั้นพอหรือไม่ ยังมีเชื้ออยู่หรือไม่ มีงานวิจัยระบุว่าเพียงพอ แต่ถ้าวันหลังมีข้อมูลใหม่ว่าเชื้ออยู่ในคอและแพร่เชื้อนานกว่าเราก็ปรับมาตรฐานการรักษา ตอนนี้เราใช้ความรู้เท่าที่มีให้เกิดประโยชน์ในการรักษาป้องกันโรคให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่าอีกไม่นานจะเข้าหน้าฝนคนไทย จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า เราต้องเร่งควบคุมโรคให้เบ็ดเสร็จตั้งแต่ช่วงนี้ ก่อนเข้าหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเปิดเทอม ซึ่งแน่นอนว่าจะมี 2 ปัจจัยสำคัญคือความชื้นและอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลทำให้เชื้ออยู่ได้นานขึ้น ประกอบกับการมารวมตัวกันของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากในการควบคุมโรคของไทย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าถ้าเกิดการติดเชื้อในเด็ก อาการจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ แสดงอาการไข้ ไอ เพียงไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงสำคัญที่เราต้องควบคุมให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงการประชุม ศบค.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. และผู้นำรัฐบาลย้ำถึงการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะยังคงต้องใช้ระบบบริหารราชการแผ่นดินปกติ โดยบูรณาการผ่าน ศบค.ในทุกมิติ และเน้นว่าประชาชนต้องสู้ไปด้วยกัน อย่าเชื่อสื่อโซเชียลมีเดียบางสำนักที่มุ่งสร้างความแตกแยกในสังคม การโทษกันไปมาจนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ย่อมทำให้มีปัญหา จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่น เราจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วหลายเรื่อง อย่างเรื่องเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง อย่าแชร์ อย่าเชื่อกันง่าย
ศบค.รับห่วงข่าวปั่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการแชร์เอกสารราชการคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 จนตีความว่าอาจนำไปสู่การเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง โดยเริ่ม 10 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นี่คือข้อห่วงใยที่ ศบค.ต้องแถลงข่าวทุกวันเพื่อได้แจ้งข้อเท็จจริง แต่ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงแต่อย่างใด เพราะตอนนี้เราเพิ่งประกาศเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง ซึ่งทุกคนยังต้องการปรับตัว ยังต้องใช้เวลาดูแลตัวเอง ถ้าทำแล้วตัวเลขติดเชื้อใหม่ลดลง มาตรการอื่นๆ ไม่ต้องมี แต่ถ้าตัวเลขยังเพิ่มขึ้น แสดงว่ามาตรการยังไม่เพียงพอ ถึงตรงนั้นอาจปรับเพิ่ม ที่มีการแชร์เอกสารออกไป คงมีการไปเชื่อมโยงกับประกาศปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านชี้แจงว่าเจตนาคือต้องการสื่อสารไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อแปลงจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ท่านใช้คำว่าเตรียมการเพื่อยกระดับ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยธรรมดา ยังไม่ได้บอกว่ายกระดับ แต่มีสื่อบางคนบางสำนักไปแปลงกันเอง
“พออ่านเอกสารราชการไม่ออกก็เป็นตุเป็นตะขึ้นมา จนเกิดผลกระทบ ทำให้คนกักตุนสินค้า เกิดความตื่นตระหนก ถือว่าไม่เหมาะไม่ควร ขอทุกคนถ้าไม่มั่นใจอย่าแชร์ เพราะการแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมีโทษ เราต้องมีเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้ฟังการแถลงของ ศบค.จะดีที่สุด” นพ.ทวีศิลป์ระบุ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการแชร์ข้อมูลรัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.ว่า เป็นเพียงข่าวปลอม แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมแผนล่วงหน้าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างดีที่สุด โดยนายกฯ ยืนยันว่ายังไม่ได้ตัดสินใจอะไร แต่ต้องเตรียมการมีแผนล่วงหน้าในเชิงรุก ทุกอย่างคือแผน เมื่อถึงกำหนดเวลาที่จะปฏิบัติ คือคำสั่งเป็นข้อกำหนดที่จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ขณะนี้ถือว่าเป็นข่าวปลอม ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนรอฟังการประกาศจากทางการจากรัฐบาลและ ศบค. รวมทั้งปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้ประกาศแล้วอย่างเคร่งครัด
นางนฤมลยังกล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาวิพากษ์ พล.อ.ประยุทธ์ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ว่าเวลานี้ไม่ใช่มาสร้างความขัดแย้งหรือเล่นเกมการเมืองอย่างที่เคยเป็นมา บ้านเมืองกำลังมีปัญหา ประชาชนกำลังเดือดร้อน หมดยุคเล่นการเมืองแล้ว ต้องช่วยประชาชนก่อน โรคโควิด-19 เป็นภัยของมนุษยชาติอย่างแท้จริง เป็นมหันตภัยระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ ที่รัฐบาลจะเอามาใช้เป็นเหตุทำรัฐประหารอย่างที่มีกล่าวหาแบบไม่มีความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่
“การที่รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพ เพราะต้องการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศไว้ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อให้พี่น้องคนไทยผ่านพ้นจุดวิกฤติตรงนี้ไปให้ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรม ในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไหร่ มาตรการทุกอย่างที่ออกมา ท่านนายกฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตความเป็นอยู่และสิทธิของพี่น้องประชาชน จึงได้ค่อยๆ ใช้มาตรการจากเบาไปแรง บนเงื่อนไขเดียวที่ท่านเน้นย้ำมาตลอด คือชีวิตและสุขภาพของประชาชนสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด”
ฝ่ายมั่นคงเอือมเฟกนิวส์
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลกับสถานการณ์การบิดเบือนข้อมูล การให้ข้อมูลอันเป็นเท็จและไม่สร้างสรรค์ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 โดยอาจเกิดจากการได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน ความไม่ตั้งใจหรืออาจมีความตั้งใจต้องการเสียดสี โทษกันไปมา สร้างความโกรธเกลียด แตกแยก และไม่พอใจกันในสังคมก็ตาม ซึ่งการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ ไม่เป็นผลดีอย่างมาก และทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ท่ามกลางความพยายามและความตั้งใจของทุกภาคส่วน ที่กำลังร่วมกันนำพาประเทศและเพื่อนร่วมชีวิตทุกคนให้สามารถฝ่าวิกฤติภัยครั้งนี้
“ฝ่ายความมั่นคงขอทำความเข้าใจร่วมกันว่า รัฐบาลยังคงระบบบริหารราชการแผ่นดินปกติ โดยการแก้ปัญหาวิกฤติโรคระบาดผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำว่า การขับเคลื่อนประเทศฝ่าวิกฤติภัยโรคระบาดครั้งนี้ เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่บนความยากลำบากของประชาชนทุกชีวิต โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนต้องหนักแน่น มีความรับผิดชอบตนเองและสังคมมากขึ้น รวมทั้งให้ความร่วมมือกันทางสังคมอย่างแรงกล้า ด้วยความเข้าใจและวางใจกัน พร้อมขอให้เชื่อมั่นในระบบงานและตัวบุคคล ทั้งข้าราชการฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อต่อสู้และผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างสวัสดิภาพ”
ขณะเดียวกัน ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ศบภ.ทบ.) ที่มี พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เป็น ผอ.ศบภ.ทบ. ได้จัดทำ “คู่มือทหารต้านภัยโควิด-19” ให้ผู้บังคับหน่วย เพื่อนำไปปฏิบัติ และนำไปแจกกำลังพล รวมถึงครอบครัวทุกค่ายทหาร ซึ่งคู่มือทหารต้านภัยโควิด-19 นี้ เป็นคู่มือการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับบุคคลฉบับแรกที่ออก โดยเนื้อหามี 6 บท ประกอบด้วย บทที่ 1 ตระหนักรู้, บทที่ 2 การป้องกันตนเอง, บทที่ 3 วินัยทหารต้านโรคโควิด-19, บทที่ 4 การเตรียมตัวออกปฏิบัติการ, บทที่ 5 อุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล และการทำความสะอาด และบทที่ 6 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกองทัพบก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |