เตือนคนรุ่นใหม่ป่วยเป็นโรคโมโนโฟเบีย หรือโรคติดโทรศัพท์มือถือ บางรายถึงขั้นเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้หากมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตหมด ชี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมทั้งปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สำรวจพบกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-24 ปีเป็นมากถึงร้อยละ 40
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในยุคที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการติดต่อสื่อสาร แต่บางกลุ่มมีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา เช่น พกติดตัว ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยแม้ไม่มีเรื่องด่วน ตื่นนอนจะเช็กโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน ติดเกม หรือในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นอาการติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) และบางรายอาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ หากไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว โทรศัพท์แบตหมด หรือว่าอยู่ในที่ไร้สัญญาณ
"อาการติดโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และสุขภาพร่างกาย เช่น เกิดนิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์หน้าจอเป็นระยะเวลานาน เกิดอาการทางสายตา เช่น ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เกิดจากเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม เกิดอาการปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า ค้อมตัวลง ส่งผลเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนานๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร และเกิดโรคอ้วนจากการไม่ลุกเดินไปไหน" พญ.พรรณพิมลกล่าว
ด้าน พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า "no mobile phone phobia ใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบเกิดในกลุ่มเยาวชน อายุ 18-24 ปี มากถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือกลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม แนวทางการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนด้วยตนเองมีหลายวิธี เช่น กำหนดช่วงเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียในแต่ละวัน, กำหนดสถานการณ์ที่จะไม่เล่นสมาร์ทโฟน เช่น ขณะเดิน กิน ก่อนนอน ตื่นนอนใหม่ๆ ขับรถ อยู่บนรถโดยสาร เรียน ทำงาน หรือแม้แต่อยู่ในห้องน้ำ ควรหากิจกรรม งานอดิเรก เล่นกีฬา กิจกรรมผ่อนคลายในครอบครัวทดแทนเวลาในการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |