พิษโควิด-19 มรสุมธุรกิจการบิน


เพิ่มเพื่อน    


    สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและต่อเนื่องไม่หยุดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 จะหดตัวลง -5.3% ซึ่ง ธปท.ได้ออกมาประเมินว่าเศรษฐกิจจะหดตัวทุกไตรมาส โดยจะเห็นได้จากตัวเลขเดือน ก.พ.เริ่มเห็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ชัดเจน ขณะที่ไตรมาส 2 จะเห็นการหดตัวลึกที่สุด จากนั้นจะหดตัวน้อยลงตามลำดับในไตรมาส 3 และ 4 หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถควบคุมได้ และมีการผลิตวัคซีนได้ภายในปีนี้ โดยจะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจมีโอกาสเป็นบวกได้ในปี 2564
    เมื่อมาดูในด้านการคมนาคมขนส่งก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะมีหลายประเทศปิดประเทศเพื่อป้องกันการลุกลาม ทำให้การเดินทางหยุดชะงัก ธุรกิจสายการบินย่อมส่งผลกระทบหนักต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่สายการบินในประเทศไทยถือว่าโดนเต็มๆ จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้มีการทยอยแจ้งปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ รวมถึงเส้นทางบินในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่มีผู้โดยสารใช้บริการ และเพื่อเป็นการยับยั้งโควิด-19 
อุตฯ การบินรายได้หาย 1 แสนล้านดอลลาร์
    ในเรื่องนี้ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ออกมาระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่อุตสาหกรรมการบินเคยเผชิญ และคาดว่าจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์ก่อการร้ายในวันที่ 11 ก.ย.2544 หรือ 9/11 เพราะขณะนี้เริ่มชัดเจนมากขึ้นแล้ว สายการบินต่างๆ ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่มันกระทบไปทั่วโลก บางรายก็ต้องประกาศล้มละลายหรือเลิกกิจการไป สำหรับในไทยนั้นจะเห็นว่าสายการบินต่างๆ ต้องพากันปรับลดต้นทุนและใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
    "ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังโควิด-19 ทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศทั่วโลกปรับตัวลดลง 14% เมื่อเดือน ก.พ. ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ขณะที่ความต้องการเดินทางในเอเชียแปซิฟิกร่วงลงถึง 41% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนซึ่งร่วงหนักถึง 84%"
    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้  IATA ได้คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก จะทำให้รายได้ของสายการบินประเภทเครื่องบินโดยสารลดลง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึง 1.13 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าจะขยายวงกว้างมากเพียงใด
หยุดบินทุกเส้นทาง
    สำหรับธุรกิจการบินในประเทศนั้น ก็มีหลายสายการบินที่ประกาศหยุดบินชั่วคราว โดยเฉพาะสายการบินไทย หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศ และระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 และโอนย้ายเที่ยวบินให้สายการบินไทยสมายล์ทำการบินแทน ด้านเที่ยวบินระหว่างประเทศหยุดทุกเส้นทาง ได้แก่ ทวีปเอเชียหยุดระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 และทวีปยุโรป ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 ไม่ว่าจะเป็น สายการบินไทยสมายล์ หยุดบินเส้นทางในประเทศ เชียงใหม่-ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 หยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563
    สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หยุดบินเส้นทางในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-กระบี่, สมุย-กระบี่, เชียงใหม่-กระบี่, เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่-ภูเก็ต, เชียงใหม่-สมุย และสมุย-เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-24 ตุลาคม 2563 เส้นทางระหว่างประเทศหยุดทำการบินทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-24 ตุลาคม2563
    สายการบินไทยแอร์เอเชีย หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศทุกเส้นทาง วันที่ 1-30 เมษายน 2563 ยกเว้นเส้นทางอู่ตะเภา-ขอนแก่น หยุดบินระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-24 ตุลาคม 2563 และหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-24 ตุลาคม 2563
    สายการบินนกแอร์ หยุดบินเส้นทางในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ-กระบี่, นครพนม, น่าน, ร้อยเอ็ด, แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2563 และหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ตั้งแต่ 31 มกราคม-25 ตุลาคม 2563
    สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ หยุดบินเส้นทางในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-30 เมษายน 2563
    สายการบินไทยเวียดเจ็ท หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ได้แก่ ประเทศจีน เดือนมกราคม-สิงหาคม 2563, ประเทศไต้หวันและเวียดนาม ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 สำหรับเส้นทางในประเทศให้เปลี่ยนเที่ยวบิน สำหรับผู้สำรองที่นั่งช่วงสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2563 และลดความถี่การทำการบินแต่ละเส้นทาง วันที่ 24 มีนาคม-3 เมษายน 2563
    สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-16 มิถุนายน 2563 และยกเลิกทำการบิน กรุงเทพฯ-บริสเบน และ สายการบินนกสกู๊ต หยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-30 เมษายน 2563


    และ สายการบินไทย หยุดทำการบินเส้นทางในประเทศทุกเส้นทาง ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 และโอนย้ายเที่ยวบินให้สายการบินไทยสมายล์ทำการบินแทน ด้านเที่ยวบินระหว่างประเทศหยุดทุกเส้นทาง ได้แก่ ทวีปเอเชียหยุดระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2563 และทวีปยุโรป ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563
ส่อล้มละลาย
    อย่างไรก็ตาม การหยุดบินของหลายๆ สายการบินนั้นก็ได้สร้างความวิตกกังวลว่าจะมีหลายสายการบิน เมื่อรายได้ไม่มี มีแต่รายจ่าย ปัญหาสภาพคล่องก็จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะสายการบินไทย ซึ่งที่ผ่านมานั้นการบินไทยมีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงินที่ขาดทุนอยู่แล้ว เมื่อมาได้รับผลกระจบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ในยุคที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี การบินไทย ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การบินไทย จำกัด กำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการประกอบการหลายประการ แม้จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้ลดลงเหลือ 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือกว่า 5.8% แต่บริษัทและบริษัทย่อยยังคงขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท
    โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7% และปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% ในขณะที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1% สูงกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% ทำให้มีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7%
    “บริษัทต้องเผชิญปัจจัยลบหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ การแข็งค่าของเงินบาทที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง การหยุดบินในบางเส้นทางจากเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน การประท้วงในฮ่องกง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในช่วงปลายปี 2562 ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วันเป็น 400 วัน รวมทั้งปัจจัยภายในคือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต”
    และในปี 25631 การบินไทยได้ดำเนินธุรกิจตามปกติได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ก็ต้องประสบวิกฤตการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค. ทำให้ต้องประกาศหยุดบินทุกเส้นทางชั่วคราวไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.เป็นอย่างน้อย แน่นนอนสิ่งที่ตามมาคือ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ โดยไม่มีรายได้จากการขายและให้บริการ
    ดังนั้นจึงมีหลายๆ ฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเลยว่า ในปี 2563 นี้ การบินไทยจะต้องประสบปัญหาขาดทุนมหาศาล และน่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน หนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมที่มีอยู่ทั้งหมด และหากไม่สามารถจ่ายคืนภาระหนี้สินได้ตามกำหนด สิ่งที่ตามมาคือการเข้าสู่สภาพล้มละลาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"