“สงกรานต์” เป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยสันนิษฐานว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังท้องถิ่นต่างๆ ได้แก่ ลาว เขมร เมียนมา จีน และไทย ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้ต่างไปจากเดิมบ้าง ทั้งการประกอบพิธี รูปแบบ และพฤติกรรม ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีประเพณีสงกรานต์มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ถือเอาวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ เสฐียรโกเศศสันนิษฐานว่า ไทยเรารับประเพณีขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑๓ เมษายน มาจากอินเดียฝ่ายเหนือ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ตรงกับการเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ หรือที่เรียกว่าฤดูวสันต์ของอินเดีย จัดเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขา เพราะเป็นช่วงที่อากาศไม่หนาวจัด ต้นไม้ผลิใบให้ความสดชื่น บังเอิญช่วงเวลานี้ตรงกับช่วงเวลาที่คนไทยเราในสมัยโบราณว่างจากการทำนา จึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลองปีใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตำนานเกี่ยวกับสงกรานต์ยังมีปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปีก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ นางสงกรานต์เป็นธิดาของท้าวมหาสงกรานต์ หรือท้าวมหาพรหม มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหมซึ่งประดิษฐานอยู่ในพานแว่นฟ้า เนื่องจากท้าวกบิลพรหมแพ้พนันการตอบปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร จึงต้องตัดเศียรของตนบูชาแก่ธรรมบาลกุมาร ก่อนจะตัดเศียรท้าวกบิลพรหมได้เรียกธิดาทั้ง ๗ ซึ่งเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความร้ายทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ธิดาทั้ง ๗ จึงผลัดเปลี่ยนกันถือพานรองเศียรของท้าวกบิลพรหมไว้คนละ ๑ ปี เมื่อถึงวันสงกรานต์คนไทยสมัยก่อนสนใจที่จะรู้ชื่อนางสงกรานต์ พาหนะทรง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ คำทำนายต่างๆ เป็นการเตรียมพร้อมในการที่จะต้องเผชิญกับภาวะต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ผลิตผลและการทำมาหากินทั่วไป วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนใหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่าวันสงกรานต์มีความสำคัญ สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย
ปีใหม่ของประเทศไหนๆ ใครๆ เขาก็เฉลิมฉลองกัน อย่างมีความสุข แต่ประเทศไทยเรากลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้า เฝ้ารอการนับศพ รอดูสถิติอุบัติเหตุและความสูญเสียตลอด ๗ วันอันตราย ทั้งที่ควรจะเป็น ๗ วันแห่งความสุขใจที่ได้อยู่กับบ้านและครอบครัว ปัจจุบันการเล่นสงกรานต์เข้าข่าย “สาดเลือด แทนการสาดน้ำ” ความสุขและความสนุกสนาน ความงดงามแบบประเพณีไทยกลายเป็นความโศกเศร้าของผู้ปกครอง ตลอดจนครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และเป็นที่น่าเวทนาสำหรับผู้พบเห็นในวันปีใหม่ไทย ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยอีกด้วย พฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่อันตรายมาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น กลุ่มผู้เล่นน้ำสงกรานต์ตามจุดต่างๆ มีการปิดถนน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ภาพเหตุการณ์น่าสลดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ไทยยังมีให้พบเห็นในกลุ่มผู้เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่เล่นด้วยความรุนแรง เล่นลักษณะอนาจารล่วงละเมิดทางเพศ และดื่มสุราขณะเล่นน้ำจนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่าย นอกเหนือจากการขับรถด้วยความเร็ว ขาดสติ ประมาท ขาดวินัยจราจร และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอแล้ว น้ำเมา (เหล้าและเบียร์) ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตาย ยิ่งกว่าการทำสงครามในอิรักหรืออัฟกานิสถาน เพราะเพียงสัปดาห์เดียวมีคนต้องตายไปนับร้อยนับพันคน ส่วนคนที่เมาแล้วก็นำมาซึ่งความสูญเสีย ความรุนแรง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำอนาจารลวนลามหญิงสาว รวมทั้งเหตุทะเลาะวิวาทยกพวกตีกันแทงกัน ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น
แต่ก็แปลก ทั้งๆ ที่เทศกาลนี้มีการควบคุมการดื่มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างจริงจังมากขึ้น มีการสร้างและกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างรอบด้าน แต่สถิติผู้เสียชีวิตจากเทศกาลสงกรานต์ก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือว่ามาตรการต่างๆ เหล่านั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการทำกำไรที่มากที่สุดของบรรดาพ่อค้าธุรกิจน้ำเมา ที่เอาความตายของลูกหลานมาแลกกับยอดขายที่เป็นกอบเป็นกำ และทิ้งภาวะด้านสังคมไว้ให้คนไทยแก้ไขกันเอง.
รังสรรค์ ปู่ทอง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |