องค์กรด้านอวกาศของจีนคาด ห้องทดลองอวกาศเทียนกง 1 ที่สูญเสียการควบคุมจะกลายสภาพเป็นลูกไฟเจิดจรัสบนท้องฟ้าเหมือนฝนดาวตก เมื่อมันถูกเผาไหม้แตกกระจายขณะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกภายในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน ด้วยความเร็วมากกว่า 26,000 กม./ชม. แต่จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
แฟ้มภาพวันที่ 24 มิถุุนายน 2555 เจ้าหน้าที่เทคนิคของจีนที่ศูนย์อวกาสจิ่วกวนเฝ้าจับตายานเสิ่นโจว 9 เตรียมเชื่อมต่อกับโมดูลเทียนกง 1 ภาพ STR / AFP
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2561 อ้างแถลงการณ์ของสำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งชาติจีนว่า คาดว่าสถานีอวกาศเทียนกง 1 ซึ่งเป็นห้องทดลองอวกาศขนาดเล็กมีน้ำหนักประมาณ 8 ตันลำนี้ จะดิ่งสู่โลกอย่างไร้การควบคุมในวันจันทร์ที่ 2 เมษายน ตามเวลาของกรุงปักกิ่ง
การคาดเดาขององค์การด้านอวกาศของจีนแห่งนี้ใกล้เคียงกับการคาดเดาของสำนักงานอวกาศยุโรป (อีซา)
เจ้าหน้าที่ของจีนเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า แล็บอวกาศลำนี้ไม่น่าจะสร้างความเสียหายเมื่อมันตกลงมาสู่โลก แต่การแตกระเบิดเป็นลูกไฟจะเป็นภาพที่ "เจิดจรัส" แบบเดียวกับฝนดาวตก
อีซาทำนายไว้เมื่อหลายวันก่อนว่า หน้าต่างของการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกยังมีความผันแปรสูง และเศษซากที่เหลือจากการเผาไหม้ของแล็บอวกาศลำนี้สามารถตกสู่พื้นโลกภายในเส้นขนานที่ 43 องศาเหนือ เรื่อยมาถึงเส้นขนานที่ 43 องศาใต้ หรือตั้งแต่นิวซีแลนด์ไปจนถึงเขตมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกา
องค์การด้านการบินอวกาศของจีนกล่าวผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย "วีแชต" ขององค์การก่อนหน้านี้ด้วยว่า ผู้คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล การตกลงมาของยานอวกาศแบบนี้จะ "ไม่ตกกระแทกพื้นโลกอย่างรุนแรงเหมือนในหนังไซไฟ แต่จะกลายเป็นภาพเจิดจรัส (แบบฝนดาวตก) และเคลื่อนผ่านท้องฟ้าที่ดาราพร่างพรายสวยงามเมื่อมันพุ่งลงสู่พื้นโลก"
จีนส่งเทียนกง 1 หรือ "วังสวรรค์" ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนกันยายน 2554 ความสำเร็จครั้งนั้นเป็นก้าวสำคัญของความพยายามสร้างสถานีอวกาศของจีนเอง เจตนาเริ่มแรกของใช้งานโมดูลอวกาศลำนี้ ซึ่งใช้สำหรับการฝึกฝนเทคนิคการเทียบท่าที่ซับซ้อนทั้งแบบมนุษย์บังคับและแบบอัตโนมัติ กำหนดอายุใช้งานไว้เพียง 2 ปี แต่เทียนกง 1 กลับสามารถใช้งานได้นานกว่ากำหนดหลายปี
อย่างไรก็ดี เทียนกง 1 หยุดทำงานลงเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ทำให้จีนไม่สามารถควบคุมกลับกลับสู่โลกได้ตามที่คาดไว้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ที่หลงใหลด้านอวกาศพากันเฝ้ารอการตกสู่โลกและเผาไหม้เป็นลูกไฟของแล็บอวกาศลำนี้
ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่เทียนกง 1 ยังทำหน้าที่ของมันในวงโคจร นักบินอวกาศของจีนหลายคนได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนหลายครั้ง เพื่อทำการทดลอง หรือแม้แต่สอนหนังสือเด็กนักเรียนที่มีการถ่ายทอดไปยังโรงเรียนทั่วประเทศจีน
รัฐบาลจีนเริ่มโครงการการบินอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเมื่อปี 2533 ภายหลังซื้อเทคโนโลยีจากรัสเซีย จนทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ในโลก ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ ต่อจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐ
จีนยังได้ส่งแล็บ เทียนกง 2 ขึ้นสู่วงโคจรอีกลำเมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยเป็นความคืบหน้าอีกก้าวสำคัญเพื่อสู่เป้าหมายของการมีสถานีอวกาศที่มีมนุษย์ประจำ ภายในปี 2565 จีนยังมีแผนจะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในอนาคตด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |