เหตุ (ที่ไม่ควร) เกิดที่สุวรรณภูมิ


เพิ่มเพื่อน    

 

            เรื่องราวของความโกลาหลที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จนต้องมีคำประกาศจากศูนย์บริหารโควิด-19 (ศบค.) เมื่อเช้าวันเสาร์ ให้คนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ 158 คนรายงานตัวภายใน  18.00 น.ของวันเดียวกัน เป็นกรณีที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย!

                ล่าสุดเมื่อเช้าวานนี้ ได้รับการยืนยันจากรองโฆษกตำรวจว่าทั้ง 158 คนมารายงานตัวครบแล้ว

                หากทีมงาน Emergency Operation Center (EOC) ที่สนามบินมีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพทำงานในช่วงวิกฤติ ก็ไม่ควรจะเกิดเรื่องเช่นนี้ได้

                การที่ต้องประกาศเรียกผู้โดยสารคนไทยมารายงานตัวอย่างเร่งด่วน ก็เป็นเพราะคนกลุ่มนี้ "หลุด"  ออกจากสนามบินไปได้

                คำถามใหญ่ก็คือว่า พวกเขาและเธอกลุ่มนี้หลุดออกจากการควบคุมดูแลได้อย่างไร?

                เหตุผลก็เป็นเพราะทีมงานฉุกเฉินที่ว่านี้ไม่ใช้ข้อมูลในการทำงาน ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า และไม่สามารถสื่อสารกับผู้โดยสารคนไทยที่มาจากต่างประเทศในหลายเที่ยวบิน

                ความสับสนจากที่ผู้บริการทีมฉุกเฉินวันนั้นคนหนึ่งไม่เข้าใจคำสั่งของ ศบค.เองว่า ทุกคนที่กลับมาจะต้องเข้าสู่การกักตัวที่ทางการจัดสถานที่ให้ 14 วันโดยไม่มีข้อยกเว้น เขาเรียกว่า state quarantine  ไม่ใช่ self-quarantine

                ตามข้อมูลที่ผู้โดยสารบางคนบอกกับนักข่าวนั้น เมื่อมีคนไทยบางคนในกลุ่มนั้นอ้างว่าไม่รู้ว่ามีกฎเรื่องจะต้องถูกกัก 14 วัน ณ สถานที่ที่ทางการกำหนดที่เรียกว่า state quarantine เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในเหตุการณ์ก็บอกว่าให้ญาติมารับกลับบ้านได้

                มีคลิปเสียงที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งประกาศว่า "ผู้ใหญ่อนุญาตให้ท่านกลับบ้านได้"

                นั่นเป็นที่มาของความโกลาหล

                เท่ากับว่า "ผู้ใหญ่" สามารถยกเว้นให้คนบางกลุ่มไม่ต้องทำตามคำสั่งของ ศบค.ก็ได้

                จึงเกิดความสับสนอลหม่านขึ้นทันที

                ความจริงทีม EOC ควรจะต้องมีข้อมูลของทุกเที่ยวบินที่จะร่อนลงที่สนามบิน พร้อมรายชื่อของผู้โดยสาร และรายละเอียดว่ามีเอกสารจากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ อย่างไรบ้าง

                ที่สำคัญคือเมื่อมีคำสั่งของ ศบค.หลายฉบับที่เหลื่อมเวลากันอยู่ ก็ย่อมจะต้องมีกลุ่มคนไทยที่กำลังเดินทางกลับที่อยู่ใน "รอยต่อ"

                เป็นช่วงเหลื่อมกันระหว่างคำสั่งเดิมกับคำสั่งใหม่ที่ให้ "ชะลอ" การกลับบ้านของคนไทย (รวมถึงต่างชาติ) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน ถึง 15 เมษายน 2563

                เมื่อเป็น "รอยต่อ" ก็ย่อมจะต้องมีความเข้าใจที่ต่างกันระหว่างผู้โดยสารกับเจ้าหน้าที่

                เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องรู้ว่า ใครคนไหนได้รับเอกสารจากสถานทูตและสถานกงสุลไทยก่อนคำสั่งใหม่ และดำเนินการตามเนื้อหาที่แตกต่างกัน

                แต่ที่แน่ชัดไม่ว่าจะเป็นกรณีก่อนรอยต่อหรือหลังรอยต่อ ก็คือว่าทุกคนที่เข้าประเทศไทยจะต้องถูกกักตัว "ณ สถานที่ที่หน่วยงานของรัฐกำหนด" ไม่ใช่กักตัวเองที่บ้าน!

                หากเจ้าหน้าที่ EOC มีความแม่นยำและชัดเจนในการทำหน้าที่ของตน ก็จะไม่สื่อสารสับสนตั้งแต่ต้นจนเกิดการโต้แย้ง ถกเถียง และมีบางกลุ่มถูกกล่าวหาว่า "หลบหนี" ออกไปจากสนามบินได้

                กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์หลังจากมีการกล่าวหาว่ากระทรวงได้ "ฝ่าฝืน" คำสั่งนายกฯ ด้วยการออกเอกสารให้คนไทยในต่างประเทศกลับไทยได้ หลังจากมีการเลื่อนการให้กลับเข้าไทยไปวันที่ 15 เมษายนว่าอย่างนี้

                "นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิเสธรายงานข่าวที่ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยออกเอกสารให้คนเดินทางเข้าประเทศ หลังจากที่มีการประกาศชะลอการเลื่อนการเข้าไทยไปถึง 15 เมษายน 2563

                นายเชิดเกียรติกล่าวว่า เมื่อมีประกาศให้ชะลอการเดินทางเข้าประเทศของคนไทย เมื่อวันที่ 2  เมษายน 2563 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยได้หยุดรับลงทะเบียนออกหนังสือรับรองเพื่อเดินทางกลับทุกช่องทาง รวมทั้งปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ของกระทรวงการต่างประเทศ  นอกจากนี้ ได้ขอให้คนไทยเคร่งครัดในการหาใบรับรองแพทย์ fit to fly ที่มีอายุไม่เกิน 72 ชม.ก่อนเดินทางกลับ ตามข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

                กลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางกลับเข้ามาตามรายงานข่าว คือกลุ่มในช่วงรอยต่อ ซึ่งยังเดินทางขึ้นเครื่องเข้ามาได้เพราะมีหนังสือรับรองและใบรับรองแพทย์ fit to fly อายุ 72 ชม. ที่ออกก่อนหน้าจะมีประกาศให้ชะลอการเดินทาง" นายเชิดเกียรติกล่าว

                โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ในเรื่องกักกันเฝ้าระวังโรค หลายสถานทูตได้ระบุในประกาศของสถานทูตด้วยแล้วว่า หากกลับมาในช่วงนี้จะถูกกักกันตัวในทุกกรณี ในสถานที่ที่หน่วยงานของรัฐกำหนด 14 วัน ดังนั้น รายงานข่าวที่ว่ากระทรวงการต่างประเทศฝ่าฝืนคำสั่งนายกรัฐมนตรี จึงไม่เป็นความจริง"

                เหตุการณ์น่างุนงงเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วก่อนหน้านั้น กับกรณีคนงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้ (ส่วนหนึ่งที่เรียกกันว่า "ผีน้อย" เพราะเคยแอบเข้าทำงานโดยผิดกฎหมายและได้รับนิรโทษกรรม)

                เนื่องจากการขาดประสิทธิภาพและการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทีม EOC ที่สนามบินเช่นกัน จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่ง "หลุด" ออกจากสนามบินและเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ จนต่อมากลายเป็นประเด็นใหญ่เพราะไปแพร่เชื้อไวรัสเหมือนกัน

                นี่คือวิกฤติ นี่คือสงคราม การไม่ทำงานบนฐานข้อมูล ความไม่ตื่นตัวตลอดเวลา การไม่วางแผนป้องกันความผิดพลาด ปล่อยให้มีรอยรั่วไหลที่เป็นอันตราย จึงเป็นเหตุที่ทำให้เราแพ้สงครามได้

                แม้ทั้ง 158 คนจะมารายงานตัวครบทุกคน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาได้ไปแพร่เชื้อให้ใครที่ไหนบ้างแล้วในช่วง 24 ชั่วโมงที่ "หลุด" ออกไปจากการกักตัว?

                ผิดนั้นผิดได้...แต่ผิดซ้ำซาก...เป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"