ตำรวจออสเตรเลียเปิดสอบสวนคดีอาญากรณีที่เรือสำราญรูบีปรินเซสเข้าเทียบท่าปล่อยผู้โดยสารหลายพันคนลงจากเรือเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งที่บนเรือมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งต่อมา 10 คนล้มป่วยเสียชีวิต
เรือสำราญรูบีปรินเซสเทียบท่าที่โอเวอร์ซีส์แพนเซนเจอร์เทอร์มินัล นครซิดนีย์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม หนึ่งวันหลังนายกฯ สกอต มอร์ริสัน ประกาศห้ามเรือสำราญระหว่างประเทศเทียบท่าออสเตรเลีย
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2563 กล่าวว่า ผู้โดยสาร 2,700 คนของเรือรูบีปรินเซสที่มีบริษัท คาร์นิวัลออสเตรเลียเป็นเจ้าของ ได้รับอนุญาตให้ลงจากเรือที่นครซิดนีย์เมื่อเดือนที่แล้ว และพากันเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตน ทั้งที่รัฐบาลออสเตรเลียมีคำสั่งห้ามเรือสำราญทุกลำเข้าเทียบท่าออสเตรเลียเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น
เมื่อวันอาทิตย์ มิค ฟุลเลอร์ ผู้บัญชาการตำรวจรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า ผู้ดำเนินการเรือลำนี้จะถูกสอบสวนคดีอาญาฐานต้องสงสัยว่าแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพบนเรือ เช่นคนไข้ที่ป่วยและสุขภาพของลูกเรือ ต่อเจ้าหน้าที่ทางการและตามที่กฎหมายบังคับ โดยคลาดเคลื่อนจากความจริง
"ใบอนุญาตระหว่างประเทศเพื่อเข้าท่าเรือนั้นอยู่บนคำรับประกันจากกัปตันเรือต่อเจ้าหน้าที่ทางการว่า เรือลำนี้ปลอดจากโรคติดต่อทางสัมผัส" คำแถลงกล่าว
รายงานกล่าวว่า เมื่อเรือทอดสมอที่อ่าวซิดนีย์ในเดือนที่แล้ว ผู้โดยสารบางคนบนเรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ต่อมาพบว่ามีหลายร้อยคนบนเรือลำนี้ติดเชื้อโควิด-19 และมีคนเสียชีวิตแล้วถึงขณะนี้ 10 ราย ซึ่งรวมถึง 3 รายที่เสียชีวิตในรัฐนิวเซาท์เวลส์เมื่อคืนที่ผ่านมา ปัจจุบันเรือลำนี้ยังคงทอดสมอนอกชายฝั่งซิดนีย์พร้อมลูกเรือราว 200 คนที่มีอาการติดเชื้อ
ฟุลเลอร์กล่าวว่า การสอบสวนเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะชี้ชัดว่ามีการละเมิดกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศ หรือกฎหมายระดับรัฐ หรือไม่
ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญในประเทศหลายคนเรียกเรือสำราญพวกนี้ว่า "เรือมรณะ" และเมื่อปลายเดือนที่แล้ว มาร์ก แม็กโกแวน มุขมนตรีรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เคยเรียกร้องให้กองทัพเรือเข้าสกัดกั้นเรือสำราญจากเยอรมนีลำหนึ่งไม่ให้เข้าฝั่ง ภายหลังพบคนบนเรือหลายรายติดโควิด-19
ฟุลเลอร์กล่าวว่า ตำรวจต้องการตรวจสอบปูมเรือ และบริษัทคาร์นิวัลก็เสนอให้ความร่วมมือกับการสอบสวน
ถึงบ่ายวันอาทิตย์ ออสเตรเลียมีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้แล้ว 5,687 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 139 คนส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 34 ราย ผู้ติดเชื้อเกือบ 10% มาจากเรือสำราญหลายลำที่เทียบท่าในประเทศ
เบรนแดน เมอร์ฟี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่รัฐบาล แถลงว่า อัตราการติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นไม่ถึง 5% หรือราว 1 ใน 5 ของตัวเลขเมื่อกลางเดือนมีนาคม เราจึงมั่นใจมากขึ้นว่า หากประชาชนปฏิบัติตามที่ภาครัฐร้องขอ เช่นการเว้นระยะห่าง ก็เชื่อว่าจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบในหลายประเทศทั่วโลกได้
ออสเตรเลียใช้มาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานหากไม่จำเป็น และจำกัดการรวมตัวกันในที่สาธารณะไม่ให้เกิน 2 คน ทั้งยังปิดพรมแดนระหว่างรัฐ ปิดร้านอาหาร, คลับ, สวนสาธารณะและสถานที่ออกกำลังกาย
หลายรัฐให้อำนาจตำรวจในการบังคับใช้กฎระเบียบ โดยสามารถปรับเงินก้อนโตและอาจส่งผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการกักกันโรคเข้าคุก ข้อมูลของทางการเผยว่า ถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา ตำรวจรัฐวิกตอเรียสั่งปรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎการเว้นระยะห่างแล้ว 142 ราย
เกร็ก ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวไว้เมื่อสุดสัปดาห์ว่า แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ชาวออสเตรเลียยังคงต้องใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไปอีกราว 6 เดือน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |