วันที่ 21 เมษายน 2563 นี้จะครบรอบ 238 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ การได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ศึกษาพระราชกรณียกิจนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ที่นำพากรุงรัตนโกสินทร์ หรือ “กรุงเทพมหานคร” ให้เจริญรุ่งเรืองมาอย่างต่อเนื่อง เกิดสันติสุขมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อความรุ่งเรืองไพบูลย์เป็นปึกแผ่นมั่นคงของชาติบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมให้มีการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในโอกาสครบรอบ 238 ปีครั้งนี้
ด้วยพระราชวิสัยทัศน์ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่ตั้งของราชธานีที่มีความสำคัญเหมาะสมในการติดต่อค้าขาย และอยู่อาศัย จึงทำให้มีกลุ่มคนมากมายหลายเชื้อชาติที่เป็นชุมชนที่ตั้งรกรากมาแต่เดิม และที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยบนผืนแผ่นดินไทย มาเป็นแรงงาน ประกอบกิจการค้าขาย เป็นกำลังสร้างเศรษฐกิจของพระนครให้เจริญรุ่งเรือง ผ่านพ้นมรสุมทางเศรษฐกิจมาได้ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติมาถึงปัจจุบันนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” นอกจากนั้นทรงสถาปนา บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก วางระบบกฎหมาย บ้านเมือง เป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรือง
ในช่วงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระปรีชาสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมหลายแขนง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีจำนวนมาก ยุคนี้ยกให้เป็นยุคทองของวรรณกรรม พระราชกรณียกิจเพื่อวัฒนธรรม ถือว่าสำคัญมาก ในฐานะที่ไทยเป็นชาติที่ร่ำรวยวัฒนธรรม เหตุนี้ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยกย่องพระเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวรรณกรรม และชาวไทยยกย่องวันพระบรมราชสมภพ เป็นวัน “ศิลปินแห่งชาติ”
กรุงเทพฯ ในเวลาต่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรื่องราวพระปรีชาสามารถในการพาณิชย์ ทรงทำการค้าขายกับ ต่างประเทศ ทรงได้รับการยกย่องเป็น “เจ้าสัว” มีพระราชทรัพย์เก็บรักษาไว้ในพระคลังข้างที่จำนวนมาก เรียกกันต่อมาว่า “เงินถุงแดง” ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมากเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ทรงให้มีการจารึกรวมรวบตำราการแพทย์แผนไทย รวมถึงการนวดแผนไทย มรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดมาปัจจุบัน นำมาซึ่งยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติปีที่ผ่านมา ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” และ “พระบิดาแห่งการค้าไทย”
เข้าสู่รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายด้วยการผ่อนปรนพาบ้านเมืองอยู่รอด ทรงรับอารยธรรมตะวันตก ปรับปรุงขนบธรรมเนียมให้ทันสมัย เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่า ประเทศไทยมีอารยะ เป็นใบเบิกทางไปสู่ต่างประเทศ ทรงได้รับยกย่องพระเกียรติคุณเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระอัจฉริยภาพประจักษ์ไปทั่วโลกด้วยทรงคำนวณวันเวลา และสถานที่เกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ
กรุงรัตนโกสินทร์เจริญก้าวหน้าภายใต้พระบรมราชจักรีวงศ์อย่างต่อเนื่อง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดา ระหว่างทรงดำรงสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงปฏิรูปการปกครองเป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม พัฒนาประเทศในทุกด้านทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การศึกษา การทหาร การสาธารณสุข และสาธารณูปโภค ทรงเลิกทาส ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “สมเด็จพระปิยมหาราช” พระราโชบายของในหลวง รัชกาลที่ 5 ในการเสด็จประพาสยุโรป เพื่อธำรงรักษาอธิปไตยของชาติให้รอดพ้นจากการรุกรานของชาตินักล่าอาณานิคม
พระราชกรณียกิจทางการทูตล้วนเป็นคุณูปการและพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ต่อประเทศไทย พระราชกรณียกิจสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ล้วนสำคัญยิ่งต่อการหลอมรวมให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางความเจริญและระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |