ติดโควิดเพิ่ม89 เสียชีวิตอีก1คน


เพิ่มเพื่อน    

 

แนวโน้มค่อนข้างดี! "ศบค." เผยคนไทยติดเชื้อโควิดรายวันเพิ่มไม่ถึงร้อย 4 เม.ย. พบเพียง 89 ราย เสียชีวิต อีก 1 นายกฯ ขอบคุณประชาชนให้ความร่วมมือหลังผ่านเคอร์ฟิววันแรก ขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยใน กทม.และต่างจังหวัดเท่ากัน หรือเสี่ยงเท่าๆ กันแล้ว
         เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 เมษายน ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ยอดผู้ติดเชื้อสะสมขณะนี้ 2,067 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 89 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดเสียชีวิตสะสม 20 ราย หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่มอีก 31 ราย รวมยอดหายป่วยสะสม 612 ราย 
    สำหรับผู้เสียชีวิตที่เพิ่ม เป็นคนไทย อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รักษาตัวที่ รพ. รัฐ ได้ติดตามอาการตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. และมาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 เม.ย.
         โฆษก ศบค.กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 89 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 33 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 2 ราย กลุ่มสถานบันเทิง 2 ราย กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน 29 ราย 
    2.ผู้ป่วยรายใหม่ 48 ราย ได้แก่ คนไทยกลับจากต่างประเทศ 18 ราย คนต่างชาติเข้ามา 3 ราย กลุ่มสัมผัสเดินทางต่างประเทศ 7 ราย กลุ่มไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 5 ราย กลุ่มอาชีพเสี่ยง ทำงานที่แออัด ใกล้ชิดนักท่องเที่ยว 12 ราย กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข 3 ราย และ 3.อยู่สอบสวนโรคจำนวน 8 ราย
       โฆษก ศบค.เผยว่า ขณะนี้สัดส่วนผู้ป่วยใน กทม.และต่างจังหวัดเท่ากัน หรือเสี่ยงเท่าๆ กัน หวังว่าการประกาศเคอร์ฟิวจะมีส่วนให้เรามีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขให้น้อยลงไป สำหรับผู้ป่วยสะสม 2,067 ราย กระจายใน 64 จังหวัด โดย กทม.สูงสุด 980 ราย, นนทบุรี 128 ราย, ภูเก็ต 103 ราย เป็นต้น 
    เขาเผยว่าจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยลดลงจาก 15 จังหวัดเหลือ 13 จังหวัด แสดงว่ามีจังหวัดใหม่เกิดขึ้น โดย 13 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สกลนคร สตูล สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และอ่างทอง ขอให้จังหวัดเหล่านี้คงไว้ให้นานที่สุด ส่วนรายใหม่ที่เกิดขึ้นวันนี้ เกิดที่ กทม. 31 ราย, นนทบุรี 13 ราย, ภูเก็ต 8 ราย เป็นต้น แม้วันนี้ตัวเลขลงมา 2 หลัก แต่ก็ยังไม่น่าพึงพอใจ ขอให้จังหวัดต่างๆ ร่วมกันไม่ให้เกิดเชื้อรายใหม่ให้ได้
         ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังมีคนบางกลุ่มพยายามส่งต่อข้อมูลว่า การติดโควิด-19 ไม่มีอะไรน่ากลัว หายแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การระบาดนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่อาการจะไม่หนัก เช่น ข้อมูลจากจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการระบาดนั้น พบว่าผู้ป่วยประมาณ 15% ต้องอยู่โรงพยาบาล และประมาณ 5% ต้องรักษาตัวอยู่ไอซียู แต่ปัญหาใหญ่ของโควิด-19 ไม่ได้อยู่ที่กลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก หรือแสดงอาการไม่มาก แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หากเกิดการระบาดมาก จะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
    ศ.นพ.ประกิตกล่าวต่อว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เชื้อไวรัสชนิดนี้รุนแรงมากขึ้นคือการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีรายงานจากวารสารการแพทย์จีนระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการทรุดหนักรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า การสูบบุหรี่จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงโดยการไม่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ ซึ่งที่ไทยมีการพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากการเที่ยวผับ บาร์ จากพฤติกรรมการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน และดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทยอย่างมาก มีความพยายามรณรงค์ให้ผู้ที่สูบบุหรี่พยายามเลิกบุหรี่ให้ได้
    “ระบบการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากๆ ในเวลาเดียวกันได้ เนื่องจากเตียงในห้องไอซียูมีไม่พอ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ เหล่านี้อาจส่งผลต่อคนไข้อาการหนักอื่นๆ ที่ต้องเข้าอยู่ในห้องไอซียู เช่น หัวใจวายเฉียบพลันที่ต้องการการรักษาในห้องไอซียู ก็จะไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเหล่านี้ และจะเสียชีวิตในชีวิตสุด หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้การรักษาผู้ป่วยหนักก็จะมีไม่เพียงพอ” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องมาประสานงานเป็นประจำที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ติดเชื้อโควิด-19 และเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ประสานงานกับศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ติดโรคโควิด-19 ด้วยเช่นกันนั้น ซึ่งเป็นผลทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิด ต้องกักตัวเฝ้าระวังการติดเชื้อ โดยจากผลตรวจเจ้าหน้าที่เบื้องต้นจากชุดตรวจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้ผลเป็นบวกหลายราย ซึ่งจะต้องมีการไปตรวจซ้ำอย่างถูกต้องอีกครั้ง และเป็นเหตุให้ต้องมีการพ่นยาฆ่าเชื้อภายในตึกสันติไมตรีและตึกสำคัญๆ ในทำเนียบรัฐบาลบ่อยขึ้น จากเดิมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง 
    และล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการย้ายศูนย์ ศบค.ไปอยู่ที่ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบฯ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลดความแออัดของจำนวนผู้มาปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล รวมถึงทีมงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มีความเป็นห่วงที่จะต้องมาประชุมที่ตึกสันติไมตรีเกือบทุกวันด้วย ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างเสี่ยง 
    นอกจากนี้ การประชุมที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาจจะเปลี่ยนมาใช้รูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 7 เม.ย.นี้ นายกฯ จะใช้รูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เช่นเดิม โดยนั่งประชุมที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 เชื่อมสัญญาณไปยังรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง และหากจะมีการประชุม ครม.รูปแบบเต็มคณะภายในทำเนียบฯ ก็จะใช้ตึกสันติไมตรี  โดยนั่งเว้นระยะห่าง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ 
    อย่างไรก็ตาม จากที่มีรายงานข่าวว่าเช้าวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมด่วนหลังเกิดเหตุการณ์ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้น แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่เป็นความจริง นายกรัฐมนตรีไม่ได้เรียกประชุมแต่อย่างใด เพราะได้มอบหมายการปฏิบัติหน้าที่ให้แต่ละส่วนได้ทำงานโดยมีอำนาจอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าบุคคลที่ปล่อยข่าวออกนั้นต้องการสร้างความขัดแย้งหรือปัดความรับผิดชอบของบางหน่วยงานหรือไม่
    ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้นายกฯ ยังไม่ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานใดตามที่มีกระแสข่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ นายกฯ จะเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรายงานว่าเป็นการเรียกประชุมวงเล็ก เพื่อติดตามสถานการณ์และรับทราบมาตรการโควิด-19 ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้เคอร์ฟิว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"