ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษแบบมาร่วมประชุมเต็มคณะ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา เป็นไปตามคาด เพราะที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการเศรษฐกิจเพื่อ เยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เฟสที่ 3 ที่สำคัญออกมา นั่นก็คือ การเห็นชอบให้มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 3 ฉบับ ที่คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาที่ถือเป็นเฟสที่ 3 แล้วหลังก่อนหน้านี้รัฐบาลออกนโยบายมาแล้วหลายอย่าง เช่น การให้ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในวิกฤติโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท แต่เมื่อวิกฤติยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย จึงทำให้รัฐบาลต้องออกนโยบาย-มาตรการในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ออกมาต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การออกมาตรการเพื่อต่อท่อออกซิเจนให้ผู้ประกอบการที่สายป่านไม่ยาว จำเป็นต้องพึ่งพากระแสเงินสดหมุนเวียนในการทำกิจการให้ยังมีลมหายใจอยู่ต่อไปได้ในช่วงวิกฤติรุมเร้า จะได้ไม่เกิดปัญหาที่สร้างผลกระทบตามมาอีกหลายอย่าง เช่น การเลิกกิจการ-การเลิกจ้างแรงงาน
ผลการประชุมดังกล่าวมีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ" สรุปประเด็นได้ว่า ครม.ได้ประชุมร่วมกับ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนได้ข้อสรุปเป็นมติ ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ แบ่งเป็น 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนครบกำหนด 3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
"สมคิด-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ" ให้ข้อมูลว่า มาตรการทางการคลังทั้งหมดใน "แพ็กเกจเฟส 3 รับมือวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เบื้องต้นจะใช้วงเงินรวมประมาณ 10% ต่อจีดีพี โดยการออก พ.ร.ก.กู้เงินของกระทรวงการคลัง จะไม่ได้กู้เต็มวงเงิน 10% ต่อจีดีพี เพราะจะต้องไปคุยกับสำนักงบประมาณก่อนว่าจะตัดงบประมาณของทุกหน่วยงานมาได้เท่าไร โดยงบที่ตัดออกมาครั้งนี้จะไม่ไปยุงกับเงินเดือนค่าจ้างที่เป็นรายจ่ายประจำ ดังนั้นในเบื้องต้นจะไปดูงบที่เกี่ยวข้อง เช่น งบตามยุทธศาสตร์ และการชำระหนี้ต่างๆ ของกระทรวงการคลัง เมื่อได้ตัวเลขที่ชัดเจนจึงออก พ.ร.ก.กู้เงินอีกครั้ง
“วงเงินที่ออกมาจะใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ที่เขานำมาดูแลเรื่องโควิด คือ 10% ของจีดีพี อาจจะมากกว่านั้น หรือน้อยกว่านั้นก็ไม่มาก เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า มาตรการจะครอบคลุมทั้งการดูแลประชาชน ภาคธุรกิจ” สมคิดสรุปสาระสำคัญไว้
ขณะที่ "วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย" ให้ข้อมูลว่า ธปท.เตรียมเสนอมาตรการต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการวันที่ 7 เมษายน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย 4 มาตรการ
ประกอบด้วย 1.การออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำโครงการซอฟต์โลนพิเศษโดยตรงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเงินของ ธปท.เอง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโครงการสินเชื่อของธนาคารออมสินที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เพื่อช่วยเอสเอ็มอี เหลือรายที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและดูแลให้ธุรกิจก้าวข้ามสถานการณ์วิกฤติไปได้
2.การออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำมาตรการสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้เอกชน เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวจะให้อำนาจ ธปท.สามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระตราสารเดิม เฉพาะตราสารของบริษัทที่มีคุณภาพดี โดยจะต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่เติมเต็มให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ
3.การออกมาตรการขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งตามกำหนดเดิมเดือนสิงหาคม 2563 วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดลงจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากเสนอให้ยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี เพื่อยังคงให้คุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาทต่อไปถึงเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อช่วยลดความกังวลของประชาชน
4.ธปท.จะให้สถาบันการเงินลดการนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จากเดิมอัตรา 0.46% จะลงเหลือ 0.23% ในระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบสรุปรายงานแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่พบว่า หน่วยรับงบประมาณที่ก็คือ หน่วยงานรัฐ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ภายใต้แผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ จำนวนทั้งสิ้น 644,181.4081 ล้านบาท โดยมีหน่วยรับงบประมาณกำหนดแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการดังกล่าว จำนวน 158 หน่วยงาน จำนวนทั้งสิ้น 8,455.6587 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.31 ของวงเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายและก่อหนี้ เพื่อนำไปใช้บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
ประเมินได้ว่า มาตรการช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการที่รัฐบาลจะเข็นออกมาคงไม่มีแค่นี้ และน่าจะมีชุดใหญ่ออกมาอีก หากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่คลี่คลายภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้
เพราะแม้ต่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศจะลดลง แต่สถานการณ์ทุกอย่างใช่ว่าจะดีขึ้นภายในเร็ววัน คาดกันว่าต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าทุกอย่างจะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยกลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่เมื่อเป็นเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างกับประชาชนทุกกลุ่มแน่นอน
การรับมือกับวิกฤติรอบนี้ โดยเฉพาะการเข็นมาตรการต่างๆ ออกมาของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและประคับประคองให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเดินต่อไปได้ จึงเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ-ไอเดียของ 2 คีย์แมนสำคัญในภาครัฐ ที่จะเป็นขุนพลหลักของรัฐบาลและภาครัฐในการทำสงครามไวรัสรอบนี้ นั่นก็คือ
"สมคิด-รองนายกฯ" และ "วิรไท ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ"
โดยหากทั้งสมคิด-วิรไทวางแผนรับมือทุกอย่างได้ดี ผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำให้ผลกระทบรอบนี้มีคนเจ็บตัวน้อยที่สุด ก็เชื่อได้ว่า "สมคิด-วิรไท" จะถูกพูดถึงไปอีกนาน ยามเมื่อสงครามไวรัสรอบนี้จบลง แต่หากตรงกันข้าม ถ้าไม่สามารถทำได้ เครดิตของทั้ง 2 คนคงกู่ไม่กลับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |