จ่อเคอร์ฟิว24ชม. 1สัปดาห์หากติดเชื้อยังพุ่ง/วธ.แนะใช้ออนไลน์ทำกิจกรรม


เพิ่มเพื่อน    

 ศบค.เผยไทยติดเชื้อเพิ่ม 103 ราย ยอดสะสม 1,978 ตายเพิ่ม 4 รวม 19 ศพ "วิษณุ" แจงยิบข้อกำหนดเคอร์ฟิว เตือนฝ่าฝืนคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท ตจว.ให้ยึดมาตรการที่เข้มกว่าเชื่อลดแพร่เชื้อได้ โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ไม่อยากใช้ยาแรงถ้า ปชช.ให้ความร่วมมือ ประเมินมาตรการทุกวันจนครบ 1 สัปดาห์ หากตัวเลขผู้ป่วยยังพุ่งอาจเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ผบ.สสส.ออกประกาศห้ามชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุม "ตำรวจ-ทหาร" เตรียมพร้อมส่งชุดตรวจสกัดคนฝ่าฝืน เตือนศาลไม่รอการลงโทษ วธ.ประกาศงดกิจกรรมเทศกาลรวมคนหมู่มาก งาน "เช็งเม้ง-สงกรานต์" ใช้สื่อสารทางออนไลน์แทน ครม.อนุมัติหลักการบรรจุ ขรก.สธ 45,684 ตำแหน่ง บัตร 30 บาทรักษาติดเชื้อโควิดฟรี

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก เป็นวันแรกที่ทะลุ 1 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อ 1,014,296 ราย เสียชีวิต 52,298 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยหายป่วย 581 ราย ซึ่งมีคำถามว่าตัวเลขผู้หายป่วยเป็นตัวเลขจริงหรือไม่เมื่อเทียบกับผู้ป่วยสะสม 1,978 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เรากำลังจัดระบบกันอยู่ คาดว่าในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการรักษาน่าจะมีตัวเลขผู้หายป่วยมากกว่านี้ สำหรับวันนี้ (3 เม.ย.63) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 103 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย
     นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 16 เป็นชายอายุ 59 ปี เป็นพนักงานการรถไฟ ป่วยวันที่ 16 มี.ค.ด้วยอาการไข้ วันที่ 21 มี.ค.เข้ารับการรักษาและกลับไปทำงานปกติ การรักษาตอนนั้นดูเหมือนอาการน้อยมาก แต่ปรากฏว่าในวันที่ 31 มี.ค.มีอาการหนัก เหนื่อยหอบมากขึ้น จึงเข้ารักษาในโรงพยาบาลอีกครั้งและเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. รายที่ 17 เป็นชายไทย 72 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งเป็นลูกชายของผู้ป่วยที่ไปดูมวย โดยมีโรคประจำตัวคือโรคไต เริ่มป่วยวันที่ 16 มี.ค.และเสียชีวิตวันที่ 1 เม.ย. รายที่ 18 เป็นชายไทยอายุ 84 ปี ทำงานอยู่ที่สนามมวยราชดำเนิน มีโรคประจำตัวคือโรคไต  ความดันโลหิตสูง โรคเก๊า และอีกหลายโรค เข้ารับการรักษาวันที่ 26 มี.ค.และเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. รายที่ 19 เป็นชายไทยอายุ 84 ปี มีประวัติไปสนามมวยราชดำเนิน มีอาการป่วยวันที่ 14 มี.ค. เข้ารับการรักษาวันที่ 21 มี.ค. มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ รักษาที่โรงพยาบาลใน กทม.และเสียชีวิตในวันที่ 2 เม.ย.
     "ทั้งนี้ 3 ใน 4 รายของผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นผู้สูงอายุทั้งสิ้น และมีโรคประจำตัว ดังนั้นในช่วงสงกรานต์นี้ ลูกหลานถ้าเป็นลูกกตัญญูไม่ควรเข้าใกล้พ่อแม่ ตายาย ผู้สูงอายุ เพราะเขามีความเสี่ยงสูงมาก ไม่ควรรดน้ำขอพร ถ้าจะมีควรใช้แอลกอฮอล์เจลขอพรท่านน่าจะดี"
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับมาตรการชะลอการเข้าประเทศนั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.)  รายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการอนุญาตให้คนไทยจากอินโดนีเซีย 100 คน มาเลเซีย 83 คน และนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาในประเทศ โดยทางการไทยจะเตรียมพื้นที่รองรับและต้องอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อใน กทม.และต่างจังหวัดยังไม่น่าไว้วางใจ แม้จะลดน้อยลงแต่ตัวเลขยังแตะหลักร้อย ต้องจัดการโดยเร็ว นายกฯ ยังไม่พอใจ ต้องทำให้ต่ำกว่านี้ให้ได้ ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ลดลงเหลือ 14 จังหวัด และมี 15 จังหวัดไม่พบผู้ป่วยเลย ส่วนอัตราการเสียชีวิตถือว่าเราทำได้ดี มีอัตราเสียชีวิตเพียง 0.96
     ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 เน้นเรื่องของเคอร์ฟิว แต่จนถึงนาทีนี้ยืนยันว่าประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศเพราะสนามบินยังไม่ได้ปิด แต่มีการเคร่งครัดและเข้มงวดมากขึ้น และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศยังสามารถกลับมาได้เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย อีกทั้งการขนส่งสินค้าเข้าออกยังทำได้ปกติ สำหรับคนต่างประเทศที่เข้ามาเราจะเข้มงวดเป็นสองเท่า ทั้งเรื่องการตรวจใบขออนุญาต ใบรับรอง จึงขอร้องว่าให้ชะลอการเข้ามาในประเทศไทยไปก่อนอย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 เม.ย.แล้วค่อยว่ากันใหม่ แม้แต่คนไทยก็ต้องกักตัว 14 วันด้วยเช่นกัน            
ประเมินผลแล้วอาจขยายต่อ
    รองนายกฯ อธิบายว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่ห้ามบุคคลทุกคนทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. หรือรวมเวลา 6 ชั่วโมงนั้น ถ้ามาตรการนี้ยังไม่ได้ผลหรือยังมีผู้ฝ่าฝืน หรือดีและป้องกันได้ดีก็จะประเมินเหตุการณ์วันต่อวัน อาจจะขยับเป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงต่อไปก็ได้ ช่วงเวลา 6 ชั่วโมงนี้ไม่ควรมีผู้ใดออกมาเดินเหินตามถนน หรืออยู่ตามร้านต่างๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะนี่คือการห้ามออกจากเคหสถาน โดยจะมีตำรวจทหารคอยตรวจตรา ถ้าพบว่าเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยกเว้นจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 18 โทษรุนแรงมาก คุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ  รัฐบาลตระหนักดีว่าการประกาศเคอร์ฟิวจะเข้มงวดโดยไม่มีข้อยกเว้นเลยไม่ได้ เพราะเป็นความจำเป็นของคนบางประเภท จึงมีข้อยกเว้นให้บุคคลสองประเภท หากจำเป็นต้องออกนอกเคหสถานก็ให้ขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะขยายความไปถึงตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปพลางก่อน 
    "ถ้ามีการประเมินแล้วต้องขยายเวลาเคอร์ฟิวจาก 6 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง  หรือมากกว่านั้นก็จะได้ทยอยประกาศแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ส่วนในบางจังหวัดที่ผู้ว่าฯ ได้กำหนดการห้ามออกจากบ้านแตกต่างจากข้อกำหนดของรัฐบาล ก็ให้ยึดมาตรการที่เข้มงวดกว่า และต่อไปเราจะพยายามปรับให้ทุกจังหวัดในเกณฑ์เดียวกัน" 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า สื่อมวลชนสามารถออกไปทำข่าวในช่วงเวลาเคอร์ฟิวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เด็ดขาด เพราะช่วง 6 ชั่วโมงไม่น่าจะมีข่าวอะไรให้ทำ ส่วนที่จะไปถ่ายบรรยากาศด่านต่างๆ นั้นก็ให้ขออนุญาตเป็นการเฉพาะราย แต่เราคงไม่เขียนยกเลิกให้เป็นกลุ่ม ส่วนการขนส่งอาหาร เช่น แกร็บ,  ไลน์แมน ถือว่าอยู่ในข้อยกเว้นการขนส่งอยู่แล้ว แต่ขอให้มีหนังสือรับรองไว้แสดงต่อเจ้าหน้าที่
    เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า การเคอร์ฟิวแค่ 6 ชั่วโมงจะนำมาซึ่งการลดจำนวนติดเชื้อได้อย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า มันเป็นเชื้อโรค ไวรัส กลางคืนไม่หยุดพัก มันไป 24 ชั่วโมง แต่เราพิจารณาความจำเป็นของประชาชนที่กลางวันไม่สามารถปิดได้ หรือปิดก็คงไม่ฟัง จนกว่าจะรู้สึกสำนึก ตระหนัก รับผิดชอบและสมัครใจได้มากกว่านี้ ซึ่งก่อนจะเคอร์ฟิวทั่วราชอาณาจักรมีการทดลองมาแล้ว 5 จังหวัด คิดว่าเป็นการส่งสัญญาณได้ระดับหนึ่ง จึงประกาศทั่วราชอาณาจักร ที่สำคัญพบการว่าการแพร่ระบาดเกิดจากการรวมตัวกันในเวลากลางคืนที่คนพักผ่อน มาทำกิจกรรมร่วมกัน ต่างจากกลางวันที่ทำงานกันส่วนใหญ่ เมื่อคนคุ้นเคยและชินกับมาตรการนี้อาจจะขยายต่อไปได้ เชื่อว่าจะลดเปอร์เซ็นต์การแพร่ระบาดลงได้ 
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ให้ปิดสถานที่ต่างๆ แต่ยังพบว่าประชาชนยังทำกิจกรรมรวมตัวที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ได้ ซึ่งบางจังหวัดผู้ว่าฯ ได้ใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามประชาชนออกจากเคหสถานไปบ้างแล้ว จึงนำมาสู่ในที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่  2 เม.ย. ซึ่งนายกฯ เห็นว่าควรจะประกาศสำหรับทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมโรคให้ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นที่หลักร้อยทุกวัน ซึ่งรัฐบาลไม่อยากใช้ยาแรง แต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเช่นนี้เพื่อลดการรวมกลุ่มของประชาชน ทั้งนี้จะมีการประเมินข้อกำหนดที่ประกาศล่าสุดนี้ทุกวันตลอด 1 สัปดาห์ หากตัวเลขผู้ป่วยยังเพิ่มก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากตัวเลขลดลงอาจจะคงหรือผ่อนคลายมาตรการ
     "นายกฯ ไม่อยากใช้ยาแรงหากได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะการเคลื่อนที่ให้น้อยที่สุด อย่าออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น โดยให้ทำงานที่บ้าน และแม้จะอยู่บ้านแล้วก็ต้องเว้นระยะห่าง เพราะนายกฯ ห่วงใยประชาชนอย่างจริงใจ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่" นางนฤมลกล่าว
ทหาร.-ตร.ส่งทีมสกัดคนฝ่าฝืน
    พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงนามในประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีรายละเอียดว่า "อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงานหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3(6) เพื่อเป็นการลดโอกาสการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโรคโควิด- 19 มิให้ขยายไปในวงกว้าง จึงกำหนดการห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถานของตนเอง หรือกิจกรรมของทางราชการ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต้องรับโทษตาม ม.18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
    ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดย พล.อ.อภิรัชต์ได้สั่งการว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานเวลา  22.00-04.00 น. ขอให้ทุกหน่วยร่วมกันปฏิบัติและปฏิบัติตามขั้นตอน ให้กรมยุทธการทหารบกออกเป็นคำสั่งในการปฏิบัติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแต่ละทัพภาคมีบทบาทในการประสานกับจังหวัดในการออกปฏิบัติงาน ครอบคลุมถึงการจัดทำแผนที่ในห้องวอร์รูม กรมยุทธการทหารบกรับผิดชอบในการมาร์กจุดตรวจต่างๆ ในการแบ่งพื้นที่ใน กทม.จะใช้ทุกหน่วยในพื้นที่ในการปฏิบัติ ไม่ใช่เฉพาะหน่วยกำลังรบ การออกตรวจระหว่าง 22.00-04.00 น.อาจจะใช้สายตรวจวันละ 2-3 รอบ
    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะทำงานเป็นจุดตรวจและมีสายตรวจแทรกซึมไปทุกจุดในช่วงเวลาเคอร์ฟิว จะออกมาเดินข้างนอกบ้านหรือในหมู่บ้านไม่ได้ ส่วนการคมนาคมนั้นได้มีการปรับเวลาเดินรถให้สอดคล้องแล้ว ขอให้ประชาชนเผื่อเวลาเดินทางด้วย ถ้ายังพบว่ามีการลักลอบเปิดสถานบริการอยู่สามารถแจ้ง 191 ได้ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองจะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งจะผิดมากกว่ากรรมเดียว ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยที่ผ่านมาตำรวจและอัยการได้สั่งฟ้องทุกกรณีและศาลได้ลงโทษโดยไม่รอลงอาญา 
    "ฝากเตือนไปยังผู้ที่ยังคงฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยยังรวมกลุ่มมั่วสุม เสพยาเสพติด เล่นการพนัน  รวมกลุ่มแข่งรถในทาง ลักลอบเปิดสถานบริการ กักตุนสินค้าบริการ การให้กู้ยืมเงินเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เป็นเยี่ยงอย่าง จึงขอให้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือเพื่อควบคุม ป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้ได้โดยเร็ว" พล.ต.ท.ปิยะกล่าว
    นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยถึงแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยงดหรือเลื่อนการจัดงานเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ ที่เป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก กรณีที่มีความจำเป็นไม่สามารถงดหรือเลื่อนการจัดงานนั้นๆ ได้ ให้ปฏิบัติโดยไม่ขัดต่อประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนด ได้แก่ ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมทั้งมาตรการที่รัฐบาล  ศบค.กำหนด รวมทั้งประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 
    นอกจากนี้ วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญควรงดการเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศาสนสถาน โดยให้ใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์แทน เช่น การฟังธรรมะออนไลน์ งดการใช้มือหยิบข้าวใส่บาตรพระภิกษุ  สำหรับเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ (เช็งเม้ง) ให้งดการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษ ณ สุสาน (ฮวงซุ้ย)  โดยให้จัดพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษที่บ้านแทน และงดการรวมญาติ นอกจากนี้เทศกาลประเพณีสงกรานต์  1.งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ 2.งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา หากต้องการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือแสดงความกตัญญูกตเวที หรือแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ควรใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ 3.งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด และ 4.เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น อาทิ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน รดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ที่บ้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ที่สูงอายุ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 
อนุมัติ ขรก.สธ. 4.5 หมื่นตำแหน่ง
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติรับทราบการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม ในประเด็น "การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์" โดยสนับสนุนการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากผลงานวิจัย เช่น หน้ากาก N95 ชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล เครื่องช่วย ห้องตรวจแยกโรคแรงดันลบ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 การพัฒนาชุดตรวจ เป็นต้น ในเรื่องค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มางบประมาณดำเนินการประมาณ 3,000 ล้านบาท
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการ เรื่องการขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมจากที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และลูกจ้าง สธ.ในส่วนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จำนวน 45,684 คน จากจำนวนบุคลากรประเภทนี้ที่อยู่ในสาธารณสุขประมาณ 160,000 คน ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขเสนอ โดยบุคลากรเหล่านี้เป็นบุคลากรวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล  เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีทักษะและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี และประเทศควรจะต้องรักษาให้ระบบการสาธารณสุขสามารถคงจำนวนบุคลากรเหล่านี้ให้อยู่ในระบบอย่างยั่งยืน เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เห็นการเสียสละ ทุ่มเทและความมุ่งมั่นของบุคลากรเหล่านี้ การปรับสถานะให้มีความมั่นคงในอาชีพการงานจะทำให้คุณภาพของงานบริการผู้ป่วยได้รับการยกระดับอย่างชัดเจน จะทำให้มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพมีความมั่นคงและมีเกียรติยศ และเป็นการเตรียมความพร้อมของระบบการสาธารณสุขของประเทศให้มีความมั่นคงยิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้ สธ.จะหารือกับสำนักงานข้าราชการพลเรือน และสำนักงานพัฒนาระบบราชการ ก่อนเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง 
        ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ของไทยว่ายังคงแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสจากคนเดิมในการสอบสวนโรคก่อนหน้านี้ และผู้ป่วยกลุ่มใหม่ ในจำนวนผู้ติดเชื้อถ้าดูจากผู้ป่วยรายใหม่ มีการติดเชื้อจากในประเทศประมาณวันละ 90 คน โดยยอดผู้ป่วยติดเชื้อ 103 คนในวันนี้แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักตามภูมิภาค  เช่น กทม.และปริมณฑล 58 คน จังหวัดภูเก็ต, ชลบุรี 16 คน ชายแดนใต้ 12 คน และจังหวัดอื่นๆ 17  คน ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศอยู่ในภาวะคงที่ ขณะที่การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจยืนยันมีเพียงพอ และจัดสรรให้พื้นที่ต่างจังหวัดอย่างดีที่สุด ส่วนการดำเนินการรักษาผู้ป่วยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น บุคลากรทางการแพทย์พิจารณาการรักษาตามข้อบ่งชี้อาการและความเสี่ยงของคนไข้
    นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์แพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปกติแล้วหน้ากากอนามัยชนิด N95 ทางการแพทย์จะใช้แล้วทิ้ง แต่สถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะขาดแคลน จึงจำเป็นต้องหาวิธีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งมีหลายวิธี แต่ในครั้งนี้ได้ทำการวิจัย 2 วิธีในการฆ่าเชื้อ การทำความสะอาดด้วยการอบความร้อนจากเครื่องอบจานร้อน  อุณหภูมิไม่เกิน 65-75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15-20 นาที และการทำความสะอาดอบด้วยการฉายแสง UV-C พบว่าการฉายแสงใช้เวลา 20-21 นาทีสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เช่นกัน 
    วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ระบุว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 10/1 แห่งข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2560 "ข้อ 10/1 สถานบริการที่ให้บริการสาธารณสุขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) สิทธิในการได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลให้ได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สถานบริการที่ให้บริการผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ก่อนข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน ตามวรรคหนึ่งด้วย".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"