คำว่า “ระยะ 3” ของโรคระบาด Covid-19 เป็นจุดเปลี่ยนที่จะคนไทยจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ...และที่สำคัญคือ ต้องเตรียมการ
ฝรั่งบอกว่า Things will get worse before they get better
แปลว่า สถานการณ์จะเลวลงไปอีก...ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้น
ในภาวะโลกวันนี้ เราเห็นความตื่นตัว, ตื่นตระหนกและตระหนักในระดับที่แตกต่างกัน
แต่เราต้องพร้อมสำหรับ “ฉากทัศน์” หรือ scenario ที่เลวร้ายเพื่อจะได้ไม่ตระหนกเกินเหตุ
การวาง “แผนสำรอง” ไม่ใช่เรื่องตื่นตระหนกเกินเหตุ หากแต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อความพร้อมที่จะรับสถานการณ์
ในแวดวงธุรกิจเขาเรียก Business Continuity Planning (BCP) หรือภาษาทั่วไปเรียก Contigency Plan
จีน, อิตาลีและอีกบางประเทศต้องใช้มาตรการ “ปิดเมือง” หรือ lockdown ด้วยการห้ามคนออกนอกบ้านเพื่อสกัดการแพร่ของไวรัส
บางเมืองใช้วิธีประกาศเคอร์ฟิว คือการห้ามคนออกนอกบ้านเป็นช่วงๆ เพื่อลดการพบปะของผู้คน และเน้น “การรักษาระยะห่าง” ของคนในที่สาธารณะที่เรียกว่า social distancing
ธุรกิจบางแห่งพูดถึง BCP เพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักหากต้องมีการปิดเมืองหลวง จะเป็นการปิดบางส่วนหรือทั้งหมดก็ตาม
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะต้องมีแผนเพื่อให้ระบบการเงินสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัด และให้ระบบธนาคารพาณิชย์เดินได้
ระบบไอทีเป็นหัวใจของการให้กิจกรรมทางธุรกิจเดินต่อไปหากต้องมีการปิดเมืองบางส่วน
ระบบ tele-conference หรือการใช้ระบบออนไลน์เพื่อการสื่อสารของธุรกิจทั้งหลายก็ควรจะต้องเริ่มใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้ด้วยซ้ำไป
วิกฤติครั้งนี้จะทำให้เกิดโอกาสของสิ่งที่เรียกว่า Workplace Transformation อย่างจริงจัง
นั่นหมายถึงการทำงานจากจุดไหนก็ได้ สามารถประสานกับเพื่อนร่วมงาน ฝึกการแก้ปัญหาผ่านมือถือ เชื่อมต่อทุกจุดให้คล่องแคล่ว งานการสามารถเดินไปได้แม้จะมีอุปสรรคด้านอื่นๆ
ผมเห็นมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งเริ่มใช้ VDO Conference สำหรับอาจารย์สอนหนังสืออย่างเต็มรูปแบบครั้งนี้
นั่นเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่หากไม่มีวิกฤติโรคระบาด เราก็จะยังไม่มีแรงกดดันที่จะเข้าสู่โหมด “วิถีชีวิตแบบดิจิทัล” อย่างแท้จริง
วิกฤติ SARS ที่ประเทศจีนเมื่อ 17 ปีก่อนเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งสำหรับการเกิดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของจีน
ช่วงนั้นเมื่อผู้คนไม่ออกจากบ้าน ยอดขายของธุรกิจทั้งหลายหล่นหายไปสิ้น พนักงานขายคนหนึ่งเสนอต่อแจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบาว่า “ทำไมเราไม่ลองขายของออนไลน์ดู ขายได้หรือไม่ได้ก็ยังดีกว่าขายไม่ได้เลย”
แจ็ก หม่า สั่งให้ลองทำดู โดยที่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนซื้อหรือไม่
พอมีคนเริ่มสั่งของผ่านเว็บไซต์ ก็มีความจำเป็นต้องมีคนส่งของ จึงทำให้เกิดธุรกิจบริการส่งของที่เรียกว่า delivery
หลังจากวิกฤติ SARS ธุรกิจทางด้านซื้อขายออนไลน์ก็ระเบิดเถิดเทิง เพราะเดิมที่ทั้งคนขายและคนซื้อไม่รู้ว่าเทคโนโลยีสามารถจะเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สะดวกสบายและเพิ่มยอดขายได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นนั้น
วิกฤติครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เราลังเลหรือไม่มีแรงกดดันที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเสียที
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ทำงานที่บ้าน” มีการกล่าวขวัญกันมาหลายปี แต่ที่ไม่เกิดเพราะไม่มีความจำเป็นบีบบังคับ
การใช้ระบบประชุมผ่านออนไลน์ การประสานงานที่เรียกว่า collaboration ผ่านโปรแกรมออนไลน์ นอกจากจะมีความสะดวกแล้ว ก็ยังเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาการเดินทาง ทำให้ทุกคนมีเวลาอยู่กับครอบครัวและทำสิ่งที่ในอดีตไม่เคยทำได้
เตรียมตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เรารอคอยมานาน...แม้มันจะเกิดขึ้นเพราะวิกฤติแห่งโรคระบาด
วันนี้เราเรียกมันว่า “แผนสำรองเผื่อฉุกเฉิน” แต่พอผ่านไประยะหนึ่งเราจะเห็นว่า “แผนสำรอง” กลายเป็น “แผนถาวร” ที่เราควรจะทำตั้งนานแล้ว
หากเราตระเตรียมตัว เผชิญกับความจริง สลัดความกลัว แปรความไม่แน่นอนเป็นโอกาสแห่งการปรับเปลี่ยน เราจะแข็งแกร่งขึ้น มีจินตนาการสูงขึ้น และสร้างนวัตกรรมที่เราไม่เคยคิดว่าเป็นไปได้จริงๆ!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |