พอช.จับมือ สช. สปสช. สสส. และเครือข่ายภาคประชาชน ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ โดยร่วมมือกับท้องถิ่น เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน อบต. เทศบาล รพ.สต. อสม. ฯลฯ รวมพลังระดมทรัพยากรหนุนรัฐสู้กับไวรัสร้าย ใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงกับอำเภอและจังหวัด โดย พอช.จะใช้พื้นที่ตำบล 1,300 ตำบลขับเคลื่อนทันที ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนป้องกันโรคและเฝ้าระวังแล้วกว่า 1,500 แห่ง โดยมีเป้าหมาย “ประเทศไทยจะต้องชนะ”
จากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุหลักพันราย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการปิดห้างร้าน และสถานบริการต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ประชาชนที่ตกงานเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายไปทั่วประเทศ
‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’
ดังนั้นหน่วยงานด้านสุขภาพ เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายหมออนามัย 7 องค์กร ร่วมกับสถาบันทางสังคม เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และองค์กรปกครองท้องถิ่น จึงรวมพลังกันจัดกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
เช่น การจัดงาน ‘เครือข่ายสวัสดิการชุมชน พอช. และ สปสช. ร่วมสืบสานแนวคิดไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมพลังสู้ COVID-19’ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่สำนักงาน สปสช. เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและภาคีต่างๆ รวมทั้งการใช้เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน อสม. อบต. ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้าจำนวนกว่า 1 ล้านชิ้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา มีการจัดงานระดมความเห็น ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ โดยมีผู้แทน สช. สปสช. สสส. พอช. และภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมงาน
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีมาตรการที่สำคัญ คือ ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ป่วยออกจากบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส แต่จุดชี้ขาดคือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน และมาตรการการป้องกันในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่กำลังดำเนินการ
โดยมีผลกระทบต่างๆ ที่จะติดตามมา เช่น ด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาลที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น ด้านสังคม มีการปิดงาน ทำให้มีประชาชนเดินทางกลับชนบทจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนป่วยเรื้อรัง และเด็ก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อ ดังนั้นหน่วยงานยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในส่วนกลาง เช่น สปสช. สช. สสส. จึงร่วมมือกับหน่วยงานด้านสังคม เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานปกครองท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ฯลฯ
“หน่วยงานเหล่านี้จึงได้บูรณาการแผนงาน เครื่องมือ และงบประมาณ เพื่อหนุนช่วยการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อน จากประชาชนที่ตกอยู่ในภาะที่ตื่นกลัว ให้ปรับเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ โดยจะใช้พื้นที่ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เป็นพื้นที่และฐานดำเนินงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางช่วยหนุนเสริม เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล และป้องกันตัวเองได้ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง” เลขาธิการ สช.กล่าว
พอช.พร้อมใช้กลไกต่าง ๆ ขับเคลื่อน 1,300 ตำบลทั่วประเทศ
ปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัส COVID-19 เป็นเรื่องใหญ่ เป็นโจทย์ของมนุษยชาติ ทุกฝ่ายจึงต้องรวมพลังกัน ซึ่งในส่วนของ พอช.ทำงานในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ มีเครือข่ายต่างๆ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งทั่วประเทศแล้ว จำนวน 5,997 กองทุน มีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ จำนวน 7,789 แห่ง เครือข่ายบ้านมั่นคง 1,133 พื้นที่ และพื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชน 500 ตำบล ฯลฯ จึงได้มีการประชุมผู้แทนเครือข่ายเหล่านี้ในการรับมือกับภัย COVID ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดทำหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อร่วมกับ รพ.สต. อสม. อบต. ฯลฯ ขณะนี้ทำไปแล้วใน 46 จังหวัด ประมาณ 200 กลุ่ม ผลิตได้แล้ว 555,649 ชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชน
“นอกจากนี้ พอช.จะใช้กลไกต่างๆ เหล่านี้ที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัดร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สปสช. สช. สสส. ลงไปทำงานในชุมชนในระดับตำบลร่วมกับท้องถิ่น เช่น รพ.สต. อสม. อบต. โดยมี 1.แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน เป็นแผนเชิงรุก เพื่อป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID และ 2.แผนรับมือผลกระทบจากผู้ตกงานที่กลับคืนสู่ชุมชน เช่น การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยในปีนี้ พอช.มีแผนการและงบประมาณที่จะดำเนินการได้เลยจำนวน 1,300 ตำบลทั่วประเทศ ผ่านโครงการและกลไกที่ พอช.มีอยู่ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล โครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท พื้นที่ตำบลเศรษฐกิจและทุนชุมชน” รอง ผอ.พอช.กล่าว
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563 พอช.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล รวม 2,230.94 ล้านบาท ใน 6 โครงการ เช่น 1.โครงการส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมของสภาองค์กรชุมชนตำบล จำนวน 1,250 ตำบล งบประมาณ 54.25 ล้านบาท เพื่อให้สามารถจัดทำแผนพัฒนาทางด้านต่างๆ ของตำบลตัวเองได้ แล้วนำแผนไปเชื่อมโยงกับท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน
2.การพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจชุมชนจำนวน 500 ตำบล งบประมาณ 69.77 ล้านบาท โดยสนับสนุนการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนระดับตำบล เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจชุมชนระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน 3.การสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย แก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในเมืองและในชนบทให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวม 21,115 ครัวเรือน งบประมาณ 1,708.89 ล้านบาท
4.การสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชนระดับตำบล โดยให้ชุมชนต่างๆ จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน และสมาชิกออมเงินสมทบวันละ 1 บาท มีเป้าหมาย 2,289 กองทุน งบประมาณ 369.84 ล้านบาท ฯลฯ
เป้าหมาย “ประเทศไทยต้องชนะ และฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้”
ธนชัย อาจหาญ หัวหน้าสำนักสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า จากการพูดคุยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้พลังชุมชนต่อสู้กับภัย COVID-19 เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาที่ สช. มีประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการในระดับพื้นที่ คือ 1. การสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางลงไปในพื้นที่ตำบล 2.การสนับสนุนให้เกิดวงพูดคุยเพื่อสานพลังในระดับตำบลหรือเทศบาล โดยมีผู้เข้าร่วมจากสภาองค์กรชุมชน รพ.สต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การสำรวจข้อมูล การคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้า-ออกชุมชน การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง การให้ความช่วยเหลือต่างๆ
“ในระดับพื้นที่จะต้องนำข้อมูลจากการสำรวจมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อแยกแยะประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง กลุ่มคนตกงาน เพื่อนำไปสู่การออกแบบการให้ความช่วยเหลือให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือออกมาตรการทางสังคมในพื้นที่ เช่น การห้ามคนเข้า-ออก เข้ามาแล้วต้องเฝ้าระวังอย่างไร? เพื่อนำมาเป็นแผนปฏิบัติการร่วมกัน โดยมีหน่วยงานในระดับอำเภอ-จังหวัดให้การสนับสนุน เป็นการสานพลังของทุกภาคส่วน ในขณะที่ พอช.จะมีส่วนในการสนับสนุนผ่านโครงการและงบประมาณที่มีอยู่ เช่น ใช้สภาองค์กรชุมชนขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างอาชีพรองรับ การสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วย” ธนชัยยกตัวอย่างการรวมพลังของทุกภาคส่วน
สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐมีมาตรการจัดการกับปัญหาไวรัส COVID-19 เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากภาคประชาชนปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวคงจะไม่สำเร็จ จะต้องใช้พลังทางสังคมหรือภาคประชาชนเข้าไปหนุนเสริม ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างพลเมืองตื่นรู้ในระดับพื้นที่ และจะต้องขยายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในระดับตำบล เพื่อให้เกิดพื้นที่ปฏิบัติงานในระดับตำบล โดยมีภาครัฐช่วยหนุนเสริม เช่น คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) รพ.สต. อสม. และภาคประชาชนสังคม ประชาชนทั่วไปมาร่วมกันสานพลัง
สมเกียรติกล่าวด้วยว่า การจัดเวทีพูดคุยในระดับตำบลเพื่อแก้ไขปัญหา COVID จึงมีความสำคัญ เพื่อให้รู้สถานการณ์ว่า ขณะนี้ในระดับพื้นที่ตำบลกำลังทำอะไร และจะทำอย่างไร เช่น การเฝ้าระวังการติดเชื้อในระดับชุมชน ครอบครัว และบุคคล คนป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก และคนตกงานที่กลับสู่ชุมชนจะช่วยอย่างไร เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มใช้ธรรมนูญตำบลมาสู้กับภัย COVID แล้ว เช่น ยโสธร นครราชสีมา ฯลฯ และสามารถใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลหรือท้องถิ่นมาใช้ขับเคลื่อนได้
ทั้งนี้ข้อมูลจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) สปสช. ระบุว่า ปัจจุบันมีองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุน กปท.ร่วมโครงการ ‘พลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา 2019’ แล้ว 1,579 แห่ง รวม 2,267 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 162.85 ล้านบาท เพื่อ 1.รณรงค์ให้ความรู้ 2.จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ฯลฯ 3.คัดกรองกลุ่มเสี่ยง 4.ตรวจเยี่ยม ติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน 5.เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น
ขณะที่ ปฏิภาณ จุมผา รอง ผอ.พอช. กล่าวย้ำว่า “สถานการณ์ตอนนี้ ตำบลคือพื้นที่สู้รบที่เราจะต้องเอาชนะ และจะต้องปฏิบัติจริงและเริ่มทำทันทีตั้งแต่วันนี้ โดยใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลังชุมชนท้องถิ่น และจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ”
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า “ภาคประชาชนจะใช้ฐานในระดับตำบลเป็นพื้นที่ขับเคลื่อน เช่น สภาองค์กรชุมชน ชุมชน รพ.สต. อสม. ฯลฯ โดยระดมกำลังและทรัพยากรที่มีอยู่มาหนุนช่วยภาครัฐ และประเทศไทยจะต้องชนะ และฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้”
ใช้ตำบลเป็นฐานยุทธศาสตร์ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สู้กับ ‘COVID-19’
ประเทศไทยมีองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ เช่น เทศบาลนคร เมือง ตำบล และ อบต. รวมทั้งหมด 7,774 แห่ง (ไม่รวม อบจ. กทม.และพัทยา) โดยมีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นแล้ว จำนวน 7,738 แห่ง
ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ จำนวน 5,997 กองทุน นอกจากนี้ยังมีสภาองค์กรชุมชนตำบลอีก 7,789 แห่ง ฯลฯ ซึ่งกองทุนต่างๆ เหล่านี้สามารถร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพในท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ทันที
‘กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล’ ป้องกัน COVID-19’
กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ ‘กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล’ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น อบต. ร่วมมีบทบาทส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพประชาชนในพื้นที่ โดยเปิดให้ประชาชนและองค์กรภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่มีส่วนร่วมบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. และ อปท.ที่เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนร่วมจัดสรรงบประมาณสนับสนุน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการ ‘รวมพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19)’ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแล้วเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และสามารถเสนอโครงการหรือกิจกรรมเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.รณรงค์ให้ความรู้ 2.จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ฯลฯ 3.คัดกรองกลุ่มเสี่ยง 4.ตรวจเยี่ยม ติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน 5.เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น โดยขณะนี้มี อปท.ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 1,579 แห่ง รวม 2,267 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 162.85 ล้านบาท
รวมพลังชุมชนสู้วิกฤตร้าย
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช. มีเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งทั่วประเทศแล้ว จำนวน 5,997 กองทุน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ จำนวน 7,789 แห่ง เครือข่ายบ้านมั่นคง 1,133 พื้นที่ และพื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชน 500 ตำบล ฯลฯ โดยเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้จะร่วมกับผู้นำชุมชน รพ.สต. อสม. กำหนดมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสร่วมกัน
นอกจากนี้ยังร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้าเพื่อใช้ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในพื้นที่ 46 จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 200 กลุ่ม ขณะนี้ (31 มีนาคม) ผลิตได้แล้วประมาณ 555,649 ชิ้น จากเป้าหมายทั้งหมด 1,482,500 ชิ้น และแจกจ่ายให้แก่ประชาชนแล้ว 239,767 ชิ้น เช่น
ภาคอีสาน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลกุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ร่วมกับ อบต. อสม. กลุ่มสตรี และกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า ใช้ผ้าที่ไม่ระคายเคืองต่อใบหน้าและจมูก เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าสาลู (ใช้ทำผ้าอ้อมเด็ก) และผ้าสำลี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสวัสดิการฯ จำนวน 15,000 บาท งบ อบต.ประมาณ 20,000 บาท ตั้งเป้าผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 10,000 ชิ้น โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดมาให้ความรู้ด้านการผลิต วันหนึ่งผลิตได้ประมาณ 700-800 ชิ้น ใช้จักรเย็บผ้า 30 เครื่อง ส่วนที่เหลือเย็บด้วยมือ โดยมีอาสาสมัครในตำบล เช่น กลุ่มแม่บ้าน อสม. นักเรียนและนักศึกษามาช่วยกันผลิตประมาณวันละ 150 คน
ภาคเหนือ เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบลผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง มีมาตรการป้องกันไวรัส COVID โดยแจ้งให้แต่ละครอบครัวทราบว่า หากมีญาติพี่น้องเดินทางกลับภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมจะต้องปฏิบัติตนเองอย่างไรบ้าง เช่น กักตัวเองอยู่ในบ้าน 14 วันเพื่อรอดูอาการ ไม่ออกไปพบปะเพื่อนบ้าน หรือไปในแหล่งชุมชน ชุมชนเตรียมหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ จัดตั้งคณะกรรมการดูแลประจำซอยและกลุ่มบ้าน ฯลฯ กรณีพบผู้ติดเชื้อให้รีบแจ้งสาธารณสุขอำเภอและจังหวัด
กรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองบางบอน กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า มีเป้าหมายแห่งละ 1,000-10,000 ชิ้น (ตามสถานะและความพร้อมของแต่ละพื้นที่) รวมทั้งมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน
ภาคกลาง เช่น เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท (สภาองค์กรชุมชนตำบล-กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางขุด กองทุนสวัสดิการฯ ตำบลโพธิ์งาม) ใช้วิทยากรจากชุมชนจำนวน 15 คนสอนการผลิตหน้ากากอนามัยในตำบลต่างๆ ได้รับการสนับสนุนผ้าและวัสดุจาก อบจ.ชัยนาท มีเป้าหมายการผลิต 100,000 ชิ้น ขณะนี้ผลิตได้แล้ว 50,000 ชิ้น
ภาคใต้ เช่น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน (สายน้ำชะอวด) อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 11 ตำบล จำนวน 87 หมู่บ้าน พบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัส COCID ในตำบลนาหลง จำนวน 2 ราย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจึงมีมาตรการต่างๆ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เช่น มีจุดบริการเจลล้างมือ ผลิตหน้ากากอนามัยและรณรงค์ให้ใช้ สนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลชะอวด เช่น แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย N95 และปรอทวัดไข้ ฯลฯ
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. กล่าวทิ้งท้ายว่า “วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน โดยใช้พลังของชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศร่วมมือกัน โดยเฉพาะในระดับตำบล เชื่อมโยงกับอำเภอและจังหวัด โดยมีแผนงานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแล รวมทั้งแผนงานในการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องคนตกงานที่จะกลับสู่ชุมชน เพื่อให้คนเหล่านี้มีรายได้ โดยชุมชนช่วยกันดูแล ส่วน พอช.และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันสนับสนุน ซึ่งผมเชื่อว่าชุมชนมีพลังที่จะต่อสู้กับปัญหานี้ และประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างแน่นอน”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |