เจ๊งเพราะรัฐประหาร 'สุภิญญา'ชี้ต้นเหตุทีวีดิจิทัลขาดทุนซัดคสช.ผลประโยชน์ทับซ้อน


เพิ่มเพื่อน    

    เปิดเวทีถล่มรัฐบาล คสช.เละ  "สุภิญญา​" เอาคืนปม ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซัด "บิ๊กตู่" ตีเนียนอ้างปัญหามาจาก กสทช. ชี้ตัว คสช.คือต้นเหตุทำรัฐประหารสั่งปิดทีวีทุกช่อง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อ้างความมั่นคงจนประชาชนเบื่อดูทีวีหันไปเสพข่าวสารจากมือถือแทน เตือนซ้ำรอยทุจริตเชิงนโยบาย
    เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการ​ญาติ​วีรชนพฤษภา​ 35​และเครือข่ายตรวจสอบ​ภาค​ประชาชน​ จัดเวทีเสวนาตรวจสอบการทุจริต​คอร์รัปชัน​ของนโยบาย​รัฐบาล​ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)      
    โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เกริ่นนำว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน จะมีการพิจารณาออกมาตรา 44 เพื่อพักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปี และยืดการชำระค่างวดใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งจ่ายเป็นเวลา 5 ปีนั้น ถือว่าสมเหตุสมผลหรือไม่นั้น ซึ่งตนมองว่าจะต้องเป็นประเด็นที่ประชาชนจะต้องติดตามและตรวจสอบต่อไป 
    น.ส.สุภิญญา​ กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.กลัวในการแก้ปัญหาหรือปรับเปลี่ยนในข้อบังคับ ทั้งที่ กสทช.นั้นมีอำนาจมากกว่าหน่วยงานบางหน่วยงาน แต่ก็ไม่เดินหน้าแก้ไขปัญหาเอง กลับโยนปัญหาดังกล่าวให้ คสช.ออกมาตรา 44 ในการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และช่วยเหลือผู้ประกอบการ 
    เธอมองว่า ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยในการใช้อำนาจรัฐทุจริตในเชิงนโยบายได้ สิ่งที่ กสทช.จะทำได้ในขณะนี้ จะต้องให้ กสทช.เข้าไปช่วยเหลือหรือกำกับการบริการของ กสทช.เอง ไม่ใช่กลับไปแก้ไขสัญญาหรือข้อกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทเรียนที่ทำให้รัฐบาลยุคก่อนๆ อยู่ไม่ได้มาแล้ว 
    อดีต กสทช.กล่าวว่า ในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้น สาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดคือ การรัฐประหารของ คสช.ที่เข้ามาในช่วงแรกนั้น ก็สั่งปิดทีวีทุกช่อง อีกทั้งเมื่อ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ก็ใช้ช่องทางทีวีดิจิทัลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ยังไม่รวมถึงการเบียดเบียนช่วงเวลาในทีวีโดยอ้างในนามของความมั่นคง ซึ่งทั้งหมดก็พอจะเป็นเหตุผลได้ที่ว่าทำไม คสช.จะต้องเข้ามาเยียวยาทีวีดิจิทัล 
    "เมื่อรัฐใช้เหตุผลความมั่นคงในการเข้ามาแทรกแซงผู้ประกอบการจนส่งผลให้ผลกำไรทางรายได้นั้นลดลง ทาง คสช.ก็จะต้องเข้ามาเยียวยาโดยที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากทาง กสทช.ต้องการจะช่วยเหลือจริงๆ นั้น ทาง กสทช.ก็จะต้องปรับในด้านค่าเช่าโครงข่าย ให้ยึดหลักความจริงตามต้นทุนมากกว่าที่จะหวังแต่ผลกำไร"
    น.ส.สุภิญญากล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่คสช.เข้ามานั้น ยังไม่มีการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีที่ได้รับผลกระทบจากการที่ คสช.มาใช้ผลประโยชน์ จนทำให้ช่องทีวีหลายๆ ช่องนั้นถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ส่งผลให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับการดูทีวี และหันไปเสพข้อมูลผ่านช่องทางมือถือมากขึ้น 
    "ถือว่าปัญหาการขาดทุนนั้นมาจาก คสช. จึงไม่อยากให้นำปัญหาการขาดทุนของช่องทีวีไปตีเนียนรวมกับการช่วยเหลือค่ายมือถือเอกชนในการยืดระยะเวลาจ่ายค่าสัมปทานออกไปด้วย เพราะมองว่าค่ายมือถือเอกชนนั้นไม่ได้เดือดร้อนจริง แต่กลับเป็นฝ่ายที่ได้กำไร รวมถึงถือว่าเป็นการเอาเปรียบฝั่งทีวีมากกว่า " น.ส.สุภิญญา​กล่าว
    ด้านนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ตนมองว่าที่ผ่านมา คสช.นั้นเปรียบเหมือนใช้ระบบศาสตราธิปไตย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบอบประชาธิปไตย แต่แตกต่างตรงที่ระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอยู่ที่ประชาชน แต่ระบบศาสตราธิปไตยนั้น อำนาจอยู่ที่ผู้ถืออาวุธ อาวุธที่ว่านี้คือมาตรา 44 ที่จะทำอะไรก็ได้ อีกทั้งยังอยู่เหนือรัฐธรรมนูญด้วย
    เขากล่าวว่า การที่ คสช.จะใช้อำนาจมาตรา 44 การช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในการชำระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้น แม้ว่าจะมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย แต่ก็ยังมีการพยายามที่จะเดินหน้าต่อไป ซึ่งตนมองว่าการใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือประเด็นดังกล่าวนั้น มองแล้วมันขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หลักของมาตรา 44 ซึ่งจะก่อให้เกิดการบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความเหลื่อมล้ำของสังคม 
    "สร้างความขัดแย้งของคนในชาติและยังส่งผลทำให้การบริหารราชการแผ่นดินนั้นสั่นคลอน จนอาจจะทำให้รัฐถูกมองได้ว่ากำลังอุ้มนายทุน ผ่านการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม" นายพิชายกล่าว
    ขณะที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนมากกว่า เพราะหากรัฐบาลช่วยเหลือโดยการใช้มาตรา 44 นั้น อาจเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเหตุการณ์นี้จะคล้ายในอดีต 
    อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ซึ่งรัฐบาลและ คสช.ต้องวิเคราะห์ให้เกิดข้อเท็จจริง ว่าขาดทุนเพราะอะไร ไม่ใช่ว่าโยนปัญหาให้ กสทช.เป็นแพะเพียงอย่างเดียว พร้อมมองว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้ประชาชนหันมาดูโทรศัพท์มากกว่าโทรทัศน์ จึงเกิดปัญหาค่าโฆษณาที่ส่วนแบ่งเยอะขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้คนดูทีวีก็ลดลงด้วย 
    "ผมยังเชื่อว่ารัฐบาลจะใช้มาตรา 44 น้อยลง เพราะบางปัญหานั้น มาตรา 44 ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาในระบอบประชาธิปไตยได้ แต่อยากให้ใช้กฎหมายปกติแก้ไขดีกว่า" นายเจิมศักดิ์ระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"