อากาศวิปริตหนัก ฝนชุกหน้าร้อนยังไม่พอ กระทรวงวิทย์พบความกดอากาศสูงจากจีนยังแผ่มาอีก ได้เจอ "เมษาหน้าหนาว" แน่ ลุ้นวันที่ 6-7 นี้ กทม.อุณหภูมิลดฮวบเหลือ 23 องศา มีพายุฤดูร้อนเป็นของแถม
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ตรวจสอบพบว่า ในวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน แล้วทำให้ลมตะวันออกเฉียงเหนือเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง
ส่วนลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงกำลังอ่อนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน แล้วมาปะทะกับอากาศร้อนชื้นที่สะสมในพื้นที่ และจะเกิดยกตัวขึ้นเป็นฝน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดคล้ายกับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งเกิดฝนตกหนักที่บริเวณรังสิต จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด
วาฟแจ้งด้วยว่า หลังวันที่ 2 เมษายน ความกดอากาศสูงจะอ่อนกำลังลง ปริมาณฝนก็จะลดลง และช่วงวันที่ 6 เมษายน พบว่ามีแนวโน้มบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามความคาดหมาย จะทำให้บริเวณความกดอากาศสูงค่อนข้างแรงดังกล่าวเกิดการปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อนที่มีความรุนแรง และอาจจะเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บในบางพื้นที่ ประมาณวันที่ 6-7 เมษายน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไล่มาตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงสู่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ
จากนั้นประมาณวันที่ 8-9 เมษายน อุณหภูมิจะลดต่ำลง โดยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสอีกรอบ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะมีลุ้นว่าอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ดังนั้น ใช่วงวันที่ 6-7 เมษายน ขอเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทั่วไป เตรียมการตรวจสอบความมั่นคงของสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือกับพายุฤดูร้อนในรอบนี้
ปรากฏการณ์ที่เดือนเมษายนยังคงมีอากาศหนาวเย็นในบางช่วงอาจจะไม่ค่อยได้พบเจอมากนัก แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีมาบ้างแล้ว โดยช่วงเวลานี้ยังคงมีบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาอยู่ ซึ่งนอกจากส่งผลให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิลดลงแล้ว ยังทำให้ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น มีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะตกในบางพื้นที่อีกด้วย
เช่นเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยา ที่พยากรณ์ว่า ในช่วงวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้
ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ เนื่องจากมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบน
หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 5-6 เม.ย. บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคอื่นมีฝนตกเช่นกัน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ รายงานว่า เกิดฝนตกครั้งแรกในรอบปี 2561 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ วัดปริมาณน้ำฝนได้ 6 มิลลิเมตร แม้จะไม่มาก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กลงได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ อุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์ยังคงหนาวเย็นวัดได้ 8-17 องศาเซลเซียส กิ่วแม่ปาน อุณหภูมิ 10-18 องศาเซลเซียส ส่วนที่ทำการอุทยานฯอุณหภูมิ 16-27 องศาเซลเซียส ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสธรรมชาติเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |