ปรับจังหวะกันไม่ถูกเลยทีเดียวสำหรับพรรคการเมืองปัจจุบันที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 หรือตั้งขึ้นก่อนรัฐประหาร คสช. 22 พ.ค.57 ที่เรียกกันว่าพรรคการเมืองเก่า ที่มีชื่ออยู่ในสารบบของสำนักงาน กกต. ตอนนี้ 69 พรรค
เพราะนับแต่วันนี้ 1 เม.ย. ถึง 30 เม.ย.2561 หลายพรรคที่เป็นพรรคการเมืองซึ่งทำการเมืองจริงๆ ไม่ได้ตั้งพรรคเพื่อหาเงิน-รับเงินสนับสนุนจาก กกต.หรือตั้งพรรคเพื่อรอเร่ขายหัวพรรค ได้เตรียมพร้อมสำหรับการให้สมาชิกพรรคมายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งเป็นคำสั่งเรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ให้พรรคการเมืองเก่าดำเนินการให้สมาชิกพรรคของตัวเองต้องมายืนยันสถานะสมาชิกพรรค และจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. หากสมาชิกพรรคคนใดไม่มาภายใน 30 เม.ย. ถือว่าพ้นสมาชิกภาพ แต่ก็สามารถมาสมัครเป็นสมาชิกได้อีก เมื่อ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมือง
ช่วงที่ผ่านมา ก่อนถึงวันที่ 1 เม.ย. พบว่า พรรคเก่าหลายพรรคก็เตรียมพร้อมกันแล้ว แต่ในจังหวะกำลังตั้งลำ ก็ปรากฏ มาเกิดกรณี “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” มีมติเมื่อ 30 มี.ค. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้อง
เหตุผลที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยคำสั่งดังกล่าวแบบปัจจุบันทันด่วน โดยไม่มีวี่แววใดๆ มาก่อน ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีแอคชั่นดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า เป็นเพราะหลังผู้ตรวจการฯ ได้รับคำร้องจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ที่ร้องในฐานะผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนโดยตรง จากคำสั่งดังกล่าวของ คสช.
ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ประเด็นไว้ว่า แม้ คสช.มีอำนาจในการออกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว แต่เนื้อหาของคำสั่งที่ 53/2560 ที่มีการแก้ไขแนวปฏิบัติของพรรคการเมืองตาม มาตรา 140 และมาตรา 141 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
โดยมาตรา 140 เกี่ยวกับการให้สมาชิกพรรคที่ประสงค์จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ยืนยันตนเองพร้อมแสดงหลักฐานมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดไม่มีการยืนยัน ให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้น เป็นการรอนสิทธิของสมาชิกพรรค และเพิ่มภาระให้กับสมาชิก และมีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด
และที่แก้ไขมาตรา 141 (4) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค (5) เกี่ยวกับการจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้ครบถ้วนตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดภายใน 90 วัน และ กกต.สามารถขยายได้ครั้งหนึ่ง แต่หากครบเวลาแล้วพรรคไม่สามารถดำเนินการได้ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป โดยการดำเนินการดังกล่าวให้ทำเมื่อมีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 แล้วก็เป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควร
“ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นทั้ง 2 ประเด็นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 , 26, 27 ประกอบมาตรา 45 ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะยื่นคำร้องและหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญ” คำแถลงของรักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระบุไว้ และย้ำอีกว่า แม้ผู้ตรวจการฯ จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ายังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา พรรคการเมืองก็ยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/ 2560 ไปก่อน เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวมีกฎหมายรองรับถูกต้อง
ซึ่งถึงเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เตือนให้พรรคการเมืองเก่า ก็อย่าชะล่าใจ รอฟังผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนไม่ทำกิจกรรมการให้สมาชิกพรรคมายืนยันตัวในช่วง 1-30 เม.ย. แต่เชื่อเถอะ
พรรคการเมือง-นักการเมือง-นักเลือกตั้ง
ก็ไม่ประมาทอยู่แล้ว ใครจะมามัวแต่ปักหลักรอศาลรัฐธรรมนูญจนไม่ขยับอะไร มันก็ต้องรันแผนงานเดิมที่วางไว้ต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะพรรคการเมืองเก่า ที่มีบทบาททางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เช่น พรรคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา-พลังชล
พรรคเหล่านี้ก็คงไม่มามัวรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ และหากรับแล้ว ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร เพราะขืนหากรอ แล้วไม่ทำอะไรในเรื่องการให้สมาชิกพรรคมายืนยัน จนเลยไปถึง 30 เม.ย. นอกจากจะต้องเสียสมาชิกพรรคไป แม้หลัง 30 เม.ย. หากมีการปลดล็อกแล้ว ยังให้สมาชิกพรรคที่มาแสดงตนไม่ทัน ได้กลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคต่อ แต่ก็เชื่อว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้จำนวนสมาชิกพรรคหายหรือลดวูบมากจนน่าตกใจในช่วงหนึ่งเดือนต่อจากนี้ เพราะมันจะส่งผลทางการเมืองหลายๆ อย่างตามมาในอนาคต โดยเฉพาะการเตรียมการเลือกตั้ง เพียงแต่พรรคไหนจะได้รับผลกระทบมาก-น้อยแตกต่างกันไป
ก็อย่างที่นักการเมืองบางพรรคประเมินเอาไว้ว่า หลัง 30 เม.ย. เมื่อสิ้นสุดการให้สมาชิกพรรคมายืนยันตัวเองแล้ว เชื่อได้ว่า ทุกพรรคการเมืองจะมีตัวเลขสมาชิกพรรคหายไปจำนวนมาก
อาทิ มุมวิเคราะห์ของ นิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เชื่อว่า ผลพวงจากการที่พรรคการเมืองเก่า ต้องให้สมาชิกพรรคมายืนยันตัวเองว่าต้องการเป็นสมาชิกพรรคเดิมต่อไปหรือไม่ ในช่วง 30 วันต่อจากนี้ กระบวนการดังกล่าวที่มีเวลาจำกัด จะทำให้พรรคการเมืองสูญเสียสมาชิกพรรคกันเป็นจำนวนมาก
“เท่ากับว่าเป็นการสูญเสียของพรรคการเมืองครั้งใหญ่ของทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยไม่มีเหตุผล ทุกพรรคก็วิ่งเอาตัวให้รอด เพื่อประคองพรรคไว้ให้ได้ วิ่งแข่งกับเวลา ฝุ่นตลบ ยุ่งยาก วุ่นวายแน่”
ด้วยแหตุผลข้างต้น การขยับของพรรคเก่าในช่วง 1-30 เม.ย. แม้จะไม่ใช่การทำกิจกรรมการเมืองอะไรแบบหวือหวา แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า หลัง คสช.ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 จนถึงตอนนี้ ก็เป็นเวลาเกือบสี่ปีแล้ว ที่พรรคการเมืองไม่ได้ขยับ ไม่ได้ทำกิจกรรมการเมืองอะไรแบบเป็นกิจจะลักษณะ
เพราะการขยับก่อนหน้านี้ เช่น การประชุมแกนนำ-คีย์แมนพรรค หรือประชุมคณะทำงานต่างๆ ของพรรคการเมือง โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย ก็เป็นการประชุมหารือแบบไม่เป็นทางการ โดย คสช.ก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือกวดขันอะไรจนเกินเหตุ
มาถึงตอนนี้ ในช่วง 1-30 เม.ย. เมื่อแต่ละพรรคได้มีกิจกรรมเอกเซอร์ไซส์กันบ้างเล็กๆ น้อยๆ มันก็ทำให้แต่ละพรรคการเมืองได้กลับมาคึกคักอีกรอบ เสมือนเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนถึงการปลดล็อกจริงในอนาคต
เห็นได้จาก อาทิ พรรคเพื่อไทย ที่มีสมาชิก 134,822 คน พบว่า มีการเตรียมพร้อมพอสมควร กับการพยายามรณรงค์ให้สมาชิกพรรคเดิมมายืนยันสมาชิกตามสถานที่พรรคกำหนด โดยเฉพาะที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถนนเพชรบุรี เช่น การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อพยายามกระจาย สารการเมืองของเพื่อไทย ออกไปให้มากที่สุดเพื่อหวังให้สมาชิกพรรคมายืนยันตัว
ท่าทีของแกนนำพรรคในเรื่องนี้ อาทิ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พบว่าได้โพสต์ข้อความระบุว่า
“สมาชิกพรรคคือหัวใจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมือง 1-30 เม.ย ร่วมกันยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค”
และในจังหวะที่แกนนำเพื่อไทยกำลังสาละวนกับการสื่อสารการเมืองเพื่อหวังให้สมาชิกพรรคมายืนยันตัวให้มากที่สุด ก็ปรากฏว่า เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง-ทักษิณ ชินวัตร ก็ไปแสดงความเห็นการเมืองที่ญี่ปุ่น ที่แม้จะพยายามอ้างว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ทางพรรคไม่อยากให้ตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง
“แต่พรรคมีคนดีๆ มาก สามารถจะนำพรรคไปสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ได้อีกครั้ง”
อันเป็นความคาดหวังของทักษิณ ที่แม้พยายามกันตัวเองออกมาจากเพื่อไทย แต่ก็หนีความจริงไม่ได้ว่า เพื่อไทยก็คือทักษิณนั่นเอง
การหวังให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ของทักษิณ ก็เป็นความหวังบนการวิเคราะห์ของทักษิณ ที่คงรู้ดีว่า เลือกตั้งรอบนี้เพื่อไทยเจอศึกหนัก เพราะต้องสู้ทั้งกับพรรคการเมืองคู่แข่งแล้ว ยังต้องสู้กับอำนาจ คสช.ที่อาจต้องสกัดเพื่อไทยทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้ชนะการเลือกตั้ง หรือถึงชนะ แต่ก็ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จะได้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
ทักษิณก็ต้องมองออกว่า หากเพื่อไทยต้องการกลับมากุมอำนาจรัฐ และอาจมีการเช็กบิลเอาคืน คสช. โดยต้องไม่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกเกิดขึ้น สิ่งที่เพื่อไทยต้องทำ ก็คือ ต้องชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือหากไม่ได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ก็ต้องได้ ส.ส.ให้มากที่สุด ต้องทำให้เฉียด 250 คนให้ได้
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ทักษิณ-เพื่อไทย เตรียมแผนการเมืองไว้หมดแล้ว สำหรับหมากกระดานนี้ เหลือก็แค่รอเปิดเกมชนเท่านั้น
ขณะที่ ประชาธิปัตย์ ที่มีสมาชิก 2,895,933 คน เชื่อได้ว่า คนใน ปชป.คงไม่มองการเมืองยาวแบบทักษิณ ขอโฟกัสเฉพาะช่วง 1-30 เม.ย.นี้ให้ดีก่อน บนเป้าหมายคือ พยายามทำให้สมาชิกมายืนยันตัวให้มากที่สุด แต่พบว่า แกนนำพรรคส่วนใหญ่ก็ทำใจแล้วว่า คงมีสมาชิกพรรคไม่ได้มายืนยันหรือมายืนยันไม่ทันจำนวนมากโข จนทำให้พรรคเสียจำนวนสมาชิกพรรคไปมาก เช่นมุมวิเคราะห์ของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า
“ภายใต้คำสั่งนี้จะทำให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เหลือประมาณแค่ 1 แสนคน จากที่เคยมีถึง 2.5 ล้านคน”
ขนาดการเมืองยังไม่ปลดล็อก โรดแมปการเลือกตั้งยังเหลืออีกหลายเดือน แต่ก็เห็นเค้าลางการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นแต่หัววัน แม้จะเป็นแค่ช่วงวอร์มอัพกันแล้ว
แบบนี้สนามเลือกตั้งเป่านกหวีดเริ่มหวดแข้งชิงชัยเมื่อไหร่ ทุกพรรคสู้กันมันส์หยดแน่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |