"สมคิด" ถกด่วน ชงมาตรการชุดใหญ่ให้ ครม.นัดพิเศษพิจารณางบประมาณฯ แหล่งเงิน จัดหนักออกทั้ง พ.ร.ก.-พ.ร.บ. หวังช่วยต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทยอีก 6 เดือน โฆษกรัฐบาลเผยคลอดแน่มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชน ระยะ 3 -4 ครอบคลุมอีกเกือบ 6 ล้านคน
เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าได้มีการประเมินเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจชุดที่ 3 ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งประชาชน และกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก รวมถึงมาตรการในการดูแลเสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุน เนื่องจากภาพเศรษฐกิจจริงถูกโยงไปกับภาคตลาดเงินและตลาดทุน
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ ที่จะประชุมในวันที่ 3 เม.ย. 2563 พิจารณาเห็นชอบในหลักการว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะดูแลในส่วนใดบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และจะใช้แหล่งเงินจากที่ไหนบ้าง ซึ่งจะมีทั้งการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในการจัดหาแหล่งเงินเพื่อใช้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ขอบอกว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
"ถ้า ครม.วาระพิเศษเห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้ จะสามารถดูแลเศรษฐกิจไทยได้อีก 6 เดือน ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการสามารถอยู่ต่อไปได้ โดยที่ยังรักษาสถานะการจ้างงานไว้ได้ และเสถียรภาพด้านตลาดเงินและตลาดทุนจะมีความมั่นคง เป็นเรื่องที่รัฐบาลมองไปข้างหน้า เป็นการเตรียมพร้อมไว้เลย โดยหาก ครม.วาระพิเศษเห็นชอบในหลักการ ก็จะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 7 เม.ย.นี้" นายสมคิดกล่าว
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษในวันที่ 3 เม.ย. เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะพิจารณาเรื่องการให้ความช่วยเหลือประชาชน และมาตรการที่ออกไปแล้วทั้งระยะที่ 1 และ 2 นายกรัฐมนตรีอยากให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงมาหารือร่วมกันว่าครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือไม่
โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบ มาตรการระยะ 1 และ 2 ที่กระทรวงการคลังเสนอให้ชดเชย 5,000 บาท 3 เดือน กับผู้ได้รับผลกระทบ 3 ล้านคน แต่ภายหลังพบว่าผู้ประกันตนมาตรา 39 ประมาณ 1.6 ล้านคน และมาตรา 40 ประมาณ 3.3 ล้านคน ไม่มีสิทธิประโยชน์การว่างงาน และผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบยังไม่ครบ 6 เดือนอีกกว่า 7 หมื่นคน ก็ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์การว่างงานตรงนี้ จึงต้องมาหารือเพิ่มเติมในการประชุม ครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเกือบ 6 ล้านคน
ดังนั้น จึงมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณที่ได้วางแผนเอาไว้ ฉะนั้นสำหรับการออกมาตรการระยะที่ 3 และ 4 จึงจัดให้มีการประชุม ครม.นัดพิเศษ เพื่อให้มีการรับฟังข้อมูลมาตรการเยียวยาจากทุกกระทรวง ให้ได้มีการหารือกันให้ครอบคลุมทั่วถึง ไม่ซ้ำซ้อน จะได้กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณที่เหมาะสมต่อไป
นางนฤมลกล่าวอีกว่า นอกจากที่ประชุมจะหารือถึงงบประมาณแล้ว จะได้มีการหารือรวมไปถึงแหล่งเงินสำหรับกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าวว่าจะมาจากแหล่งใด มาตรการทางการเงินการคลังคืออะไร กฎหมายเปิดให้ทำได้มากน้อยแค่ไหนในการหาแหล่งเงินทุนมาดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนที่มีการพูดถึงรัฐบาลอาจมีการขอออกพระราชกำหนดกู้เงินนั้น ต้องศึกษากฎหมายว่าเปิดให้ทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการจ่ายเงินแผ่นดิน จะทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ซึ่งงบประมาณของปี 2563 ไม่ได้กำหนดรายการนี้เอาไว้ แต่ทั้งนี้ยังมีช่องทางของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของกระทรวงการคลังที่จะนำมาหารือว่ามีช่องทางอื่นที่จะให้กู้เงินหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |