“ประยุทธ์” ใช้ยาแรงแล้ว ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามออกเคหสถาน 22.00-04.00 น. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เม.ย.แบบไร้กำหนดจบ พร้อมชะลอทุกชาติเข้าไทยจนถึง 15 เม.ย. ลั่นแนวหน้าเข้มแข็ง-แนวหลังเข้มงวด ประเทศไทยชนะแน่ เปิดตัวเลขผู้ป่วยเพิ่ม 104 คน สะสมรวม 1,875 ราย เสียชีวิตอีก 3 ทำยอดตายรวม 15 คน แต่ สธ.ชี้เคสกลับจากปากีสถานไม่ใช่โควิด-19 เล็งยกระดับเข้มด่านสนามบิน หมอหนูชง ครม.นัดพิเศษเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์อีก 4.5 หมื่นตำแหน่ง “บิ๊กแดง”ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจลากยาวอีก 2-3 ปี ให้กองทัพปรับตัว
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 104 ราย ยอดสะสม 1,875 ราย หายป่วยแล้ว 505 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 15 ราย ในส่วนของผู้เสียชีวิตรายใหม่ รายแรกคือ ผู้ป่วยชาย 57 ปี มีประวัติเดินทางมาจากปากีสถานในวันที่ 29 มี.ค. และเดินทางด้วยรถไฟไปสุโหงโก-ลกในวันที่ 30 มี.ค. และเสียชีวิตบนรถไฟที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 31 มี.ค. ตรวจสอบแล้วมีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงด้วย
รายที่สอง ชายไทยอายุ 77 ปี มีโรคถุงลมโป่งพอง เบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาตัวในโรงพยาบาลปัตตานี กระทั่งอาการแย่ลงและเสียชีวิตลงในวันที่ 31 มี.ค. และรายที่สามเป็นชายไทยอายุ 55 ปี อาชีพขับรถสาธารณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่าขับรถไป จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 15 มี.ค. และกลับ กทม.วันที่ 16 มี.ค. จากนั้นวันที่ 18 มี.ค. มีอาการไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย และเข้ารักษาตัวที่คลินิกวันที่ 20 มี.ค. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน กทม.วันที่ 29 มี.ค. และเสียชีวิตในวันที่ 1 เม.ย.
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 104 รายนั้น พบว่า กลุ่มแรกมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วย 60 ราย กลุ่มสอง 36 ราย มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สัมผัสผู้ป่วย อยู่ในพื้นที่แออัด และเป็นบุคลากรทางแพทย์ ซึ่งในกลุ่มที่สองนี้นายกฯ ให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อมโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ ที่ประชุม ศบค.จึงมีมติให้ชะลอการเดินทางของคนไทยและคนต่างชาติที่จะเข้าประเทศตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 เม.ย. ยกเว้นกลุ่มคนที่ขออนุญาตไว้ก่อนแล้ว เพราะเสี่ยงที่จะทำให้คนในชาติติดเชื้อ โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะทำข้อมูลเพื่อไปแจ้งต่อประชาชน ส่วนคนที่มีจำเป็นต้องเดินทางกลับให้ติดต่อสถานทูตนั้นๆ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเข้มงวดที่สุด
“ส่วนนักเรียนไทยในมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (เอเอฟเอส) หากมีอะไรให้ผู้ปกครองติดต่อ กต. หรือหากนักเรียนสงสัยว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ติดต่อสถานกงสุลในแต่ละเมือง เราขอให้เลื่อนการเดินทางออกไปช้าหน่อย”นพ.ทวีศิลป์ระบุ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อใน กทม.และนนทบุรีมีแนวโน้มลดลง ส่วนต่างจังหวัดมีตัวเลขเพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นนี้ต้องหาสาเหตุต่อไป โดยนายกฯ ห่วงใยว่าเมื่อไรตัวเลขผู้ติดเชื้อจะคงที่ หรือลดลงกว่าเดิม แม้ใน กทม.และนนทบุรีจะดีกว่าเมื่อก่อน แต่ยังดีไม่พอ ยังเป็นระดับร้อยอยู่ นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจประชาชน 77 จังหวัด จำนวน 1.4 แสนคน ผ่านระบบออนไลน์ เรื่องมาตรการป้องกันตัวเอง พบว่าใส่หน้ากากอนามัย 94.03% ล้างมือบ่อย 90.47% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราต้องการ แต่ข้อที่น่ากังวลคือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร มีเพียง 64.81% เท่านั้น เราเป็นห่วงและอยากให้ช่วยตรงนี้ให้มากขึ้น โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ระบุว่าจากการสำรวจการเดินทางของประชาชนในวันธรรมดาลดลง 20-30% ซึ่งไม่น่าพอใจ จึงขอความร่วมมือนายจ้าง ผู้ประกอบการ ให้พิจารณาปรับปรุงการทำงานเพื่อให้ลูกจ้างลดการเดินทาง หรือลดความแออัด เพิ่มระยะห่าง ถ้ายังเปิดโรงงานและสถานประกอบการอยู่ แน่นอนว่าจะมีความเสี่ยงที่ท่านต้องจัดการ
“นายกฯ ได้กำชับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ร่วมมือกันดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งบางพื้นที่ยังมีการเล่นการพนัน จึงต้องจับให้ได้ ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง คนทำไม่ดีต้องถูกลงโทษ”
ข่าวดีผลิตชุดตรวจเชื้อราคาถูก
เมื่อถามว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ รัฐมีการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างไรบ้าง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีการพูดกันในที่ประชุมนานพอสมควร ซึ่งนายกฯ สั่งการให้คาดการณ์ปริมาณไว้เลยว่าต้องใช้เท่าไร จะสนับสนุนเต็มที่ โดยได้ตั้งงบประมาณในการจัดหาหน้ากาก N95 จำนวน 6 หมื่นชิ้นต่อวันให้ได้ แม้จะเป็นที่ต้องการของทั่วโลก และจากเดิมที่จะใช้ครั้งเดียวนั้น ตอนนี้กำลังคิดวิธีนำมาใช้ซ้ำให้ได้ 3 ครั้งด้วยวิธีทำความสะอาด อยู่ระหว่างการพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ สำหรับยาที่ต้องใช้รักษาสต๊อกไว้ 5 หมื่นเม็ด สั่งญี่ปุ่น 4 หมื่นเม็ด และวันที่ 12 เม.ย. จะรับจากจีนอีก 1 แสนเม็ด
“ยังมีข่าวเมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และผู้แทนบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ได้มอบชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้รัฐบาล 2 หมื่นชุดแรก และจะทยอยส่งมอบครบ 1 แสนชุดภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะกระจายให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเมื่อก่อนเราต้องสั่งซื้อชุดละ 4,500 บาท แต่ตอนนี้เราผลิตได้เอง ทำให้เหลือราคาชุดละ 1,500 บาท เป็นการประหยัดงบประมาณได้มาก”
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้า ในการประชุม ศบค. นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุมให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทำงานด้วยความช่วยเหลือกัน ไม่ขัดแย้ง และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในทุกมาตรการ รวมทั้งสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการรองรับทางเศรษฐกิจ โดยต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ครบถ้วน เมื่อสถานการณ์ยุติต้องมีมาตรการเพื่อการฟื้นฟู รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจกับประชาชนในการดำเนินการมาตรการต่างๆ ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของรัฐ เช่น เพจไทยคู่ฟ้า ไม่ให้เกิดการบิดเบือน เป็นประเด็นทางโซเชียลมีเดีย ในส่วนของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล ยังรวมกลุ่มนั่งดื่ม ขอให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายพิจารณาลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด
สธ.ชี้ตายไม่เกี่ยวโควิด
ขณะเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชายวัย 57 ปีที่เพิ่งกลับจากปากีสถานและเสียชีวิตบนรถไฟ พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ว่าบุคคลดังกล่าวเสียชีวิตเฉียบพลันไม่เหมือนกับการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ ยืนยันว่าไม่ได้ตายจากโรคโควิด-19 เพราะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการเหนื่อยหอบตลอดทาง ยังสามารถซื้อตั๋วรถไฟได้อยู่
ขณะที่ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและเป็นโรคหัวใจด้วย หากป่วยอาการหนักด้วยโรคโควิด-19 ต้องใช้เวลาหลายวันก่อนเสียชีวิต ซึ่งกรณีผู้เสียชีวิตรายนี้ มีโรคประจำตัวร่วมด้วย อาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน เพราะเบาหวานเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ภูมิในร่างกายลดลงด้วย
นพ.โสภณยังกล่าวถึงกรณีเด็กนักเรียนไทยในอังกฤษยอมรับว่าตัวเองกินยาพาราฯ ลดไข้ เพื่อไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อเดินทางกลับไทย และเมื่อถึงไทยได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าไม่สบายเข้าข่ายอาการโรคโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับไว้กักตัว เพราะคัดกรองแล้วไม่มีไข้ว่า ตามมาตรฐานการตรวจหากไม่พบไข้ก็ไม่สามารถกักตัวได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยสงสัยว่าเข้าข่ายติดเชื้อให้รีบไปโรงพยาบาล จากนี้คงต้องยกระดับการคัดกรองที่สนามบินให้เข้มข้นมากขึ้น
"ผู้ป่วยใหม่หลายรายที่กลับมาจากต่างประเทศล้วนมีใบรับรองแพทย์ แต่พบว่าป่วยโรคโควิด-19 นั้น เพราะใบรับรองแพทย์แค่ช่วยยับยั้งโรคได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งยืนยันได้เต็มร้อยว่าจะปลอดเชื้อโรคโควิด-19" นพ.โสภณกล่าว และว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนการประเมินผลลัพธ์คาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 1 สัปดาห์
ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ
และในเวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) โดยได้ชี้แจงถึงมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการก่อนระบุว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด และลดการสัญจรของพี่น้องประชาชน จะประกาศข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 4 ทุ่ม ถึงตี 4 ทั่วราชอาณาจักร โดยเว้นผู้ที่มีเหตุจำเป็น จะเริ่มในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 เวลา 22.00 น. ซึ่งต้องขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า อาหาร เพราะท่านยังสามารถออกมาซื้อหาข้าวของในช่วงกลางวันได้ตามปกติ แต่ต้องเคร่งครัดในเรื่องระยะห่างทางสังคมด้วย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ด้านการควบคุมสินค้า ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า โดยขอย้ำว่าจะไม่ปล่อยให้ผู้ใดกักตุนหรือฉวยโอกาส หรือแสวงหาผลประโยชน์ซ้ำเติมความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกัน โดยจะต้องรับโทษอย่างรุนแรง ซึ่งการกักตุนสินค้ามีอัตราโทษสูง จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน บก.ปคบ.1135 ส่วนการยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศนั้น ยืนยันชาวต่างประเทศไม่ได้เดินทางเข้ามาแล้ว ตั้งแต่ที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไป เว้นแต่เป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนด และในช่วงนี้ขอความร่วมมือชะลอการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ถึง 15 เม.ย.
“สิ่งสำคัญอีกประการคือด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤติ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และผู้ปฏิบัติงานมีความชัดเจน ไม่สับสน หรือสร้างความขัดแย้ง ศบค.จัดให้มีระบบการสื่อสารที่เป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกันในทุกช่องทางเป็นประจำทุกวัน และขอให้สื่อมวลชนทุกสำนัก รวมถึงสื่อโซเชียล ใช้ความระมัดระวังในการสื่อสาร โดยขอให้ใช้ข้อมูลจากศูนย์นี้เท่านั้น ห้ามการสื่อสารที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อมูล รวมถึงผู้ที่สร้างข่าวปลอม หรือเฟกนิวส์ และส่งต่อข่าวปลอม เพราะจะมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ”
นายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับที่ยังควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คือมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเฉลี่ยแล้วอยู่ในอัตราไม่ถึง 20% ไม่สูงถึง 33% ที่เป็นระดับของประเทศมีแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่เป้าหมายร่วมกันของเราคือการขจัดโรคภัยและเชื้อร้ายนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และทุกคนปลอดภัย ดังนั้นเราต้องไม่ประมาท เราต้องไม่ปล่อยให้มีผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และทำให้ตัวเลขลดลงจนเป็นศูนย์ให้ได้ ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือปฏิบัติตนตามมาตรการแยกตัวอยู่บ้าน เพื่อลดภาระของทีมแพทย์และพยาบาล ที่เสียสละต่อสู้กันมานานหลายเดือน หากแนวหน้าเข้มแข็ง และแนวหลังเข้มงวด ประเทศไทยก็จะชนะศึกครั้งนี้ได้แน่นอน
“สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน และทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านทั่วประเทศ ที่อดทน เสียสละ ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการดูแล ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ขอให้ท่านรับรู้ว่า ทุกท่านเป็นบุคคลสำคัญในใจผม และคนไทยทุกคน และขอให้ทุกคนมั่นใจว่า ผมจะทำทุกทาง เพื่อที่จะนำพาประเทศของเรา ก้าวข้ามเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้อย่างมีสวัสดิภาพ อย่างพร้อมเพรียงกัน ขอให้พวกเราสู้ไปด้วยกัน ประเทศไทยต้องชนะ”
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามออกข้อกำหนดที่ 2 ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 2 มีเนื้อหาสรุปว่า ตามที่ได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ไปแล้วนั้น เพื่อให้มีมาตรการเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว จึงออกข้อกำหนดเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ดังนี้ ข้อ 1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานเวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้า อุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้า-ออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือเดินทางไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นและมีมาตรการป้องกันโรค หรือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ออกนอกประเทศไม่ได้ให้จัดที่เอกเทศกักตัว
ข้อ 2 ในกรณีที่มีการประกาศหรือสั่ง ห้าม เตือน หรือแนะนำ ในลักษณะเดียวกับข้อ 1 สำหรับจังหวัด พื้นที่ หรือสถานที่ใด โดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดเคร่งครัดกว่ากำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นด้วย 3.ในกรณีไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใด ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. ตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. สาเหตุหลักเนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพบว่าที่ผ่านมายังมีบางพื้นที่แอบจัดปาร์ตี้พบปะสังรรค์และมีสถานบันเทิงบางแห่งยังแอบเปิดให้บริการอยู่ รวมถึงกรณีวัยรุ่นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ไม่สนคำเตือนของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันโควิด-19 และมีการก่อกวนถึงโรงพยาบาลนครพิงค์ ด้วยเหตุผลดังกล่าวเหล่านี้ทำให้นายกฯ ต้องตัดสินใจยกระดับมาตรการเข้มข้น
ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลภายในระยะเวลา 7 วัน หากยังไม่เกิดผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ ก็อาจมีการยกระดับขั้นสูงสุดเป็นเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงต่อไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า การประกาศเคอร์ฟิวจะมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในช่วงเคอร์ฟิว เช่น พนักงานส่งของ พนักงานขนส่งหนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นรถขนส่งหนังสือพิมพ์จะต้องมีใบรับรองจากบรรณาธิการระบุว่าชื่ออะไร หน่วยงานไหน ทำหน้าที่อะไร กรอบเวลาการทำงานว่าทำวันไหนถึงวันไหน และข้อมูลต้องตรงกับบัตรประชาชนที่เขาถือ และขอแนะนำให้ทำสำเนาไว้มากกว่า 1 ชุด เผื่อเจอเจ้าหน้าที่ขอยึดใบรับรองนั้นไว้ จะได้เหลือใบรับรองไว้ใช้แสดงตนต่อไป โดยเราเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เลยยกเว้นตามที่กล่าวมา แต่สำหรับคนที่ไม่มีความจำเป็นจะถือว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดและมีโทษ
มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวาระพิเศษในวันที่ 3 เม.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอวาระขอบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมที่ดูแลผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 45,242 ตำแหน่ง เช่น พยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ และนักวิชาการสาธารณสุข หรือ หมออนามัย ที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นอกจากนี้จะเสนอให้ปรับปรุงสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการแพทย์?เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ บุคลากรทางการแพทย์?ทำงานหนักมาก เปรียบเมือนทหารในสงคราม แต่ไม่มีสวัสดิการคุ้มครองตัวเองที่ดีพอ
ส่วนที่กองบัญชาการกองทัพบก มีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เพื่อรับฟังสถานการณ์ประจำวันและการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมสั่งการให้การล้างสิ่งปนเปื้อนให้ปฏิบัติถึงวันศุกร์ที่ 3 เม.ย.เป็นวันสุดท้าย และได้เน้นย้ำข้อสั่งการ ภายหลังทหารหญิงสังกัดกรมสารบรรณทหารบก ติดเชื้อโควิด-19 และพักอาศัยในแฟลตทหาร เรื่องตั้งจุดตรวจ ในพื้นที่แฟลตส่วนกลางทั้ง 10 แห่ง รวมทั้งการติดตั้งกล้องซีซีทีวีบันทึกการผ่านเข้า-ออก โดยให้ทุกหน่วยปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย
“พล.อ.อภิรัชต์ย้ำในที่ประชุม การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ 2-3 ปี ขอให้ ผบ.หน่วยปลูกจิตสำนึกในการเสียสละ งบประมาณประจำปีอาจถูกตัดงบประมาณอีก 10% ต้องเตรียมการรับสถานการณ์ให้ดี”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |