สามชาร์ตล่าสุดจาก Financial Times จะเห็นภาพการระบาดของ Covid-19 เปรียบเทียบของเอเชียกับโลกตะวันตกได้ชัดเจนพอสมควร
เมื่อวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและแนวเส้นโค้งที่สะท้อนจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ก็น่าจะทำให้รัฐบาลไทยตัดสินว่าจะต้อง “ตบเส้นโค้งของกราฟให้แบน” อย่างทันการณ์ได้อย่างไร
ตารางแรกจะเห็นแนวเส้นกราฟของโลกตะวันตกไปในทิศทางเดียวกัน คือยังสูงทั้งคนป่วยและคนตาย
ขณะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์สามารถ “ควบคุม” การแพร่ของเชื้อได้ระดับหนึ่ง
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สามารถ “ชะลอ” การแพร่ได้
เส้นกราฟของญี่ปุ่น, สิงคโปร์และฮ่องกงเริ่มเบนออกไปทางข้าง ถือว่าสามารถ Flatten the Curve หรือ “ทำให้เส้นโค้งแบนลงได้” อย่างมีนัยสำคัญ
ชาร์ตที่สองจะเริ่มเห็นอิตาลีเริ่มกระเตื้อง
ตัวเลขของผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลงไปตามแนวทางเดียวกัน
ชาร์ตนี้จะเป็นเส้นกราฟของจีนวิ่งขึ้นสูงในตอนแรก และเมื่อใช้มาตรการที่เข้มข้นก็สามารถทำให้นิ่ง
นิ่งถึงขั้นที่เมื่อไม่กี่วันก่อน ครบสองเดือนที่ปิดเมืองอู่ฮั่น ก็ทยอยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตที่เกือบปกติ (แต่ยังไม่ปกติทั้งหมด...ยังทำด้วยความระมัดระวัง)
พอนิ่งแล้วก็เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีตัวเลขของการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ทำให้เส้นกราฟถูกดันขึ้น แม้จะไม่สูงเหมือนเดิม แต่ก็ทำให้เจ้าหน้าที่จีนมีความหวาดหวั่นว่าจะเกิด “การระบาดรอบที่สอง” จึงต้องพยายามสกัดอย่างสุดฤทธิ์
ภาพที่สามแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตของอิตาลีเริ่มจะ “นิ่ง” แต่ตัวเลขของสเปนยังพุ่งต่อ
สหรัฐฯ และอังกฤษก็ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อสองวันก่อนให้คนอเมริกันเตรียมตั้งรับ “สองสัปดาห์ข้างหน้าที่จะปวดร้าวอย่างยิ่ง” (very, very painful)
ขณะที่ทีมผู้เชี่ยวชาญของทำเนียบขาวนำเสนอภาพจำลองว่ามีความเป็นไปได้ที่จำนวนคนอเมริกันที่จะเสียชีวิตจากไวรัสตัวนี้ 100,000-240,000 คน!
คณะผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ บอกว่านี่เป็นตัวเลขจากการประเมินจากสถิติและแนวโน้มทั่วโลก จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ภาพที่น่ากลัวเช่นนี้เกิดขึ้นในความเป็นจริง
สังเกตว่าเส้นกราฟของจีนเป็นลักษณะภูเขาที่ลาดลงอย่างชัน
ในสองกราฟแรกจะเห็นของจีนและเกาหลีใต้เบนออกด้านข้างเป็นเส้นตรง
แปลว่าสามารถจะควบคุมสถานการณ์ให้นิ่งได้แล้ว หากไม่มี “คลื่นระบาดลูกที่สอง”
ประเมินจากภาพรวมของโลกแล้ว ไทยเราควรจะทำอย่างไร?
ผมเชื่อว่าคณะแพทย์ของผู้เชี่ยวชาญของเราต้องการให้ผู้นำประเทศประกาศมาตรการที่เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อจะ Flatten the Curve ในแนวทางเดียวกับจีน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
เพราะหากปล่อยให้เป็นตามเส้นกราฟของเราปัจจุบันอาจจะ “เอาไม่อยู่” เหมือนอิตาลีและสเปน
คุณหมอยง ภู่วรวรรณ ได้เขียนไว้ในเฟซบุ๊กของท่านเมื่อสองสามวันก่อนว่าอย่างนี้
โควิด-19 ควบคุมการระบาดให้มีผู้ป่วยน้อยที่สุด
การระบาดของประเทศไทยขณะนี้ ถ้าดูตามตัวเลขและมาตรฐานที่ใช้
อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยอยู่ในการกระจายโรคที่ 1.5 (R0)
ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าธรรมชาติของโรค R0 = 2.5 แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ
เพราะถ้าปล่อยแบบนี้ จำนวนผู้ป่วยปลายเดือนเมษายนจะขึ้นเป็นหลักหมื่น เราจะต้องช่วยกันศึกษาจากบทเรียนของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุม
วิธีการควบคุมการระบาด นอกจากที่เราทำกันที่กล่าวมาแล้ว
จีนและเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค มีผู้ป่วยรายใหม่น้อยที่สุด
จีนใช้มาตรการเต็มที่ในการกักกันโรคไม่ให้แพร่กระจาย
กระบวนการปิดเมือง ปิดการจราจร กำหนดระยะห่างของบุคคลและสังคม บังคับใช้หน้ากากอนามัย ไม่ให้ออกจากบ้าน กักกันผู้ป่วยไม่ให้ไปติดผู้อื่น ทุกคนมีระเบียบวินัย ลดการแพร่กระจายเชื้อ จนแทบจะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในจีน
เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ
โดยใช้นโยบายค้นหาผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อด้วยการตรวจวินิจฉัย
จะเห็นว่าเกาหลีใต้มีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีหา RNA ไวรัสในผู้ป่วยมากกว่า 200,000 ราย ในระยะเวลาไม่ถึงเดือน เพื่อค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มแรก และเข้าสู่กระบวนการเก็บตัว รักษา
ประเทศไทยมาถึงจุดหนึ่งที่จะต้องเริ่มมาตรการอย่างเข้มแข็ง
น่าจะนำบทเรียนจากประเทศจีนและเกาหลี โดยการใช้มาตรการอย่างเข้มแข็งของประเทศจีน
ทุกคนต้องมีระเบียบวินัย และมีการลงโทษอย่างจริงจัง ให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการควบคุมโรค
รวมทั้งเพิ่มปริมาณการค้นหาผู้ป่วยแบบเกาหลี เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อให้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการให้รวดเร็ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เราควบคุมโรคได้
ข้อเสนอของคุณหมอยงและคณะแพทย์ในแนวหน้าของสงครามครั้งนี้น่าจะทำให้ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดความลังเลในการใช้ “ยาแรง” อย่างจริงจังได้แล้ว!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |