การพิจารณาคดีในยุคโควิด-19 ภาระที่ท้าทาย'ศาลยุติธรรม'


เพิ่มเพื่อน    

      ตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 เป็นต้นมา สถานการณ์ระบาดของโรคไวรัส “โคโรนา” หรือ “โควิด-19” หนักขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลกระทบเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ ทำให้ทุกฝ่ายต้องพยายามปรับการใช้ชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสให้น้อยลงที่สุด โดยการลดความเสี่ยงนั้นต้องหลีกเลี่ยงการรวมตัวของผู้คน กลายมาเป็นสโลแกนที่ภาครัฐย้ำเตือนมาตลอดในช่วงนี้ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

                เมื่อคนต้องอยู่บ้าน แต่งานต้องเดิน ทำให้ประชาชนต้องปรับการใช้ชีวิตในการทำงานมาเป็น Work from Home หรือทำงานจากที่บ้าน อย่างไรก็ตาม การทำงานในบางตำแหน่งที่ไม่สามารถทำงานอยู่บ้านได้เสมอไป อย่างเช่นบุคลากร และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ก็มีทั้งส่วนที่สามารถเดินไปต่อได้ และส่วนที่ต้องชะงักล่าช้าออกไปด้วยความจำเป็น

                “ศาลยุติธรรม” ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด ได้มีมาตรการออกมาหลากหลายฉบับด้วยกันเพื่อป้องกันไวรัสโควิด ให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้านได้ และการบริหารจัดการคดีในยามวิกฤติ ที่ต้องลดจำนวนผู้มาศาลให้น้อยลง นับว่าโชคดีประการหนึ่ง ที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ พยายามอย่างแข็งขันในการยกระดับสู่ “สังคมดิจิทัล” ใช้เทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ช่วยเหลือในการทำงานให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ศาลยุติธรรมในยุค “สราวุธ เบญจกุล” เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมก็เช่นกัน ได้ผลักดันนโยบายศาลดิจิทัล D-Court ที่กลายมาเป็นความจำเป็นในช่วงวิกฤตินี้ด้วย

                โดย “สราวุธ” ได้ยกตัวอย่างการปฏิบัติตามนโยบายศาลดิจิทัลที่ทำได้จริงไว้ ตามการเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2563 อาทิเช่น “แนวทางการไกล่เกลี่ยออนไลน์ ด้วยการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO/Web Conference) และการสื่อสารด้วยภาพและเสียงระบบ VDO call หรือ Facetime ในแอxพลิเคชัน LINE, การสืบพยานและอ่านคำพิพากษา การผัดฟ้อง/ฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์, การติดตามผลคดีผ่านระบบ Tracking System และการขอรับไฟล์คำพิพากษารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ CIOS ที่สามารถดำเนินการได้ใน 10 วันนับแต่การอ่านคำพิพากษา,  การยื่นฟ้องแพ่ง-ส่งคำให้การคดีแพ่งออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing”

                จากที่ระบุมานี้ ในส่วนของคดีแพ่งมีความสะดวกอย่างชัดเจน ด้วยระบบ e-Filing ที่ศาลได้วางรากฐานและโปรโมตมายาวนาน ยื่นฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องมาศาล รวมถึงการสืบพยาน อ่านคำสั่ง คำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งสามารถช่วยให้การพิจารณาคดีเดินหน้าต่อไปได้ แม้ทำงานจากที่บ้าน

                ขณะที่คดีอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนที่มากขึ้น การพิจารณาคดีท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิดย่อมมีอุปสรรคนั้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563 คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติเห็นชอบให้ออกประกาศ ก.บ.ศ. เรื่อง การบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) ประกาศฉบับนี้ให้มีการเลื่อนคดีจัดการพิเศษและการนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-31 พ.ค.2563 ออกไป พร้อมกำหนดข้อยกเว้นบางคดีที่ไม่เลื่อน เช่น คดีอาญาที่จำเลยต้องขัง คดีแพ่งบางประเภท และคดีอื่นๆ ที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ

                ในทางปฏิบัติของการบริหารจัดการคดีอาญาในศาลยุติธรรมเวลานี้ จึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคดี สำหรับส่วนของคดีที่จำเลยไม่ถูกคุมขัง ขึ้นอยู่กับทางผู้พิพากษาจะใช้ดุลพินิจพิจารณา อาทิเช่น เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2563 การนัดอ่านคำสั่ง/คำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีที่ “สิระ เจนจาคะ”  ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทฯ ไม่เลื่อนนัด คาดว่าเพราะเป็นการอ่านคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ที่ตัวคู่ความไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาล ไม่เป็นเหตุให้มีผู้คนเข้ามาในห้องพิจารณาจำนวนมาก จึงไม่ถูกเลื่อน

                ขณะที่วันเดียวกัน การนัดตรวจหลักฐาน คดีที่ “พรรณิการ์ วานิช” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “ปารีณา ไกรคุปต์” ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทฯ ได้เลื่อนนัดออกไป แม้จะเป็นคดีหมิ่นประมาทฯ เหมือนกัน แต่คาดว่าเพราะคดีนี้เป็นการนัดตรวจหลักฐาน ซึ่งคู่ความ ทีมทนายความต้องหอบหลักฐานมาพูดคุยตกลงกัน เรื่องการนำพยานเข้าสืบมากน้อยแค่ไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้คนเข้ามาในห้องพิจารณาจำนวนมากแน่นอน จึงต้องเลื่อนนัดไปตามประกาศ ก.บ.ศ.

                ตัวอย่างคดีทั้งสองที่ยกมา อาจช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด การนัดคดีเรื่องใดจะถูกเลื่อนหรือไม่เลื่อนได้บ้าง ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง ว่าจะเป็นเหตุให้ผู้คนมารวมตัวกันที่ศาลมากน้อยเพียงใด ตามเงื่อนไขของประกาศ ก.บ.ศ. ตอนหนึ่งว่า “ให้คำนึงถึงจำนวนคดี จำนวนคู่ความในห้องพิจารณา และจำนวนบุคคลที่จะต้องมารวมกันที่ศาล และหากมีความจำเป็นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาโดยปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย ก็อาจใช้ดุลพินิจให้เลื่อนคดีไปได้”

                สำหรับคดีที่จำเลยถูกคุมขัง ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นให้เลื่อนคดีได้นั้น เพราะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังในเรื่องระยะเวลาที่ถูกคุมขัง แต่ถ้ามีการเบิกตัวมาศาล ก็อาจประสบปัญหากรณีมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่เดินทางมาเยี่ยมตัวจำเลยในศาล ถ้ามีจำนวนมากก็สุ่มเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น ผู้พิพากษาอาจต้องใช้วิธีอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้จำเลยฟังอยู่ที่เรือนจำ ซึ่งเคยมีการอ่านคำพิพากษาวิธีนี้ในคดีปลอมเอกสารโอนหุ้นที่ “พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์” เป็นจำเลยก็เป็นได้

                ปัญหาที่มองเห็นในการพิจารณาคดีเวลานี้ อยู่ที่การใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาจะพบอุปกรณ์ติดตั้งอยู่ในบางห้องพิจารณาคดีเท่านั้น ในขณะที่ความจำเป็นต้องใช้จะมากขึ้นแล้ว และภายหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป คดีที่เลื่อนนัดมาจะผสมกันเป็นงานกองโตอีกด้วย วิกฤติโควิด-19 จึงท้าทายการทำงานของศาลเป็นอย่างยิ่ง.

นายชาติสังคม

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"