จ่องัดพรก.กู้เงิน สู้ศึกโรคระบาด!


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ย้ำคนลงทะเบียนรับ 5 พัน ต้องถูกคัดกรองคุณสมบัติด้วยระบบ AI เตรียมหามาตรการอื่นเพิ่มให้คนไม่เข้าเกณฑ์ เผยกำลังจัดหางบทั้งภายในภายนอก เล็งออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อให้เพียงพอ ครม.ไฟเขียวปลดล็อกประกันสังคมจ่ายเงินทดแทน 62 เปอร์เซ็นต์ให้ลูกจ้างกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย-รัฐสั่งหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน “กรณ์” ย้ำช่องทางหาเงินปรับโอนงบ 63-ออก พ.ร.ก.เงินกู้-ปรับ พ.ร.บ.งบฯ 64 “คำนูณ” หนุนปรับโอนงบออก พ.ร.ก.เป็นทางเลือกสุดท้าย ส.ส.ปชป.ยุใช้ยาแรงล็อกดาวน์ประเทศ 14 วัน แต่ ส.ส.พท.ให้เน้นออก กม.บังคับใส่หน้ากากควบคู่ Social Distancing

เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านไลฟ์สดทางเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าว่า วันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปชี้แจงแล้วว่าประชาชนส่วนใดที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทบ้าง เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งลูกจ้างรายวัน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งได้รับผลกระทบจริงๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะบางคนไปลงทะเบียนเพื่อหวังว่าจะได้เงินโดยทันที แต่มันจำเป็นจะต้องมีมาตรการคัดกรอง ซึ่งจะใช้ระบบ AI ดำเนินการเพื่อวิเคราะห์คัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เมื่อตรวจสอบทั้งหมด แล้วข้อมูลจะถูกยืนยันและจ่ายเงินเข้าระบบ ดังนั้นผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จประมาณ 20 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับเงินเยียวยา ขอให้ทำความเข้าใจร่วมกันด้วย ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามที่กำหนดก็จะถูกคัดแยกออกไป 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวออกมาว่าผู้ลงทะเบียนบางรายพยายามลงให้ได้มากที่สุดเพื่อมีโอกาสฟลุกที่จะได้รับเงิน ว่า  ถ้ากรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ และมีการตรวจสอบพบในภายหลังรับเงินเยียวยาไปแล้ว จะต้องถูกเรียกเงินคืน ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ของท่านด้วย เพื่อรักษาสิทธิของตัวเองให้ได้ ตนเข้าใจว่าทุกคนอาจได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ในภาวะวิกฤติโรคระบาดนี้ อยากให้ทุกคนได้เข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน อย่าไปตัดโอกาสการเข้าถึง โอกาสการช่วยเหลือของคนที่ลำบากจริงๆ ส่วนผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติรับเงินเยียวยา 5,000 บาทนี้ รัฐบาลก็จะหามาตรการช่วยเหลือ อาจจะออกมาตรการอื่นเพิ่มเติมเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดผลกระทบของประชาชนให้ได้มากที่สุด
“ผมเข้าใจว่าผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นนานพอสมควร เราจะมีมาตรการระยะ 3 ถึง 4 ออกมา ผมให้มีการพิจารณาในช่วงวงรอบ 3 เดือน ในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ เราจำเป็นต้องจัดการงบประมาณทั้งภายในและภายนอก ทั้งงบประมาณปี 63 และพระราชกำหนดกู้เงินที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ ทุกมาตรการต้องดูว่าใช้เงินอย่างไร หาเงินจากที่ไหน ให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ดังนี้ จาก “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน เป็นให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน 
หยุดกิจการจ่ายทดแทน 62%
นางนฤมลกล่าวว่า ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 60 วัน เป็นในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน
นอกจากนั้น ครม.เห็นชอบทบทวนอัตราตามร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ขอทบทวนอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตามร่างข้อ 2 จากเดิมให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 211บาท เป็นให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 86 บาท
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กว่า 5,000 บาท สำหรับ 24 ล้านคน เมื่อมีผู้ขึ้นทะเบียนเงิน 5,000 บาททะลุ 20 ล้านคนแล้วจะทำอย่างไร? ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ‘ไม่เกินความคาดหมาย’ เพราะคนที่เดือดร้อนมีมากกว่า 3 ล้านคนแน่นอน และถึงแม้อาจจะมีคนที่ไม่ควรมีสิทธิแฝงเข้ามาบ้าง แต่ในการประเมินของ ‘กล้า’ เราคิดว่าผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลืออยู่ที่ประมาณ 24 ล้านคนมาจากไหน!? คำตอบคือ.. 1.ผู้มี "อาชีพอิสระ" 12 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ (สมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 จำนวน 5 ล้านคน และอิสระอื่นๆ 7 ล้านคน) พ่อค้าแม่ขายรายเล็ก หาบเร่แผงลอย เจ้าของธุรกิจ SME ขนาดเล็ก-กลาง ที่ลำบากหมุนเงินไม่ไหว 2. "เกษตรกร" 4 ล้านคนที่ไม่อยู่ในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ผู้ผลิตอาหาร ข้าว พืช ผัก ผลไม้เข้าเมือง และส่งออก จ่อด้วยภาวะภัยแล้งที่กำลังจะโถมเข้ามาซ้ำเติม 3."ลูกจ้างรายได้น้อย" หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ชำระภาษีเงินได้ 8 ล้านคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เดือดร้อนหนักมาก สามกลุ่มนี้ 24 ล้านคน เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องช่วยเหลือเร่งด่วน 
นายกรณ์ระบุว่า ส่วนเงินนั้นเราจะหามาได้ จาก 3 ส่วนหลักดังนี้ 1.ปรับโอนงบประมาณปี 63 ไม่ใช่แค่ขอให้ลดแล้วช่วยแบ่งมา ต้องออกกฎหมายเร่งด่วนให้ชัดเจน 2.ออก พ.ร.ก.เงินกู้ ในกรณีที่จะต้องมีแผนชัดว่าจะช่วยเหลือแบบไหน อย่างไร 3.ปรับ พ.ร.บ.งบประมาณปี 64 ที่ ครม.อนุมัติขั้นต้นไปเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา (สามารถใช้ได้ต้นเดือนตุลาคม) ให้ตอบสนองต่อภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด รัฐบาลควรเพิ่ม "เบี้ยยังชีพ" ให้แก่กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดในสังคม อย่างเช่น 1.ผู้สูงอายุ 2.แม่ลูกอ่อน และ 3.คนพิการด้วย เพราะกลุ่มนี้ปกติต้องพึ่งพาเงินสมทบจากสมาชิกในครอบครัวที่ทำมาหากิน ตอนนี้คนวัยทำงานหาเลี้ยงครอบครัวลำบากกันหมด คนกลุ่มนี้จึงยิ่งต้องได้รับการดูแลที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะออกกฎหมายโอนงบประมาณ 10% ของงบประมาณปี 2563 ที่เหลืออยู่จากทุกหน่วยมาไว้ที่งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อรับมือวิกฤติโควิด-19 ว่า ขอสนับสนุนแนวทางนี้ของรัฐบาล เพราะขณะนี้งบกลางจำนวน 96,000 ล้านบาท ถูกใช้จ่ายในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 และยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อีก ในขณะที่งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 ในปัจจุบัน จัดทำมาตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งมีบางส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้จ่ายได้หรือบางส่วนใช้จ่ายไม่ทัน โดยเฉพาะงบในส่วนของการอบรมสัมมนา การเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จึงควรจัดสรรเงินในส่วนที่ไม่ได้ใช้จ่ายดังกล่าวมากองไว้ที่งบสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อรับมือกับโควิด-19 และกรณีนี้ถือว่าเข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 สามารถออกเป็นพระราชกำหนดโยกงบประมาณได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเมื่อเอามากองอยู่ตรงนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็สามารถนำมาใช้ได้เลย 
ออกพรก.ทางเลือกสุดท้าย
นายคำนูณกล่าวว่า หากเงินงบประมาณในส่วนนี้ยังไม่พอเพียง ยังมีอีกทางเลือก คือเงินในกองทุนสำรองตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ซึ่งในมาตรา 45 บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่จำเป็นในการใช้บริหารราชการแผ่นดิน และงบกลางในการใช้สำรองจ่ายฉุกเฉิน หรือจำเป็นไม่เพียงพอ ครม.ก็สามารถมีมติออกมาให้ รมว.การคลังนำเงินกองทุนในส่วนนี้ออกมาใช้ได้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท แต่มีข้อเสียว่าเมื่อนำออกมาใช้แล้วจะต้องไปตั้งจ่ายคืนในปีงบประมาณถัดไป อาจทำให้งบประมาณปี 2564 ต้องลดลง หรืออีกทางคือการออกเป็นพระราชกำหนดอนุญาตให้กระทรวงการคลังกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตินี้ แต่เห็นว่าน่าจะเป็นทางสุดท้ายที่จะดำเนินการ
     นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ผู้เสนอตั้งพรรคเสมอภาค กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่ามีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 กำลังประสบปัญหาไม่มีรายได้เข้ามาใช้ในการบริหารกิจการ และยังต้องแบกรับภาระการชำระหนี้ที่ได้กู้ยืมมาจากธนาคารต่างๆ ทั้งธนาคารของรัฐและของเอกชน เพื่อใช้ในกิจการในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องหาเงินมาชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีกด้วย เช่น ผู้ประกอบการโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ปิดโรงแรม ทำให้ขาดรายได้มาบริหารกิจการ ไม่สามารถประคับประคองกิจการต่อไปได้ เพราะต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร และยังต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่แม้จะลดให้ 1% ก็แทบไม่มีจะจ่าย ทำให้ต้องปิดกิจการ พนักงานลูกจ้างจึงตกงานขาดรายได้ 
     “จากปัญหาภาระหนี้สินดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ถ้าหากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยพักชำระหนี้ให้ ผู้ประกอบการก็ต้องใช้เงินที่มีอยู่ไปประคับประคองกิจการตัวเอง ซึ่งมีแต่รายจ่ายไม่มีรายได้ สุดท้ายถ้าเงินหมดก็ต้องปิดกิจการหรือต้องล้มละลายไปจำนวนมาก และหากสถานการณ์ไวรัสโควิดคลี่คลายแล้วก็ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเหมือนเดิมได้ จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยออกมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ และพักการชำระเงินสบทบกองทุนประกันสังคม ไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ วิธีนี้จะช่วยรักษาผู้ประกอบการรายเดิมให้กลับมาดำเนินกิจการต่อได้อย่างเข้มแข็งทันที ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็นับเป็นมาตรการที่ดีแม้ระบบจ่ายเงิน จะมีปัญหาบ้างก็น่าจะปรับแก้ไขได้ไม่ยาก” นางลัดดาวัลลิ์กล่าว 
น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า  ขอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยานักเรียน นักศึกษา ซึ่งกู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง และนักเรียน นักศึกษาไม่สามารถทำกิจกรรมจิตอาสาตามเงื่อนไขที่กำหนด ที่ผ่านมากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้กำหนดเงื่อนไขให้นักเรียน นักศึกษาทำกิจกรรมจิตอาสาปีละ 36 ชั่วโมง แต่เนื่องจากการระบาดของไวรัสไม่สามารถดำเนินกิจกรรมจิตอาสาได้ จึงเห็นว่าควรพิจารณาลดจำนวนชั่วโมงดังกล่าว และเพิ่มแนวทางในการทำกิจกรรมเป็นการเรียนรู้ที่สามารถทำได้ที่บ้านทดแทน อีกทั้งควรพิจารณามาตรการผ่อนผันการชำระหนี้หรือพักหนี้สำหรับผู้ที่กำลังชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างไปจนสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย ซึ่งล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ก่อตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้มีการหารือกับ กยศ.ในเบื้องต้น เพื่อร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือผู้กู้เงินกองทุนฯ ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว
หนุนล็อกดาวน์ประเทศ14วัน
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ตนได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องทุกวัน พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันยังสูงหรือยังน่าเป็นห่วงอยู่ ยังหาจุดที่เส้นกราฟจะลดลงไม่พบ แม้ว่ารัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ทุกคนใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ายังมีคนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือพยายามหาช่องโหว่ของมาตรการดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองดังที่ได้รับทราบกันอยู่ จึงพอสรุปได้ว่า มาตรการการขอความร่วมมือจะใช้ไม่ได้ผลกับคนไทยบางส่วน สอดคล้องกับสำนวนไทยที่กล่าวว่า “ทำได้ตามใจคือไทยแท้” ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องใช้ “ยาแรง”
“ผมขอเสนอให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศไทย เป็นระยะเวลา 14 วันในระยะแรก ในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลจะต้องประเมินผลกระทบของการใช้มาตรการล็อกดาวน์ แล้วปรับแก้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจจำเป็นต้องขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไปก็ได้ หลักการใหญ่ๆ ของมาตรการนั้น รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยให้ท้องถิ่นรับไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางจังหวัดหรือบางพื้นที่ก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้าง” นายสามารถระบุ
นายสามารถกล่าวต่อว่า หลักการใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ เช่น ประกาศห้ามประชาชนทั้งประเทศออกนอกบ้านตลอด 24 ชั่วโมง และห้ามเคลื่อนย้ายข้ามเขตจังหวัด อำเภอ และประเทศด้วย หรือ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” สำหรับร้านค้าโดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านขายยา เครื่องอุปโภคบริโภคให้เปิดเป็นห้วงเวลาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แต่ต้องประกาศให้ประชาชนในพื้นที่นั้นทราบเวลาเปิด-ปิดโดยทั่วกันอย่างชัดเจน  หากประชาชนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องออกจากบ้าน จะต้องได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่ประชาชนไม่ปฏิบัติตามให้ลงโทษทันที และเสนอให้รัฐบาลปรับโยกงบประมาณปี 2563 ที่กำลังใช้กันอยู่ และปรับงบประมาณปี 2564 มาช่วยเหลือประชาชนให้มีกินมีใช้อย่างเพียงพอตามความเหมาะสม รวมทั้งดูแลบริษัทห้างร้านให้สามารถอยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากทำได้เช่นนี้ มั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลงได้อย่างแน่นอน 
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการชะลอการระบาดของโควิด-19 ว่า ปัจจุบันเราสามารถแบ่งกลุ่มประเทศเรื่องการคุมโควิด-19 คร่าวๆ ออกเป็นสองกลุ่ม 1.ที่คุมอยู่ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ 2.ที่คุมไม่อยู่ เช่น อเมริกา อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส เป็นต้น หลายแนวคิดแบ่งสองกลุ่มนี้โดยคำว่า ปิดทุกอย่างในประเทศหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถูกต้อง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไม่ได้ปิดทุกอย่างในประเทศ แต่คุมอยู่ ปัจจัยที่น่าเอาไปศึกษาต่ออย่างยิ่ง คือกลุ่มที่คุมอยู่ มีวัฒนธรรม กฎหมาย และความระวังอย่างเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย แต่กลุ่มที่คุมไม่อยู่ กลับเห็นหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องไม่จำเป็น อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่าไม่ติดไม่ต้องใส่ 
“ฉะนั้นประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่การปิดทุกอย่างในประเทศหรือไม่ แต่อาจอยู่ที่การทำให้คนใส่หน้ากากอนามัยโดยเคร่งครัดได้หรือไม่นั่นเองหากเราใช้กฎหมายบังคับให้ทุกคน เมื่อออกนอกบ้าน 1.ต้องใส่หน้ากาก 2.ต้องใส่แว่น 3.ห้ามทานอาหารร่วมกัน ควบคู่ไปกับ Social Distancing แค่ในช่วง 30-60 วันนี้ทำทั้ง 3-4 ข้อนี้ มนุษย์ก็แทบจะไม่สามารถแพร่เชื้อและติดเชื้อได้ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจต่ำกว่าการปิดประเทศทั้งประเทศหรือเคอร์ฟิวอย่างมีนัยสำคัญ แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการปกป้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของหน้ากาก ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่จะจัดหาให้ประชาชนอย่างเพียงพอ” นายเผ่าภูมิกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"