เกาะแมว , ยาไต และคนไร้ประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

หมู่แมวแห่งเกาะเคนไก เกาะเล็กๆ ไม่ห่างจากจังหวัดฟุกุโอกะ

ญี่ปุ่นกับไทยมีความสัมพันธ์มาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างที่ทราบกัน คนของทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่ ท่องเที่ยว ทำธุรกิจ รวมถึงพำนักอาศัยในดินแดนอีกฝ่าย จนเรียกได้ว่าคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี   

เมื่อทางการญี่ปุ่นมีมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 โดยสามารถอยู่ได้สูงสุด 15 วัน หลายคนก็ตื่นเต้นและเตรียมตัวกันยกใหญ่เพื่อจะไปเยือนดินแดนซากูระ-ปลาดิบโดยไม่ต้องขอวีซ่าให้ยุ่งยาก ผมก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนระริกระรี้เหล่านั้น และได้เดินทางไปญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว   

แผนการเดินทางของแบ็คแพ็คเกอร์หน้าใหม่อย่างผมคือเที่ยวจากตอนใต้ของประเทศ คือเกาะคิวชู แล้วจึงค่อยๆ ไต่ขึ้นเหนือ แวะตามเมืองใหญ่ของเกาะฮอนชูเรื่อยไปจนจบที่โตเกียว โดยมี “เจอาร์พาส” สำหรับ 7 วัน (ราคาประมาณ 9 พันบาท) ที่คุ้มค่ามากหากว่ามีแรงตื่นเช้า เก็บกระเป๋า แล้วท่องไปกับรถไฟชิงกันเซ็นทุกวัน ก็จะได้เยี่ยมชม (แบบลวกๆ) ถึงหกเจ็ดเมืองเลยทีเดียว ถ้าเริ่มใช้พาสนี้ในวันที่ 4 หรือ 5 ของการเดินทางก็จะไปจบในวันที่ 10 หรือ 11 ซึ่งหลังจากนั้นเราก็ควรจะอยู่ที่ปลายทางก่อนขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทยโดยไม่ต้องตะลอนต่อไปอีกแล้ว บางคนมีกำลังวังชาเหลือล้นก็สามารถซื้อแบบ 14 วัน รถไฟชิงกันเซ็นก็อาจจะพาท่านไปถึงเกาะฮอกไกโดที่เมืองฮาโกดาเตะ แล้วต่อรถไฟธรรมดาของบริษัทเจอาร์ไปถึงเมืองซัปโปโรเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับจากที่นั่นก็ย่อมได้

ขบวนพาเหรดของคณะฟ้อนรำย้อนยุคในเทศกาล “ดงทาคุ” กลางเมืองฟุกุโอกะ

ปลายทางญี่ปุ่นครั้งแรกของผมคือเมือง “ฟุกุโอกะ” นอกจากว่าผมมีภารกิจที่เมืองนางาซากิที่อยู่ไม่ไกลกันแล้ว ก็ยังมีเกาะแมวอยู่เกาะหนึ่งที่ได้รับการแนะนำไว้ในเว็บไซต์สองภาษา (ญี่ปุ่น – อังกฤษ) เว็บหนึ่ง นอกจากนี้เพื่อนญี่ปุ่นคนเดียวที่ผมมีในขณะนั้นก็อาศัยอยู่ในเมืองนี้

บนถนนนากาสุคาวาบาตะ (Nakasukawabata Dori) วันที่ผมไปถึงในต้นเดือนพฤษภาคม ชาวเมืองฟุกุโอกะกำลังเฉลิมฉลองเทศกาล “ดงทาคุ” (Dontaku) กันอยู่ ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในสมัยเมื่อแปดร้อยกว่าปีก่อนของญี่ปุ่น ในปัจจุบันที่กลับมาฉลองกันอย่างคึกคักถือเป็นหนึ่งในสามกิจกรรมสำคัญที่สุดของฟุกุโอกะ มีงานรื่นเริงหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือขบวนพาเหรดแต่งกายย้อนยุคและคณะผู้ฟ้อนรำ ค่อยๆ ปล่อยมาทีชุด ทีละชุมชน ผู้ชมสองข้างทางก็มีจำนวนมากไม่น้อยหน้าผู้อยู่ในขบวน จึงไม่แปลกใจที่เกสต์เฮาส์และโรงแรมที่พักหาได้ยากมากในช่วงนี้ ผมต้องเปลี่ยนที่พักทุกวันในเวลา 4 วัน โดยต้องแบกกระเป๋าไป-มาระหว่างเกสต์เฮาส์ 2 แห่งที่อยู่ห่างกันราว 2 กิโลเมตร  

นอกจากขบวนพาเหรดของคนท้องถิ่นแล้วยังมีขบวนของชาวต่างชาติบางประเทศด้วย และแน่นอนว่าย่อมต้องมีไทยแลนด์ เข้าใจว่าเป็นกลุ่มของคนไทยที่ทำมาหากินอยู่ในเมืองนี้ (ร่วมกับชาวญี่ปุ่นบางส่วน) แม้ว่าหัวขบวนคือสตรีในชุดไทยพร้อมสายสะพาย “นางสาวเชียงใหม่ 2558” ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากรูปถ่ายก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเธอคือ “น้องสา” นางสาวเชียงใหม่ตัวจริงเสียงจริงที่คงได้รับคำเชิญให้มาร่วมงานนี้ 

กิจกรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่โบราณของญี่ปุ่น

เทศกาลดงทาคุกินเวลา 2 วัน คือวันที่ 3 และ 4 พฤษภาคมของทุกปี จัดในพื้นที่ต่างๆ ของเมืองกว่า 30 แห่ง บรรยากาศครึกครื้น ผู้คนที่พบเจอยิ้มแย้มเป็นกันเอง อาหารการกินวางขายทุกมุมเมืองแถมยังราคาถูก คนญี่ปุ่นนั้นตอนทำงานก็ทำกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ตอนที่พวกเขาสนุกสนานก็จริงจังไม่แพ้กัน จึงอยากบอกว่าหากใครพลาดเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงดอกซากูระบานก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ จะแก้ตัวด้วยเทศกาลนี้ก็ไม่เสียหาย

ผมนัดเจอ “โคซู” ในเย็นวันที่สองหลังจากมาถึงฟุกุโอกะ เลือกเอาร้าน Morris’ Hippo บนถนนนากาสุคาวาบาตะ ริมแม่น้ำนากา เป็นร้านลักษณะ “บริติชผับ” เราไม่ได้ตั้งใจจะกินมื้อเย็นกันที่นี่ เพียงแต่ว่าผมรู้จักอยู่ที่เดียว และอาศัยเป็นที่ฝากท้องมา 2 มื้อแล้ว

เธอถือหนังสือแนะนำร้านอาหารเล่มโตมาด้วย ถามผมว่าอยากกินอะไร ผมตอบว่าอะไรก็ได้

“กินปลาหมึกแบบเป็นๆ ได้ไหม” ผมส่ายหัว “ซาชิมิไก่ล่ะ” ผมส่ายหัวอีก แล้วถามเธอว่า “ซาชิมิปลาซาบะไม่มีหรือ ได้ข่าวว่าที่นี่ขึ้นชื่อ”

“ก็ถามตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากกินอะไร” โคซูย้อน

เราเดินไปย่านเทนจิน (Tenjin) กินปลาดิบแกล้มสาเกและเบียร์ที่ร้านแรก เธอพาไปต่ออีกร้านซึ่งต้องขึ้นลิฟต์ไปสี่ชั้น เรากินปลาย่างและอะไรอีกหลายอย่าง พร้อมด้วยสาเก

“ข้าวที่ใช้หมักสาเกรสชาติดีๆ ส่วนมากมาจากนิงาตะ” 

โคซูรู้ดีเพราะเธอเกิดในจังหวัดนิงาตะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกตอนกลางของประเทศ แต่มาทำงานอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมสิทธิสตรีฟุกุโอกะได้หลายปีแล้ว

“เงินเดือนไม่ขึ้นเลย” เธอว่า “มันบ่งบอกสถานการณ์สิทธิสตรีของเราได้เป็นอย่างดี จากการจัดอันดับในเรื่องนี้ญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 103 ของโลก ประเทศไทยนั้นดีกว่าเรามาก แต่ก็ยังดีที่เขาไม่ยุบศูนย์นี้ทิ้งไป ไม่งั้นฉันคงแย่”

หมดสาเกไปหลายจอก และโชชูเข้ามาเสริมในตอนท้าย (จะขออธิบายความแตกต่างระหว่างสาเก, โชชู และโซจู รวมถึงอะวะโมริ ในวันหลัง) หลังจากไต่ถามความเป็นไปของชีวิตอีกฝ่ายจนหมดข้อสงสัยเราก็ออกจากร้านโดยที่โคซูไม่อนุญาตให้ผมจ่ายแม้แต่เยนเดียว

เธอเดินไปส่งผมที่เกสต์เฮาส์ใกล้ๆ ตลาดคาวาบาตะ แล้วก็กล่าว “โอยาซูมินาไซ” แก่กัน

“พบกันใหม่เมื่อคุณกลับมาจากนางาซากิ” เธอทิ้งท้าย

ขบวนของชาวไทยในเทศกาล “ดงทาคุ” บ่งบอกถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองชาติ

สายๆ วันต่อมาผมเดินตามแผนที่ไปขึ้นเรือที่ท่า Hakata Futoh จ่ายค่าโดยสารเที่ยวละ 860 เยนเพื่อนั่งเรือเฟอร์รี่ไปยังเกาะเคนไก (Kengaijima) รวมทั้งไปและกลับ 1,720 เยน หรือประมาณ 520 บาท ใช้เวลาเดินทาง 35 นาทีก็ถึงเกาะของชาวประมงและหมู่แมว เรือเฟอร์รี่เมื่อส่งเราแล้วก็รับผู้โดยสารจากเกาะกลับไปยังเมือง

เกาะเคนไกเป็นเกาะเล็กๆ มีท่าเรือเฟอร์รี และอู่จอดเรือของชาวประมง รวมถึงลานจอดเฮลิค็อปเตอร์ บ้านเรือนสมัยใหม่สภาพแข็งแรงปลูกไต่ระดับขึ้นไปบนเนินเขา ถนนที่อยู่หลังหมู่บ้านก่อสร้างอย่างดีมีราวกั้นบนไหล่ทาง ฝั่งที่ติดเนินเขาก็เสริมแรงด้วยกำแพงคอนกรีตป้องกันดินถล่ม นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนและสถานีอนามัย ส่วนด้านหลังหรืออีกฝั่งของเกาะผมไม่ทราบว่ามีอะไรบ้างเพราะไม่ได้เดินไปเนื่องจากทางชันเหลือเกิน อีกทั้งเกาะนี้ไม่ใช่เกาะสำหรับนักท่องเที่ยว ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่มีภาษาอังกฤษเลย

พวกแมวส่วนมากรวมตัวกันอย่างหลวมๆ บริเวณท่าเรือประมง รอเวลาที่โชคเข้าข้างมีคนเอาปลามาประเคนให้ ผมกดกาแฟเย็นกระป๋องจากตู้หยอดเหรียญมานั่งดื่มที่ม้านั่งๆ ไม่ห่างจากท่าเรือ แมวเหล่านี้ส่วนมากอยู่ในสภาพมอมแมมแต่อ้วนท้วนดี ดูแล้วก็น่ารักไปอีกแบบ ผมหยิบมันฝรั่งแผ่นออกมาจากเป้ ลองโยนให้ตัวที่อยู่ใกล้ๆ ปรากฏว่ามันกิน ไม่รู้ว่าหิวหรือเบื่ออาหารทะเลกันแน่ ตัวอื่นๆ รีบวิ่งเข้ามาขอบ้าง จนผมหว่านให้พวกมันทั้งถุง แล้วขอถ่ายรูปเป็นการแลกเปลี่ยน

ในวันที่สองของเทศกาลมีขบวนการตกแต่งรถด้วยแสงสี    

เมื่อกลับเข้าฝั่งฮากาตะกับเรือเที่ยว 5 โมงครึ่ง ผมแวะซื้อหมูย่างกิน 2 ไม้ บริเวณหน้าท่าเรือในวันนั้นมีพ่อค้าแม่ค้ามาออกร้านขายอาหารกันอยู่อย่างคึกคัก จากนั้นเดินกลับไปงีบในเกสต์เฮาส์ ตื่นมาก็ออกไปกินมื้อค่ำที่ร้าน Morris’ Hippo อีกจนได้ แต่ถึงแม้จะเป็นร้านสไตล์อังกฤษก็มีอาหารญี่ปุ่นให้เลือกหลายอย่าง

อีกวันผมออกจากเกสต์เฮาส์ใกล้ๆ ถนนโชวะ (Showa Dori) ไปเช็กอินที่เกสต์เฮาส์หลังตลาดคาวาบาตะอีกครั้ง กินราเม็งอันเลื่องชื่อของฟุกุโอกะเป็นมื้อเที่ยง ตกเย็นมีหนุ่มฮังกาเรียนที่ทำงานอยู่ในกรุงลอนดอนมาชวนออกไปกินดื่มด้วยกันแต่ผมปฏิเสธเพราะรู้สึกเบื่อชาวตะวันตกเต็มที คงเพราะที่เกสต์เฮาส์เก่ามีหนุ่มฝรั่งเศสคนหนึ่งพูดมากจนน่ารำคาญและชอบเอาเปรียบผู้อื่น แต่เมื่อมีลุงคนหนึ่งจากมาเลเซียมาชวน ผมก็ออกไปกับแกอย่างง่ายดาย

“ลุงซันนี่” เพิ่งมาถึงฟุกุโอกะวันนี้ ผมพาแกนั่งรถไฟใต้ดินไปย่านเทนจิน เราต่างมีตั๋วแบบ One-day pass หรือใช้แบบไม่อั้นในหนึ่งวัน บนถนนวาตานาเบะมีซุ้มยาไต (Yatai) หรือร้านอาหารเล็กๆ ริมทางที่เปิดเรียงกันหลายร้านในเวลากลางคืน เลือกเอาร้านที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินเพราะทราบดีว่าซุ้มยาไตไม่มีห้องน้ำ หากมีความจำเป็นก็ต้องใช้ในสถานีรถไฟใต้ดิน

เมื่อไม่พอใจก็รำมวยใส่กัน

ร้านที่เราเลือกมีกุ๊กคนหนึ่งและผู้ช่วยอีกคนหนึ่งคอยปรุงอาหารตามออร์เดอร์อยู่ด้านในซึ่งล้อมรอบพวกเขา 3 ด้านด้วยที่นั่งคล้ายๆ เคาน์เตอร์บาร์เหล้า มีริ้วผ้าม่านห้อยลงมาจากหลังคา แต่ส่วนมากจะถูกตวัดขึ้นแล้วมัดเป็นจุกม้วนไว้เพื่อความโปร่งโล่ง ร้านแนวนี้ใครจะนั่งตรงไหนก็ได้ หากคนเต็มก็ไปร้านอื่น อาหารมีทั้งแบบปิ้งย่าง ทอด และจำพวกเส้น ซึ่งล้วนใช้เวลาไม่นานในการทำให้สุก บางอย่างเสียบไม้ตั้งโชว์อยู่ตรงหน้า เราแค่ชี้ๆ กุ๊กหนุ่มก็หยิบไปย่างหรือทอดพอเป็นพิธีแล้วยื่นมาวางตรงหน้าเพราะทำให้สุกมาก่อนแล้ว

ผมกับลุงซันนี่ทยอยสั่งอาหารมาคราวละสองสามอย่าง แก้จุกด้วยเบียร์ท้องถิ่นและสาเก ลุงแกนั่งติดคู่รักทางด้านขวามือจึงจับคู่สนทนากันฝั่งนั้น ผมนั่งติดกลุ่มวัยรุ่นสาวจากมหาวิทยาลัยฟุกุโอกะ พวกเธอเรียนด้านวรรณคดีและวัฒนธรรม ผมก็สนทนากับพวกเธอฝั่งนี้

ผ่านไป 2 ชั่วโมงกว่าเราจึงเรียกเก็บเงินโดยหารกันคนละครึ่ง ลุงซันนี่จากปีนังบอกว่าขอบใจมากที่พาแกมากินอาหารริมทางอันมีชีวิตชีวา เมื่อกลับถึงเกสต์เฮาส์ แกเปิดซิงเกิลมอลต์ ยี่ห้อ Talisker ที่ติดกระเป๋ามารินใส่แก้วที่หยิบมาจากห้องครัว 2 แก้ว ผมไม่รีรอรับคำชวน เพราะนี่คือหนึ่งในซิงเกิลมอลต์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด

เกาะเคนไก เกาะสวรรค์ของมวลแมว

แกเล่าให้ฟังว่าเกษียณการทำงานมาตั้งแต่อายุ 50 ปีเพื่อเดินทางท่องเที่ยว นับจนถึงปัจจุบันก็เป็นปีที่ 15 แล้ว เพราะก่อนหน้านั้นเปลืองกำลังไปมากจากการทำงานเป็นวิศวกรขุดเจาะน้ำมันในทะเล ประจำการมาหลายประเทศ ที่โหดสุดแกยกให้ไนจีเรีย

“ผมอยู่ที่นั่น 8 ปี เหมือนติดคุกเลย”

ข้างๆ เรามีชายชาวเอเชียคนหนึ่งใส่แว่นอ่านหนังสืออยู่ ลุงซันนี่ถามว่ามาจากประเทศอะไร เขาไกด์ว่า “ผมไม่มีประเทศ”

“มีด้วยหรือคนไม่มีประเทศ”

“มีสิ มีก็เหมือนไม่มี จะเรียกว่าประเทศก็ไม่ได้”

แต่ถึงกระนั้นเราก็ทายอยู่นานและยังไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง

“ไต้หวัน” ชายผู้นั้นเฉลย.

เตียงนอนสำหรับการพักผ่อนยามบ่าย    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"