เรื่องหน้ากากอนามัย ๒๐๐ ล้านชิ้น มีแต่ตัวเลข ไม่มีตัวหน้ากากที่พูดกันมานานนั้น
บทจะจบ.....
ก็จบดื้อๆ แค่รองนายกฯ วิษณุพูดว่า
"ของเก่าไม่ต้องพูดถึง.......
เราประเมินใหม่ ทำแผนจ่ายใหม่ โรงงานผลิตหน้ากาก ๑๑ โรงงาน ผลิตได้ ๒.๓ ล้านชิ้น/วัน
ดังนั้น ว่ากันใหม่วันนี้ ๕ โมงเย็น (๓๐ มี.ค.๖๓) จะใช้บริการไปรษณีย์ไทยขนหน้ากากอนามัย (สีฟ้า) กระจายทั่วประเทศ
โดยผู้รับจะมี ๒ หน่วยงานหลัก คือ
-กระทรวงสาธารณสุข โควตา ๑.๓ ล้านชิ้น กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น
-กระทรวงมหาดไทย โควตา ๑ ล้านชิ้น ส่งไปยังผู้ว่าฯ ๗๖ จังหวัด บวก กทม.
โดยจะให้กับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ แต่ใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้มีความเสี่ยง เช่น อสม.ผู้บริการประชาชน ตำรวจ-ทหารตั้งด่าน คนเก็บขยะ เป็นต้น"
ครับ....
แบบนี้ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า "พูดง่าย แต่ฟังยาก"!
การจัดระเบียบใหม่นี้ มันก็ดี "ไปรษณีย์ไทย" เจ้าเดียว ประหยัดรัฐมนตรีได้ถึง ๒ กระทรวง คือ พาณิชย์, สาธารณสุข
แต่ของหลวง "ตกน้ำไม่ไหล-ตกไฟไม่ไหม้" ดังนั้น ถ้าท่านรองฯ วิษณุจะตัดบทจบ
ท่านก็ต้องระวัง จบแล้วจะเจ็บเองทีหลัง!
เรื่องหน้ากาก เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดูๆ ไปมันจะเหมือนนิยายเรื่อง "ห้วงรัก-เหวลึก" เข้าไปทุกที
เอกชนทั้งใหญ่-เล็ก ช่วยทั้งเงิน ทั้งของก็มาก จีน, แจ็ก หม่า ส่งอุปกรณ์การแพทย์มาให้ก็ไม่น้อย
ทั้งรัฐบาลเองก็ทุ่มเงินเป็นพันๆ ล้านซื้อทุกอย่างที่ขาดแคลน
โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย N95 ที่ใช้เฉพาะแพทย์ตามโรงพยาบาล และหน้ากากสีฟ้าที่ใช้ทั่วไป
ก็เข้าใจ ช่วง "ยมทูตใต้พิภพ" ออกล้างโลก บางอย่าง ถึงมีเงินก็หาซื้อยาก เช่นหน้ากาก N95 เพราะทั้งโลกต้องการ
แต่นั่นแหละ......
ประเทศไทยเหมือนมี "หลุมดำ" ยังไงไม่รู้ ได้มาเท่าไหร่ๆ หายเข้าไปใน "หลุมดำ" ซะมาก-ต่อมาก?
ระดับบริหารกระทรวง...บอกพอ
แต่ระดับปฏิบัติการ โรงพยาบาล แพทย์-พยาบาล...บอกไม่พอ ต้องขอบริจาค
ก็เลยเกิดร็อกเล็กๆ ระหว่างกระทรวงกับโรงพยาบาล!
กระทรวงก็ว่าขอบริจาค ทำให้คนสงสัย...ไหนว่ามีพอ?
แต่โรงพยาบาลก็แย้งว่า จะให้แพทย์-พยาบาล "เปลือยหน้า" ออกรบกับโควิดงั้นหรือ?
อืมมมม...ปัญหามันเกิดขึ้นในองค์กรแล้วล่ะ
ระหว่าง "กองบัญชาการส่วนหน้า" คือระดับบัญชาการในกระทรวง
กับ "แนวรบส่วนหน้า" คือ แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์
ที่ปฏิบัติการ "เสี่ยงติด-เสี่ยงตาย" อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทั่วประเทศ
ภาพหมอ-พยาบาล ตามโรงพยาบาล ต้องเย็บหน้ากากใช้เอง มันยิ่งกว่ามีดโกนกรีดใจ
สงครามสร้างวีรบุรุษ โควิดก็เช่นนั้น ท่ามกลางอุปกรณ์ทางการแพทย์อันเป็นอาวุธประจำกายนักรบ ไม่พอ-ไม่มี
โรงพยาบาล เช่น จุฬาฯ, ศิริราช, วชิระ, สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ ฯลฯ
ก็คิดค้น-วิจัย-พัฒนา อุปกรณ์ช่วยตรวจหาเชื้อโควิดเบื้องต้นบ้าง
อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์บ้าง
เป็นการดิ้นรน "เพื่อชาติ-เพื่อประชาชน" ด้วยงานวิจัย-พัฒนาโดยคณะแพทย์ น่าตื่นเต้นและภาคภูมิใจจริงๆ
ท่ามกลางการคิดค้น-ดิ้นรน-พัฒนานั้น กลับมีคนจากกองบัญชาการส่วนหน้าแถลงในภาพรวมเชิงเตะตัดขา ประมาณว่า
จะล้ำเลิศประเสริฐศรีมาจากไหนก็ตาม......
ต้องผ่าน อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน!
คือ ตราบที่เทพผู้ประสิทธิ์ "อย.-กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" ยังไม่ประทับตรา
จะหน้ากาก จะเครื่องมือตรวจอะไรๆ ก็ "ไม่ขลัง" ทั้งนั้น!
ดูอย่างหน้ากาก ทั้ง N95 และสีฟ้าธรรมดา ที่แจ็ก หม่า ส่งมาให้ก็แล้วกัน
แทนจะรีบกระจาย เพราะนักรบแนวหน้า "แพทย์-พยาบาล" กำลังรอในสถานการณ์รบประจัญบานโควิด
แต่ด้วยระบบก็ดองไว้ก่อน ๔-๕ วัน รอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย.ปลุกเสกก่อน!
เรื่องความสำเร็จด้าน "วิจัย-คิดค้น-พัฒนา" ของแพทย์โรงพยาบาลต่างๆ เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องภูมิใจและช่วยกันสนับสนุน
เพราะนี่แหละ ประเทศนอกจากพัฒนาด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว
งานวิจัย-คิดค้น-พัฒนา มุ่งนวัตกรรมเช่นนี้แหละ ไทยจะรอดและรุ่ง พุ่งสู่ "ศตวรรษใหม่" สมภาคภูมิ!
วานซืน......
-โรงพยาบาลวชิระ
รองศาสตราจารย์ นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช แถลง
"คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล".........
ได้คิดค้นนวัตกรรมสำหรับดัดแปลงการสร้างหน้ากากอนามัยที่มีมาตรฐานสูงกว่า N95 จากวัสดุทางการแพทย์ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ ขึ้นใช้เองได้แล้ว
ระดับความสามารถกรองอนุภาคได้ถึง N99 คือเหนือกว่า N95!
ผ่านทดสอบในห้องปฏิบัติการของวชิรพยาบาลในเรื่องศักยภาพการกรองอนุภาค และผ่านการตรวจสอบเรื่องการยึดกระชับหน้ากากแล้ว
เวลานี้ "วชิรพยาบาล" ใช้หน้ากากป้องกันเชื้อ N99 สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาลวชิระแล้ว
-โรงพยาบาลจุฬาฯ.........
"ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล" รองอธิการบดีจุฬาฯ ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 แถลง
ได้พัฒนาชุดตรวจ Chula COVID-19 Strip Test ใช้วิธีเจาะเลือดปลายนิ้ว ทดสอบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดหรือไม่
วิธีนี้ ง่าย สะดวก เร็ว ปลอดภัย เป็นการคัดกรองเบื้องต้น
แบ่งเบาการไปตรวจตามโรงพยาบาลตามวิธีมาตรฐาน แค่เจาะเลือด ถ้า Negative ก็ไม่ต้องถึงโรงพยาบาล
-สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
"ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล" อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร CEO ปตท.แถลง
"สถาบันวิทยสิริเมธี" พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย COVID-19 สามารถตรวจโรคได้ภายใน ๓๐-๔๕ นาที
เร็วกว่าการตรวจปัจจุบันที่ใช้เวลา ๔-๖ ชั่วโมง ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
กลุ่ม ปตท., แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) สนับสนุนงบวิจัย
สถาบัน Broad Institute, Massachusetts Institute of Technology and Harvard, USA
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี สนับสนุนด้านเทคโนโลยี
"ผศ.ดร.ชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์" แห่ง VISTEC บอกด้วยว่า เริ่มทดลองกับตัวอย่างจากคลินิกแล้ว
เตรียมผลิตชุดทดสอบเพิ่มเติม ขั้นตอน Clinical Trial เมษา.นี้
ขณะนี้มีสต๊อกประมาณ ๑,๐๐๐ ชุด และสามารถผลิตได้ ๔,๐๐๐ ชุด/วัน หรือประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ชุด/เดือน
ตอนนี้ รอยืนยันผลทดสอบการใช้ และการยืนยันจาก รพ.ศิริราชอีกครั้ง ประกาศใช้เมื่อไหร่ เร่งผลิตได้ทันที
-โรงพยาบาลศิริราช
"ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประธาน
ร่วมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช, ดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ.ศูนย์ TCELS
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รอง ผอ.ศูนย์ TCELS, ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผอ.การวิจัยแห่งชาติ
รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หน่วยวิจัยสนามไฟฟ้า (ประยุกต์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา
รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ นักวิจัยพัฒนาผ้ากันไรฝุ่นศิริราช และ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รอง ผอ.รพ.ศิริราช
แถลงผลสำเร็จ.........
ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกัน COVID-19” ได้สำเร็จ!
เป็น WIN-Masks .......
พัฒนาขึ้นภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง
เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยง และคนทั่วไปที่ต้องอยู่ในกลุ่มชน หรือพบปะผู้คนจำนวนมาก
WIN-Masks นี้ "ลดขยะปนเปื้อน" จากหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วย เพราะซักได้
ภายใน ๓ สัปดาห์ คือในเดือนเมษา.นี้แหละ
ไม่เกิน ๗,๐๐๐ ชิ้น ศิริราชสามารถส่งมอบให้กับโรงพยาบาลหลักๆ ภายใต้บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อ
อีกประมาณ ๑ เดือน จะอาศัยกลไก Crowd Funding ระดมทุน
ให้โรงงานมาตรฐานรับผลิตขยายผลให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ
ให้ถึงมือประชาชนทั่วไปเป็นหลักหมื่น/หลักแสนชิ้นด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับการระดมทุนและกำลังผลิตของโรงงาน
มีคนถาม........
ว่าช่วงนี้ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย หายหน้า-หายตาไปไหน?
ข่าวแว่วๆ ได้รับมอบหมายให้เป็นนินจา
ไปล่า "ตัวกินหน้ากาก"!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |