แฟ้มภาพ
31 มี.ค.63-ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ถึงวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 เวลา 07.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน จึงได้มีการประเมินว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มกว่าที่ได้ประมาณการไว้
อีกทั้ง ตามมาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมแต่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จำนวน 70,676 คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กลุ่มอื่น ๆ นั้น กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป
ในการนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการชดเชยรายได้ฯ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ดังนี้
1.1 ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิม จำนวน 3 ล้านคน เป็น จำนวน 9 ล้านคน
1.2 เพื่อให้สามารถชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที กระทรวงการคลังขอนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2563 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ไปพลางก่อน สำหรับในเดือนต่อ ๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการชดเชยรายได้ฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการหรือโครงการ ตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (ประกาศคณะกรรมการฯ) เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว
2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)
โครงการสินเชื่อฯ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้โครงการสินเชื่อฯ ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.20 ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีต้นทุนผันแปร (Variable Cost) อยู่ที่ร้อยละ 2.56 และ 2.90 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนเงิน (Cost of Fund) อยู่ที่ร้อยละ 1.56 และร้อยละ 1.90 ตามลำดับ และค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองอย่างน้อยธนาคารละร้อยละ 1.00 ของสินเชื่อที่อนุมัติ
ดังนั้น กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฯ เพื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตามที่กล่าวข้างต้น โดยไม่กระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงาน โดยพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสินเชื่อฯ ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน (วงเงิน 40,000 ล้านบาท * ร้อยละ 2 * ระยะเวลา 2 ปี) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อ ๆ ไป
การดำเนินโครงการสินเชื่อฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว
การดำเนินมาตรการดังกล่าวยังเข้าข่ายตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการมาตรการดังกล่าว และกระทรวงการคลังในฐานะผู้เสนอเรื่องดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ต้องจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ
ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละสามสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
โดยกระทรวงการคลังขอเรียนว่า ณ สิ้นวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 893,826.812 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 27.93 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 (วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท) ซึ่งหากรวมภาระทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 (เพิ่มเติม) ของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 682.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.02 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 และโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 10,236.50 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.32 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ยอดคงค้างทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 904,746.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.27 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563
ดังนั้น หากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.05 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 906,346.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |