วันก่อน...........
ดูรายการ "คุณกนก" ทางช่องเนชั่น
เขาไปย้อนอดีตที่โรงภาพยนตร์สกาลา ย่านสยามสแควร์
และพูดคุยกับ "คุณนันทา ตันสัจจา"
ผู้บริหารโรงภาพยนตร์ "ลิโด-สกาลา" ในเครือบริษัท เอเพ็กซ์ ภาพยนตร์
ประเด็นน่าสนใจ คือ "ลิโด-สกาลา"
หมดสัญญาเช่าพื้นที่กับ "สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ" แล้ว
ตอนนั้น ก็พูดกันอึงโซเชียลมีเดีย ว่า
"ทางจุฬาฯ มีแผนทุบ 'สกาลา' ทิ้ง เอาพื้นที่ไปทำอื่นเพื่อผลทางพาณิชย์"!
ก็มีกระแสค้าน "อย่าทุบ..อย่าทุบ" ต่อเนื่อง
ให้เก็บรักษาโรงภาพยนตร์สกาลาไว้เป็น "รอยต่อยุคสมัย" คู่คน-คู่สยามสแควร์
มีความเห็นตรงกันว่า........
"สกาลา" เป็นอะไรที่มากกว่า "โรงหนัง" ปานว่าสายสะดือคนยุค "กึ่งพุทธกาล" ก็ไม่ผิด
คือสยามสแควร์ ลงมือสร้างปี ๒๕๐๘
ตระกูลตันสัจจา ที่ทำโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยอยู่ก่อน ก็มาเปิดโรงภาพยนตร์สยาม ปี ๐๙ ลิโด ปี ๑๑ และ สกาลา ปี ๑๒
สกาลา โดดเด่น ล้ำเอกลักษณ์ขนาดไหน ไม่ต้องพูดอีก
ถึงขั้น "สมาคมสถาปนิกสยามฯ"
มอบรางวัล "อาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม" ให้ เมื่อปี ๒๕๕๕
และสังคมโลก ยกให้เป็นโรงภาพยนตร์เด่นสถาปัตยกรรมเอกลักษณ์ ๑ ในเอเชียอาคเนย์
สรุปเรื่อง ณ ขณะนี้ ยุติอยู่ที่..........
เอเพ็กซ์กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ตกลงกันแต่ปลายปี ๖๐ ว่า
ขยายสัญญาไปจนถึงปี ๖๓.........
เงื่อนไข ปีที่ ๒ ค่าเช่าเพิ่ม ๕% ปีที่ ๓ เพิ่มอีก ๕%!
และทางผู้บริหารสำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ แถลงข้อเท็จจริงตามที่ตกลงกัน ๓ ข้อ ๑ ในนั้น มีว่า
"สำนักงานยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า เราไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด
เรายังคงอยากให้ผู้เช่าประกอบการในส่วนอาคารสกาลาทั้งหมดต่อไปจนกว่าเวลาเหมาะสม
แต่หากผู้เช่ายังยืนยันในเจตนาที่จะเลิกประกอบการสกาลาพร้อมๆ ไปกับลิโด (เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน)
เนื่องจากแบกรับ 'การขาดทุน' ไม่ไหว
ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้มีการเจรจาขอให้สกาลาอยู่ต่อไป
แต่ขอให้คืนเฉพาะลิโด
เนื่องจากปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยรวมของร้านค้าใต้ลิโดที่แบ่งล็อกให้เช่าเป็นร้านค้ารายย่อย มีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก
ขาดการปรับปรุงและบำรุงรักษาที่ดี
ทำให้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จึงจะขอกลับมาพัฒนาพื้นที่เองเมื่อสัญญาสิ้นสุด"
เนื้อความตามท้องเรื่อง ก็ประมาณนี้
เมื่อฟังคำสนทนาระหว่างคุณนันทากับคุณกนก จับประเด็นเพิ่มเติมได้ว่า
ยุคสมัยเปลี่ยน แต่ความเป็นสกาลา "ไม่เปลี่ยน"
จากปี ๒๕๑๒ ถึงวันนี้ ปี ๒๕๖๑ สกาลา คือ โซ่อดีตร้อยปัจจุบัน
เหมือนมุกพันปีเคลียคอเปลือยสาวเปรี้ยววันนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิว่ามุกนั้น ล้าสมัย ฉันใด
"สกาลา" ก็ฉันนั้น!
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า การคงไว้ซึ่งอดีต ต้องแลกกับการแบกรับ "การขาดทุน" ต่อเนื่องทุกปี
ในขณะที่ "ค่าเช่า" เพิ่มขึ้นทุกปี
คนอยู่ในวงการภาพยนตร์จะรู้ "โรงเดียว" ที่เรียกสแตนด์อโลนอยู่เดี่ยว "ไม่รอด-ไม่คุ้ม"
ตามสัญญา ลิโด ต้องทุบทิ้ง เหลือไว้แต่สกาลา!
จาก "โรงเดียว" คนดูนับหัวได้ รายได้หด รายจ่ายเพิ่ม
สกาลา แบกทั้งขาดทุน แบกทั้งค่าสังคม ใจคุณนันทาน่ะ สู้
แต่ขาน่ะซี คงยืนไม่ไหว!
และนั่น ที่สำนักจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เคยบอก "ยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น"
ถึงตอนนั้น "อาจมี"?
ในฐานะผมเห็น "สยาม-ลิโด-สกาลา" มาตั้งแต่ถมทรายรถบรรทุกแรก ที่สยามสแควร์
ก็เข้าใจทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งจุฬาฯ และคุณนันทา
ขึ้นชื่อ "ธุรกิจ" ผิด-ถูกไม่มี
มีแต่ "พอใจ-ตกลง" ของคู่ค้า ว่าอยู่ตรงไหน?
และในทางธุรกิจ มีทางให้เลือกมากกว่าหนึ่งทางเสมอ!
ก็อยากคุยเรื่องนี้..........
ด้วยเจตนาเดียว คือ ต้องการให้เก็บโรงภาพยนตร์สกาลาไว้ ชนิดอมตะนิรันดร์กาล
ถ้าจะพัง ก็ให้พังไปเองเหมือน วังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, กรุงสุโขทัย, กรุงศรีอยุธยา
อย่าพัง ด้วยประวัติศาสตร์สังคมต้องบันทึก ว่า.......
"สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
เป็นผู้ลงมือ "พัง".............
เพื่อเอาพื้นที่ไปขายเลย!
คืออยากทำความเข้าใจกันว่า ที่ดินจุฬาฯ ย่านปทุมวัน กว่า ๑,๓๐๐ ไร่ นั้น
ทุกวันนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ส่วนมหาวิทยาลัย
พื้นที่อันเป็นทรัพย์สินนอกส่วนราชการ มีกฎหมาย แยกขาดตั้งเป็น
"สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ" (PMCU) บริหาร
แต่ก็ยากนะ.......
จากสภาพเหมือน "ไล่ที่สร้างเมือง" ของ PMCU ในที่ดินกว่าพันไร่ของจุฬาฯ ย่านปทุมวัน นั้น
บนมิติใหม่วันนี้ ไม่ว่าที่.......
สยามสแควร์, สแควร์วัน, สยามกิตติ์, จัตุรัสจามจุรี, เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน, ตลาดสามย่าน, สวนหลวงสแควร์
ทุกเสียง "กระแนะ-กระแหน"
ในรูปธรรม-นามธรรม "จุฬาฯ" นั่นแหละ เป็นที่รองรับชนิดเลี่ยงไม่ได้!
กรณี "สกาลา" เช่นกัน........
จุฬาฯ เกี่ยว-ไม่เกี่ยว ก็ต้องเกี่ยว ถ้า PMCU บริหารปัญหายึดธุรกิจไม่อิงใจสังคม
ทุบ-ไม่ทุบอีกเรื่อง แค่สกาลา "หยุดหายใจ"
"จุฬาฯ" คือจำเลย ต้องถูกด่า "มหาวิทยาลัยหิน" แน่นอน!
พูดกันตรงๆ..........
ผมไปดู "ความเปลี่ยนแปลง" ย่านปทุมวันบ่อย
ยอมรับด้านแนวทาง-แนวคิดผู้บริหาร ประเด็นแรก เป็นสัดส่วน ยึดธรรมชาติ ต้นไม้ เรียบง่าย แต่เก๋ และสะดวก มีรสนิยม
ที่ผมเห็นว่า ปัญหาสกาลา มีแนวจะร่วมสร้างสรรค์แทนทำลายได้ ระหว่าง PMCU กับคุณนันทา ก็เพราะ
เคยไปดู "ตลาดสามย่าน" ว่าเดี๋ยวนี้อยู่ตรงไหน?
ขึ้นไปชั้นบน มองพื้นที่รอบๆ ซึ่งเคลียร์เวิ้งว้าง สะดุดตาอยู่จุดหนึ่ง คือ
ทุกอย่างที่ขวางหน้า "รื้อหมด"
ยกเว้น "ศาลเจ้า" โด่เด่เหลือไว้ ไม่แตะ!
เห็นแล้ว นึกชมในใจ.....คนรุ่นใหม่บริหาร นอกจากมีกึ๋นแล้ว ยังมีจิตวิญญาณด้วย
ก็ใช้ได้อยู่!
ไม่เกี่ยวด้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่นี่คือ "รากชีวิต-รากสังคม" ยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง
การ "เก็บไว้" ไม่สะท้อนแค่วิสัยทัศน์ผู้บริหาร ยังสะท้อนมิติ "สถาบันจุฬาฯ" ด้วย
"ศาลเจ้า" ตรงนั้น กับ "สกาลา" ที่สยามสแควร์ ไม่ต่างตรรกะในความเป็น "รากเหง้า"
PMCU ถนอมรักษาไว้เถิด.......
สกาลานี่แหละ จะเป็นสถานที่ลบครหา "จุฬาฯ เอาที่พระราชทานขายกิน"
แค่เติมวิสัยทัศน์ ต่อยอดโรงภาพยนตร์ จากฉายหนัง สลับเป็น
"โรงละคร" บ้าง
เป็น "อัจฉริยสถานร่วมสมัย" ที่นิสิตจุฬาฯ นักศึกษา-คนทั่วไป
ใคร "มีของ"......
ก็มาจับจองเป็นเวที "ปล่อยของ" ในด้านศาสตร์และศิลป์บ้าง
จะใช้เป็น "สถานที่รโหฐาน"........
ให้เช่าเพื่องานด้านแสดง โชว์ การเปิดตัวระดับเวิลด์คลาส
เรียกว่า อะไรที่อลังการ-เลิศหรู เพียบพูนศาสตร์-ศิลป์
ต้องแอดเดรสที่นี่...ที่ "สกาลา" ที่เดียว!
ยึดสกาลาเป็นหัวใจ "สยามสแควร์" ถึงรื้อไป สร้างอะไรใหม่หรูกว่าสกาลา
อาจมีราคา........
แต่ไม่มี "ค่า" เชื่อมโยงเลย!
ไม่ต้องเอาค่าเช่าเพิ่ม ๕% จากคุณนันทาหรอก แถมที่จ่ายอยู่ปัจจุบัน ตีทั้งหมด "เป็นหุ้น" ลงทุนร่วม ให้คุณนันทาบริหารต่อไป
PMCU เป็นสมองใหม่ ส่วนคุณนันทา ตระกูลเขาตั้งแต่คุณพ่อ ประสบการณ์ด้านนี้มูลค่าเหนือทองคำ
ขยำรวมกัน.........
แล้วคิดทางเสกสรรแทนทางทุบทิ้ง "สกาลา" จะสู่ศตวรรษใหม่ ชนิดโลกอิจฉา!
ไปดูเถอะทั่วโลก มีอยู่-มีกินด้วย "ของเก่า" ทั้งนั้น
ไม่ต้องคิดอะไรมาก ช่อง ๓ จะตายวัน-ตายพรุ่ง
งัด "บุพเพสันนิวาส" แต่ยุค "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" ลงจอตูมเดียว
ฟื้นทันตาเห็น
และไม่ฟื้นแค่ช่อง ๓ ปลุกความเป็นไทย ฟื้นทั้งประเทศ
เปลี่ยนมุมคิดใหม่ แล้วคุยกัน..........
รักษา "สกาลา" ไว้ ทั้ง ๓ โลกจะสรรเสริญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |