31 มี.ค.2563 นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทยจากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ภาวะการถดถอยนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤติตามเศรษฐกิจโลก และอย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงเติบโตช้าก่อนหน้าไวรัสระบาด จากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณที่ล่าช้า คำถามคือ ไทยอยู่ห่างจากช่วงวิกฤติมากน้อยเพียงไร อยู่เฟสไหนในช่วงวิกฤตินี้ และจะหนีพ้นวิกฤติไปได้อย่างไร
ทั้งนี้แม้ว่าประเทศไทยอยู่ในเฟส 2 ของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่การระบาดเข้ามาสู่คนไทยที่ติดต่อผ่านผู้ติดเชื้อต่างชาติ หรือหากติดต่อผ่านคนไทยด้วยกันก็ยังสามารถสืบหาแหล่งที่มาได้ แต่ในอีกไม่ช้าอาจจะเข้าเฟส 3 คือการที่คนไทยติดกันเองในวงกว้างและรวดเร็วโดยไม่ทราบแหล่งที่มา ซึ่งภาคสาธารณสุขกำลังทำงานอย่างเต็มที่ในการยืดเวลาการเข้าสู่เฟส 3 แต่หากเทียบการระบาดทางเศรษฐกิจ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่เฟส 3 ไปเรียบร้อยแล้ว
เฟส 1 การระบาดไวรัสในประเทศจีนกระทบภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการผลิต จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวมากกว่าครึ่ง ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอลงแรงมีผลให้ภาคการส่งออกไทยหดตัวตามอุปสงค์ที่ลดลง นอกจากนี้ การที่จีนสั่งปิดโรงงานและภาคธุรกิจมีผลให้ไทยขาดวัตถุดิบสำคัญที่มาจากจีน จนมีผลให้ภาคการผลิตของไทยที่ชะลอตามการส่งออกที่หดตัวอยู่แล้วกลับย่ำแย่อีกเพราะต้องลดกำลังการผลิตตามการขาดแคลนวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรม
เฟส 2 ต่อมาเมื่อการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19เข้ามาในประเทศไทย เราได้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เฟสที่ 2 คือ กระทบผ่านภาคการบริโภคที่ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นเริ่มลดลงต่อเนื่อง การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคเริ่มลดลง ยอดการค้าปลีกมีแนวโน้มชะลอลงตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอ คนเริ่มระมัดระวังการออกนอกบ้าน
เฟส 3 เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่เฟส 3 ของการแพร่เชื้อไวรัสไปบ้างแล้วผ่านตลาดการเงินที่เริ่มติดเชื้อ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีแรงเทขายหนัก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกหดหาย มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทเพื่อนำเงินสดกลับไปถือในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนเทขายตราสารหนี้ รวมไปถึงตราสารหนี้ที่แทบจะเรียกว่าปลอดภัยที่สุดในโลก นั่นคือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาพันธบัตรลดลงหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น และไม่เพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ภาวะความแตกตื่นนี้ลามไปทั่วโลกรวมทั้งไทย ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับหลายภาคส่วนได้ออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยพยุงความผันผวนในตลาดตราสารหนี้
นอกจากนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบ ซึ่งในภาวะเช่นนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเฟส 3 เท่านั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ทางกนง. จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 นี้เหลือ 0.50% ต่อปี โดยที่ภาครัฐได้ออกมาตรการพยุงสภาพคล่องและมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ความเสียหายทางเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนนั้นมีมาก เศรษฐกิจไทยจึงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่จุดต่ำสุดช่วงไตรมาสที่ 2 ทางกนง. น่าจะใช้นโยบายอื่นควบคู่กับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการดูแลสภาพคล่อง ซึ่งมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องนั้นน่าจะมีส่วนช่วยให้เงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่าได้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง น่าจะลดความน่าสนใจของเงินบาท อีกทั้งภาวะความไม่แน่นอนในตลาดโลกน่าจะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในทิศทางแข็งค่าเทียบสกุลอื่นๆ เงินบาทน่าจะอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ไปได้ถึงระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ และน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพก่อนกลับมาแข็งค่าได้เล็กน้อยจากการที่ไทยยังเกินดุลการค้าและจากการที่ตลาดการเงินโลกเริ่มคลายความกังวลจากปัญหาสภาพคล่อง เรามองปลายปีนี้เงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
นายอมรเทพ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งปัญหาก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เฟส 4 ที่น่าห่วงคือ ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ หรือ credit crisis กล่าวคือ กลุ่มภาคธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สูงและเป็นกลุ่มที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน หรือ non-investment grade หรือ high yield จะเป็นกลุ่มที่อาจผิดนัดชำระหนี้และอาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบตลาดเงินและตลาดทุน จนเกิดการลามไปสู่การไถ่ถอนตราสารหนี้
ในภาวะที่ทุกคนเทขายสินทรัพย์ต่างๆ จากความกังวลว่าธุรกิจจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ หรือกังวลว่าราคาสินทรัพย์จะลดลงไปต่อเนื่อง ราคาสินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ นาฬิกาหรูและสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงอื่นๆ อาจมีราคาลดลงได้ เกิดผลด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภคผ่านความมั่งคั่ง หรือ wealth effect ที่เมื่อคนรู้สึกว่าตัวเองจนลง ก็จะลดการบริโภคหรืออุปโภคสินค้าตามมา จนภาพใยแมงมุมที่โยงจากปัญหาไวรัสระบาดสู่การท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต การบริโภค และภาคการเงินวนครบทั้งวงจรและฉุดให้เศรษฐกิจดำดิ่งจนเกิดการว่างงานสูงและอาจลากยาวจนเศรษฐกิจถดถอยไปได้ราว 1 ปีหรือ 2 ปี ซึ่งภาวะนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเฟสที่ 4 ที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวได้มากกว่า 11% ในปีนี้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด และอาจเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยเผชิญ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |