บิ๊กตู่ชูขยี้โกงให้เข็ดหลาบ รมว.พม.ตั้งกก.สอบ3กลุ่ม


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ยอมรับคอร์รัปชันเป็นสนิมในระบบราชการ ลั่นจะลงโทษจนกว่าจะเข็ดหลาบกันไป ไม่อยากให้เป็นไฟไหม้ฟาง วอนทุกฝ่ายร่วมมือ ส่วนกรณีโกงคนจนงวดเข้าทุกที "อนันตพร" เผยลงนามแต่งตั้ง "สุภัทร จำปาทอง" นั่งประธานกรรมการสอบผู้เกี่ยวข้อง 26 ราย 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริหารระดับสูง 2.กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และ 3.ผู้เกี่ยวข้อง ส่วนปลัดและรองปลัด พม.ยากที่จะกันเป็นพยาน

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันว่า เกิดมานานเป็นสนิมในสังคม ในระบบราชการของเรา ปัจจุบันเป็นเรื่องที่ดีที่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชน สื่อมวลชน สื่อโซเชียลฯ ขอบคุณที่ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของชาติ
    นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลและ คสช.เองเปิดกว้าง เพื่อจะเปิดช่องทางรับเรื่องราวร้องเรียนต่างๆ มาอย่าต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่เป็นข่าวนั้น ได้สั่งการให้ขยายผลไปทุกที่ ทุกกองทุน ทุกโครงการที่หลักฐานจะพาไป ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยให้เบาะแสมาด้วย นอกจากนี้ คสช. ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เข้มงวดขึ้น ในการประพฤติมิชอบในระบบราชการ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในกรณีที่มีการร้องเรียน มีข้อร้องเรียนให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็วให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน กรณีที่มีเหตุน่าเชื่อถือที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ก็ให้พิจารณาปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ก็ต้องตรวจสอบกันต่อ
    เขากล่าวว่า หากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิดแล้ว นอกจากจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดโดยเร็วแล้ว อาจพิจารณาให้ออกจากตำแหน่งหรือออกจากราชการไว้ก่อนตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งอาจมีการเอาผิดทางอาญาอีกด้วย โดยต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินคดีโดยทันที กรณีที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อถูกย้ายพ้นจากตำแหน่งเดิมไปแล้ว ห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งในลักษณะเดิม หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นภายในเวลา 3 ปี
จนกว่าจะเข็ดหลาบ
    "เราต้องช่วยกันหากันต่อไป ขอบคุณน้องๆ เด็กๆ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ส่งมานะครับ ผมก็จะดูแลพยายามให้และคุ้มครองไม่ให้เดือดร้อน ไม่อยากให้เป็นการทำงานเหมือนไฟไหม้ฟาง เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นอีกก็ทำอีก ลงโทษอีก จนกว่าจะเข็ดหลาบกันไป เราต้องร่วมมือกันนะครับ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีทุจริตเงินผู้ยากไร้ว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะสรุปและรวบรวมข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรส่งเป็นเอกสารให้ตนทราบในวันจันทร์ที่ 2 เมษายนนี้ ขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนดังกล่าวที่มีการเชื่อมโยงไปถึงบุคคลต่างๆ โดยเบื้องต้นทราบจากการรายงานเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จะตั้งกรรมการสอบวินัยนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. เนื่องจากการสอบในเบื้องต้นพบว่ามีมูล จึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง
        ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบเป็นไปตามกรอบที่คสช.กำหนดไว้ว่าต้องแล้วเสร็จภายใน 30 วันหรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัยตอบว่า เป็นไปตามนั้น ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคมนี้ โดยคณะกรรมการที่จะสอบสวนต้องเป็นบุคคลที่มีระดับสูงกว่าบุคคลที่ถูกตรวจสอบ อาจจะมีจากสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่นเข้าไปร่วมดำเนินการ 
    เมื่อถามว่า จะมีการออกคำสั่งอะไรเป็นพิเศษเพื่อดำเนินการกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า คงไม่ต้อง เพราะมีระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว โดยการดำเนินการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาเป็นรอบๆ ไป ผ่านกระบวนการตรวจสอบในแต่ละขั้น ทั้งนี้ คิดว่าจะมีการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเป็นระยะ
    ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าอาจมีผู้อำนวยการโรงเรียนอีกหลายแห่งเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น พล.อ.ฉัตรชัยระบุว่า ต้องรอให้ รมว.พม.รายงานมา พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการตรวจสอบไม่ใช่การเชือดไก่ให้ลิงดู แต่เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อพบว่ามีมูล ก็ต้องตรวจสอบหาผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้รายงานเรื่องนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์รับทราบ เนื่องจากควรจะให้ครบกำหนดเวลาการตรวจสอบ และมีการรายงานจาก รมว.พม.ก่อน จากนั้นจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
สอบ ขรก. 3 กลุ่ม
     ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ตนได้ลงนามคำสั่งกระทรวงแต่งตั้งคณะกรรมสอบวินัยร้ายแรงกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 26 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริหารระดับสูง 2.กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และ 3.ผู้เกี่ยวข้อง 
    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีรายชื่อถูกสอบสวน หากให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคณะกรรมการฯ จะกันไว้เป็นพยาน หรือโทษหนักจะกลายเป็นเบา แต่จะถึงขั้นไม่ให้ไม่สอบสวนเลยคงไม่ได้ เพราะทุกคนมีความเชื่อมโยง ส่วนคนที่ถูกสอบสวนแล้วยังให้ข้อมูลไม่เป็นประโยชน์ ถ้าพบว่ามีความผิดต้องถูกลงโทษตามเหตุของโทษนั้น ยืนยันเราทำตามกระบวนการ ขณะนี้ถือว่าที่ผ่านมาขั้นตอนทุกอย่างครบถ้วนแล้ว ต่อจากนี้อยู่ที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือใครให้ข้อมูลเป็นประโยชน์บ้าง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ปลัดและรองปลัด พม.ถูกกันไว้เป็นพยานหรือถูกซัดทอดหรือไม่ พล.อ.อนันตพรตอบว่า ผู้บริหารระดับสูงกันไว้เป็นพยานยาก เขาต้องหาหลักฐานล้างข้อกล่าวหาเองว่าไม่ได้ทำความผิดเพราะอะไร     เมื่อถามอีกว่า มีการทุจริตระดับใดบ้าง พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า มีทุกระดับ ตั้งระดับปฏิบัติการ บางคนบอกว่าจะต้องส่งเงินให้กับผู้บริหาร โดยฝั่งผู้บริหารต้องแก้ข้อกล่าวหาว่าไม่ได้รับเงินหรือไม่ได้ให้ส่งเงิน
    ถามย้ำว่า มีอะไรบ่งชี้ว่าปลัดและรองปลัด พม.มีความเชื่อมโยงการทุจริตบ้าง รมว.พม.ตอบว่า พยานบางคนให้การว่าต้องนำเงินมาส่ง โดยมีการระบุชื่อมาด้วย หลักฐานต้องไปดูว่าเขาส่งเงินจริงหรือไม่ หากเป็นเงินสด ต้องดูกันว่าหลักฐานเป็นอย่างไร ถ้าโอนเข้าบัญชีต้องดูเส้นทางการเงิน หรือถ้ามีเงินมาส่งต้องสอบว่าให้จริงหรือไม่ ให้วันใด เวลาใด ขณะนี้เราสอบสวนของปี 60 เป็นหลักก่อน ส่วนของเก่าในปีถัดๆ ไปจะสอบสวนตามมา เพราะถ้าโลภมากจะไม่ได้อะไรเลย ทั้งนี้ การสอบสวนยังไม่มีการโยงไปถึงตัวรัฐมนตรี เพราะอำนาจจบแค่ระดับอธิบดี
    เมื่อถามว่า ประธานคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงจะเป็นใคร พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นคนของกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตาม เราจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วันในการสอบ 
    นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) พม. แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ว่าหลังได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ พบว่าคดีมีมูลทุจริตจริงตามข้อกล่าวหา โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ไม่เป็นไปตามระเบียบ มีการเบิกจ่ายซ้ำซ้อน จัดทำเอกสารเท็จเพื่อเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ ซึ่งเข้าข่ายฐานความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่โดยมีโทษถึงขั้นไล่ออกหรือปลดออก โดยขณะนี้คณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างประชุมพิจารณาข้อเท็จจริงและคำชี้แจงของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา เพื่อพิจารณาโทษตามกระบวนการ
รองปลัด พม.ปิดปาก
       อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีคำสั่งพักราชการผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนเป็นต้นไป โดยหลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาโทษทางวินัยกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเร็ว
     ด้านนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. กล่าวถึงการถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงว่า ยังไม่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่อยากให้ข่าวอะไร ส่วนที่ผ่านมาคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่เคยเรียกตนเข้าไปให้ข้อมูลแต่อย่างใด
     พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ให้คณะทำงานไปแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ของกระทรวง พม. ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางของเรื่องนี้ เพื่อให้รู้ละเอียดว่าการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงไปจนถึงพื้นที่นั้น มีรายละเอียดอย่างไร ขั้นตอนอย่างไรแล้วเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนหรือไม่ 
    หากพบว่ามีพยานหลักฐานการนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้ ก็จะเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกครั้ง ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช.ต้องทำทุกขั้นตอนให้ครบถ้วนชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าขั้นตอนปฏิบัติของ ป.ป.ช.มีมาก ส่วนจะสอบย้อนหลังหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ยืนยันให้พิจารณาครบถ้วน ส่วนการสอบข้าราชการระดับสูงของ พม.เป็นไปตามกฎหมาย เพราะถ้าเกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูง เดี๋ยวเรื่องก็มา
    มีรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเงินสงเคราะห์พัฒนาชาวเขา ได้เคยสรุปเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปแล้ว 1 รอบ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าหลักฐานยังไม่สมบูรณ์ จึงให้กลับไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นเส้นทางการเงินของผู้ถูกกล่าวหาโดยละเอียด รวมถึงให้หาความเชื่อมโยงกับบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องการทุจริต ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้จะสรุปสำนวนนี้ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้
    นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้อำนวยการของศูนย์พัฒนาพื้นที่ราบสูงจังหวัดอุทัยธานี โดยทุจริตเงินชาวเขาด้วยการนำงประมาณปี 2558 จำนวน 3 ล้านบาท โดยนำไปจ่ายให้กับชาวเขาเพียง 1 ล้านบาท อีก 2 ล้านบาทโอนเข้าบัญชีตัวเอง ซึ่งการกระทำผิดครั้งนี้ อยู่ในช่วงที่นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการตรวจสอบเส้นทางการเงิน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"