คนแห่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาทเฉียด 20 ล้านราย “คลัง” ยันใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มจาก 7 วัน ระบุลงทะเบียนสำเร็จไม่ได้แปลว่าจะได้รับเงินทุกคน เล็งของบเพิ่มหลังประเมิน 4.5 หมื่นล้านบาทอาจไม่พอ คลังเตรียมออกมาตรการเข็นเศรษฐกิจฝ่าโควิดระยะ 3 ฟุ้งเป็นมาตรการชุดใหญ่สุด ดูแลทั้งรายย่อยภาคธุรกิจและระบบการเงินการลงทุน ยันฐานะรัฐบาลยังปึ้กไม่มีถังแตก ไม่ต้องกู้ไอเอ็มเอฟ
เมื่อวันจันทร์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการเปิดรับลงทะเบียนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) ที่เว็บไซต์ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดเวลา 14.00 น. วันที่ 30 มี.ค. มีผู้มาลงทะเบียนแล้วรวม 19.8 ล้านราย ซึ่งในภาพรวมหลังการปรับเพิ่มสมรรถนะของระบบการลงทะเบียนแล้ว การลงทะเบียนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ถูกเลิกจ้าง โดนลดเวลาทำงาน ที่ส่งผลต่อรายได้ โดนลดเงินเดือน หรือสถานประกอบการถูกปิด มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยยังสามารถเข้ามาลงทะเบียนที่ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ยังไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียน เพื่อให้มั่นใจว่าคนทำงานที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง
“การลงทะเบียนสำเร็จ หลังลงทะเบียนจะได้รับเอสเอ็มเอสยืนยัน ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเงินโดยอัตโนมัติ ยังมีความเข้าใจผิด เนื่องจากผู้ลงทะเบียนจะต้องผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อนจึงจะได้รับสิทธิ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจ่ายเงินเยียวยาถูกต้องและถึงมือผู้ได้รับผลกระทบจริง โดยการประมวลผลจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 7 วันทำการ ในกรณีที่ข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง” นายอุตตมกล่าว
นายอุตตมกล่าวอีกว่า จากจำนวนผู้ให้ความสนใจลงทะเบียนมีมากกว่าที่คาดไว้มาก อาจทำให้การดำเนินการในขั้นตอนนี้ใช้เวลามากขึ้น
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com เสร็จสิ้นแล้ว และได้รับการยืนยันว่าส่งข้อมูลถูกต้อง ให้รอการตรวจสอบข้อมูลและแจ้งผลกลับไปยังเอสเอ็มเอสที่ได้ลงทะเบียนไว้ ไม่ต้องติดต่อกลับมาที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งยอมรับว่าเดิมจะใช้เวลาตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด 7 วันทำการ เพราะคาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านคน แต่ล่าสุดตัวเลขไปกว่า 20 ล้านคน ก็อาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าเดิม
ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือในแต่ละเดือน จะจ่ายเป็นรอบเดียว นั้น หมายความว่าใครที่ได้รับเงินช่วยเหลือ ก็จะได้เหมือนกันหมด ส่วนใครที่ไม่ได้ ก็ไม่ได้เหมือนกัน ในรายที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ หากยืนยันได้ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจริง ก็จะจ่ายครบนับตั้งแต่เดือนที่ได้ลงทะเบียนไว้
นายลวรณกล่าวว่า งบประมาณที่เตรียมไว้ในโครงการ 45,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 9 ล้านราย ซึ่งหากมีผู้ผ่านคุณสมบัติเกินกว่าที่คาดไว้ 3 ล้านราย กระทรวงการคลังก็เตรียมของบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยอมรับว่าตัวเลขลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมไม่ได้รวมในส่วนของลูกจ้างประกันสังคมตามมาตรา 39-40 ไว้ ซึ่งมีอยู่กว่า 6 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ทั้งหมด
พิจารณาผู้มีสิทธิ์ 3 เกณฑ์
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาว่าใครจะได้รับสิทธิ์มี 3 เกณฑ์ใหญ่ คือ 1.ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ร้านก๋วยเตี๋ยว ค้าขาย เป็นต้น แสดงว่าต้องมีงานทำ 2.ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็ก มีลูกจ้าง 2-3 คน เช่น ร้านนวดแผนโบราณ ถ้าร้านถูกปิด แรงงานที่ทำงานในร้านนี้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 3.ท่านได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร จะต้องเป็นผลกระทบต่อรายได้ที่เป็นตัวเงิน เพราะมาตรการเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไปจากโควิด
“ข้อมูลต้องชี้ให้เห็นว่าท่านถูกให้ออก หรือตกงาน รายได้หายไปจากงาน หรือว่าถูกลดวันทำงาน ถูกลดเงินเดือนลง ก็เข้าข่าย หรือสถานประกอบการถูกปิดบางกลุ่มอาชีพที่ชัดเจนว่าได้รับผลกระทบ เช่น แท็กซี่ คนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ลดการเดินทางลง ส่วนคนที่ยังไม่ชัดเจนจะมีการติดต่อสื่อสาร เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และให้ข้อมูลเพิ่มเติม” นายลวรณกล่าว
สำหรับกลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ เช่น ผู้ได้รับผลกระทบจนทำให้ต้องทำงานที่บ้าน แต่เงินเดือนยังได้ครบ กลุ่มที่ยังทำงาน แต่ยังได้รับเงินเดือนครบเหมือนเดิม กลุ่มที่ตกงานมาเป็นปี หรือตกงานมานานก็จะไม่ได้สิทธิ์ รวมถึงกลุ่มที่ทำงานในร้านค้าที่ปิดมาก่อนในช่วงที่มีการระบาดของโควิดก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.20 น. ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสร็จสิ้นการเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) ได้เรียกนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าหารือที่ห้องทำงานชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ใช้เวลา 30 นาที
โดยเป็นการหารือเพื่อกำหนดมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในระยะที่ 3 สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการดูแลระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา และหากมีความจำเป็นต้องกู้เงินโดยการออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่มีผลกระทบถึงประชาชนระดับล่างด้วย
นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของชุดมาตรการเยียวยาและดูแลระบบเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากวิกฤติผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 ซึ่งจะเป็นชุดมาตรการชุดใหญ่ที่สุด ซึ่งจะครอบคลุมทุกส่วน ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย และระบบการเงิน การลงทุน ซึ่งจะรวมถึงสถาบันการเงิน การลงทุนในตลาดทุน และหุ้นกู้ เป็นต้น
จ่อเข็นมาตรการชุด 3
ทั้งนี้ ชุดมาตรการระยะที่ 3 นี้จะออกมานี้จะครอบคลุมทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการยังบอกไม่ได้ว่าเท่าไหร่ เพราะยังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ แต่ยืนยันว่าจะใหญ่กว่า 2 ชุดมาตรการที่เคยออกมาก่อนหน้านี้รวมกัน โดยจะมีขนาดที่เหมาะสมและมีความจำเป็นสำหรับดูแลเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ทั้งการดูแลเยียวยาประชาชน ดูแลเยียวยาและสนับสนุนผู้ประกอบการ ดูแลระบบการเงินการลงทุนทั้งหมด ถือเป็นชุดมาตรการใหญ่ที่เตรียมจะออกมา ซึ่งจะมีมาตรการเป็นส่วนๆ อยู่ภายใต้ชุดมาตรการดังกล่าวว่าแต่ละเรื่องจะดูแลอะไร ตรงนี้ถือเป็นงานเร่งด่วนของกระทรวงการคลัง
นายอุตตมยอมรับว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพื่อดูแลถึง 2 ชุด เพราะรัฐบาลต้องการดูแลช่วยเหลือ เยียวยา และประคับประคองเศรษฐกิจตั้งแต่ระยะต้นของการแพร่ระบาด และยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการออกมาเพิ่มเติม ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะไม่ทำให้รัฐบาลถังแตกแน่นอน เพราะการจัดสรรงบประมาณสำหรับชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้งที่ได้ออกมาแล้วและกำลังจะออกมาในอนาคต สำนักงบประมาณได้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและรัดกุม
“สำนักงบประมาณดูแลเรื่องนี้อย่างดี จึงไม่มีแน่นอนว่าเมื่อมีการใช้งบประมาณในชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจแล้วผลที่ตามมาคือรัฐบาลถังแตก ยืนยันว่าไม่มีเรื่องแบบนี้แน่นอน และยืนยันอีกเรื่องที่รัฐบาลจะกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ไม่มีเรื่องนี้เช่นกัน รัฐบาลมั่นใจว่าสามารถหาแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทั้งจากงบประมาณและเงินส่วนอื่นที่จะเข้ามาเสริม ซึ่งยังมีเพียงพอ ไม่ต้องกู้ไอเอ็มเอฟ ไม่ได้ถังแตก ทุกอย่างมีการพิจารณาอย่างรัดกุม และดูให้สอดคล้องกันทั้งหมด โดยยืนยันว่าปัจจุบันรัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลยังมีกำลังที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดต่อไปได้อย่างแน่นอน” นายอุตตมกล่าว
ส่วนการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินนั้น รมว.การคลังกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาทางเลือกทั้งหมด ขณะที่กรณีที่มีการเสนอให้มีการใช้ พ.ร.บ.โอนงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ เพื่อใช้ในการดูแลระบบเศรษฐกิจนั้นยังไม่อยากให้คิดว่าจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อมาทดแทนอีกอย่างหนึ่ง เพราะตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดูทางเลือก โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ ที่มีการประสานงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด ว่าจะใช้งบประมาณส่วนใดในการจัดการวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้ได้บ้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |