'รัฐบาล'ดันทุกมาตรการ เยียวยา'โควิด-19'


เพิ่มเพื่อน    

 

      หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง จน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ต้องงัด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขึ้นมาใช้ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ พร้อมกับออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จนเกิดแคมเปญ “เราไม่ทิ้งกัน”

                โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ ซึ่งรัฐต้องการเสริมสภาพคล่องของแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยสนับสนุนเงินเยียวยารายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จากการปิดสถานที่ทำงาน  เนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับการสนับสนุนเงินดังกล่าวจำนวน 3 ล้านคน

                โดยรัฐบาลได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 28 มี.ค.63 ที่ผ่านมา ตลอด 24 ชั่วโมง ยังไม่มีกำหนดวันปิดลงทะเบียน และจะจ่ายเงินเร็วที่สุดใน 7 วันทำการ หลังตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนผ่านหลักเกณฑ์ครบถ้วน นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนรับเงินได้ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ได้ด้วย

                อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ทำให้มีผู้ไม่หวังดีทำเว็บไซต์ปลอม “เราไม่ทิ้งกัน” เลียนแบบขึ้นมาถึง 44 เว็บไซต์ เพื่อหวังนำข้อมูลของประชาชนไปใช้ ทั้งนี้ในช่วง 5 นาทีแรกของการลงทะเบียน มีคนลงพร้อมกันถึง 20 ล้านคน จนทำให้ระบบล่ม ต้องปิดชั่วคราว และเปิดให้บริการใหม่อีกครั้งในวันเดียวกัน โดยผลการลงทะเบียนใน 24 ชั่วโมงถึง 17 ล้านคน

                ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังช่วยเหลือในเรื่องคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อขอรับเงินคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง สามารถขอรับเงินค่าประกันคืน มีมูลค่าตั้งแต่ 300-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้งานตามบ้านพักอาศัย โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เป็นต้นไป  สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะทยอยคืนเงินให้ในวันที่ 31 มี.ค.63 

                นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการดูแลเยียวยาอื่นๆ อีกหลายมาตรการ สำหรับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัวโควิด-19 เช่น โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย มาตรการเลื่อนการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

                นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ “กระทรวงแรงงาน” เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือแรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท มีสิทธิ์ได้รับเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.63 เพื่อให้สอดคล้องและเท่าเทียมกันกับการช่วยเหลือแรงงานลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม

                ขณะเดียวกัน ผลจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ขาดแคลนและมีราคาแพงเกินจริง “กระทรวงพาณิชย์” จึงเข้มบังคับใช้กฎหมายค้ากำไรเกินควร มีความผิดสามารถดำเนินคดีได้ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมออกประกาศห้ามส่งไข่ไก่ออกนอกราชอาณาจักรชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเบื้องต้นให้มีผล 7 วัน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็สามารถขยายเวลาต่อไปได้ รวมถึงมีการประสานกรมปศุสัตว์ไม่ให้อนุญาตการส่งออกด้วย

                นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ให้กรมบัญชีกลาง สำนักงานอาหารและยา และองค์การเภสัชกรรม อำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์อย่างถูกต้อง โดยให้ผ่อนปรนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ ในการจัดซื้อพัสดุสำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 ทุกวงเงิน ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ได้มีการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย N95 และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment) หรือ PPE ที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้ป้องกันการติดเชื้ออย่างละ 4 แสนชุด

                ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการต่างๆ จากภาครัฐจะทยอยออกมาอีก โดยต้องจับตาในการประชุม ครม.วันที่ 31 มี.ค.นี้ แต่ละกระทรวงจะผลักดันมาตรการใดเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อตกผลึกออกมาเยียวยาประชาชนในช่วงวิกฤติประเทศ ที่ “เราไม่ทิ้งกัน” เช่นนี้.

  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"