คำถามว่ายาก คำตอบยากกว่า ในสงครามสู้กับ Covid-19


เพิ่มเพื่อน    

            ชาร์ตชุดนี้อธิบายถึงการประเมินเส้นทางข้างหน้าของแนวทางบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของ Covid-19

                เป็นข้อมูลที่ชี้ว่านายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะสั่งการให้ใช้ "ยาแรง" ได้มากกว่าที่ทำอยู่มากน้อยเพียงใด

                การตัดสินใจใดๆ จะต้องตอบคำถามหลายข้อที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศอื่นๆ และปัจจัยภายในของไทยเราเอง

                การประเมินเพื่อกำหนดนโยบายใน "ภาวะฉุกเฉิน" ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในเมื่อเป็น "สถานการณ์สงคราม" จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของ "ความเสี่ยงที่ประเมินแล้ว" หรือ calculated  risk เพราะไม่มีสงครามใดไม่มีความเสี่ยง

                และไม่มีการทำสงครามใดที่จะไม่ต้องตอบคำถามยากๆ ที่อาจจะไม่มีคำตอบครบถ้วนทันการณ์แต่อย่างใด

                วันก่อนผมอ่านพบแนวทางวิเคราะห์ที่น่าสนใจของ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำเสนอหลายประเด็นที่ตอบชุดคำถามที่ผมเชื่อว่ารัฐบาลกำลังพยายามแสวงหาคำตอบอยู่ จึงได้ขออนุญาตท่านนำมาเล่าขานต่อเพื่อจะได้ช่วยกันมองให้ครบทุกมิติ ในยามที่เราต้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยในยามนี้

                ดร.วรศักดิ์เขียนไว้บางตอนอย่างนี้:

                ไม่นานนี้เราเพิ่งฉลองปีใหม่ 2020 เปิดทศวรรษใหม่ ใครจะนึกว่าในสามเดือนต่อมา เราจะอยู่ในโลกที่น่าสะพรึงกลัว เหมือนภาพยนตร์ Serial Killer ที่ฆาตกรเริ่มจากจีน แล้วย้ายไปสู่เอเชีย-แปซิฟิก  ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกา และกำลังก้าวจะไปสู่อเมริกาใต้ และที่น่ากลัวคือ แอฟริกา

                ในอัพเดตนี้ ผมได้แสดงภาพแห่งผลงานของ Serial Killer ที่มีนามว่า COVID-19 และขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวดังต่อไปนี้

                (1) อัตราการระบาดในสหรัฐอเมริกา หากการขยายตัวแบบก้าวกระโดดยังดำเนินต่อไป-มีคนทำนายว่า 10% ของคนอเมริกัน หรือประมาณ 30 ล้านคนจะติดเชื้อ COVID-19 ภายในกลางปีนี้

                (2) ทฤษฎีการระบาดโรคติดต่อที่เรียกว่า SIR ใช้กับโรค COVID-19 ไม่ได้ เพราะความพิเศษที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ (Asymptomatic Infection) ซึ่งจากสถิติมีถึง 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

                Dr.Anthony Fauci ที่ปรึกษาใหญ่ด้านนี้ของ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อถูกถามถึงประมาณการคนตาย กล่าวว่า "ผมคิดว่าเราต้องระวังการคาดการณ์เหล่านั้น เพราะมันมีพื้นฐานมาจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ ซึ่งทุกโมเดลล้วนทำงานดีเท่ากับสมมติฐานของมัน"

                (3) มาตรการการทดสอบทุกคน เพื่อแยกกักกันผู้ติดเชื้อ ทำได้ไหม?

                เกือบเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน

                ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่จะใช้มาตรการการทดสอบเฉพาะผู้มีอาการแล้ว (20% ของผู้ติดเชื้อ) เท่านั้น

                ดังนั้น ในกรณีสหรัฐอเมริกาที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 100,000 คน ความจริงน่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีก 400,000 คนซ่อนอยู่ในสังคม

                (4) ในช่วงที่มีคนติดเชื้อซ่อนตัวในสังคมมาก แล้วเราควรทำอย่างไร?

                เมื่อเราไม่สามารถทดสอบคนทุกคนเพื่อแยกกักกันตัว เราก็ต้องตั้งสมมติฐานว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อหมด

                นี่คือเหตุผลที่เราต้องสร้าง Social Distancing ให้เป็นระเบียบของสังคมที่ไม่ยอมให้คนสองคนอยู่ใกล้กันเกิน 2 เมตร

                มาตรการนี้คงต้องใช้ต่อไปจนผู้ติดเชื้อทุกคนมีภูมิคุ้มกันแล้ว หรือมีวัคซีนแล้ว

                (5) นานแค่ไหนที่เราจะกลับมาเป็นปกติ?

                ไม่มีใครสามารถบอกได้

                เดิมเราเคยคิดว่าอาจเป็นสองสัปดาห์ แต่ต่อมาชักหวั่นใจว่าอาจยาวถึงสิ้นปี สุดท้ายคำตอบที่มีเหตุผลที่สุด คือ

                จนกว่ามนุษย์จะสามารถพัฒนาวัคซีน ทดสอบจนมั่นใจและพร้อมใช้อย่างแพร่หลาย

                ซึ่งคงจะใช้เวลารอไม่ต่ำกว่า 1.5 ปี

                ดังนั้น ในระหว่างนี้เราคงต้องเตรียมตัวพบกับอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายๆ ลูก จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

                แต่คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือว่า

                ภูมิต้านทานของเรามีมากพอที่จะรับ "อาฟเตอร์ช็อก" หลายๆ ลูกได้เพียงใด? 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"