โควิด-19พ่นพิษเศรษฐกิจไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

        จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยขณะนี้ ที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามออกมาตรการในการควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาดอย่างดีที่สุด ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดจากจำนวนสะสมของผู้ติดเชื้อในประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนในประเทศอย่างมาก

                ประชาชนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ตอบรับกับมาตรการ “เจ็บแต่จบ” ของรัฐบาล จากการปิดสถานที่ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน การตรวจคัดกรองประชาชนในแต่ละสถานที่อย่างเข้มข้น แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ยังคงดำเนินไป ซึ่งสวนทางกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มหยุดชะงักลง

                โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 เหลือติดลบ 5.3% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม

                “ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างเกือบทั่วทั้งโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ หากโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง”

                กนง.ยอมรับว่าสถานการณ์ในขณะนี้มีความยากลำบากในการทำประมาณการ เพราะเมื่อมองไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจมีสูงมากขึ้นจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือระยะเวลาและขอบเขตของการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขของประเทศต่างๆ การพัฒนาวัคซีน ยา และสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ “ภาคการท่องเที่ยว” และ “ภาคการส่งออก” ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี 2563

                ขณะที่กระทรวงการคลังเองก็ยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้รับผลกระทบเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก ส่วนการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของไทยในปีนี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเหนื่อยแน่นอน และสุดท้ายตัวเลขเศรษฐกิจจะไปจบที่เท่าไหร่ ก็ต้องให้เป็นไปตามสถานการณ์ เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการแพร่ระบาดดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะจบตอนไหน

                นั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหลายฝ่ายยังคงจับตากันว่ามาตรการที่ออกมาจะสามารถบรรเทาผลกระทบได้ดีเพียงใด

                โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินเยียวยา 5 พันบาท สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งนักวิชาการและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างแสดงความเห็นด้วยและสนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะเป็นมาตรการที่น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่รัฐบาลใช้กลยุทธ์ “เจ็บแต่จบ” ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว

                แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายยังให้ความเป็นห่วงคือ การคัดกรองผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือ 5 พันบาท ว่าจะเป็นผู้ที่เดือดร้อนและควรได้รับเงินในส่วนนี้อย่างแท้จริง เพราะเงินในส่วนนี้มีความจำเป็นในช่วงที่ภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าครั้งนี้อาจจะหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เสียด้วย

                ขณะที่มาตรการในการดูแลลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสถาบันการเงินต่างๆ ที่ออกมา ก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้ไม่มากก็น้อย จากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่หยุดชะงัก จากการปิดภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง. 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"