ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน)หรือ ศมส.ได้เตรียมทำการศึกษาปรากฎการณ์ เกิดการะบาดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในแง่ผลต่อมนุษยชาติและผู้คนในสังคม โดยนายเอนก สีหามาตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อดีตผอ.ศมส. กล่าวว่า สถานการณ์ที่มีการระบาดโรค โควิด -19 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต จำนวนมากทั่วโลก และแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศกว่าพันคน ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมที่ต้องเรียนรู้ หากย้อนประวัติศาสตร์โรคระบาดสำคัญของไทย อหิวาตกโรค โบราณเรียก “โรคห่า” ผู้ป่วยจะท้องร่วง ร่างกายเสียน้ำจนตาย เคยระบาดในสมัยอยุธยา คนตายจำนวนมาก จากนั้นระบาดสมัยรัตนโกสินทร์รุนแรงหนัก นำศพไปวัดสระเกศ เพราะวัดอยู่นอกเมืองใกล้กำแพงพระนคร มีช่องทางขนศพ เรียกว่า ประตูผี ศพเผาไม่ทันมีแร้งลงมาจิกกิน เป็นที่มา แร้งวัดสระเกศ จึงมีพิธีเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ โรคระบาดก็เบาบางลง
นอกจากโรคห่า ยังมีโรคไข้ทรพิษเป็นโรคร้ายแรงในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคได้ พระบรมราชาที่ 4 กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็ทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษจนสวรรคต สมัยรัชกาลที่ 3 มีไข้ทรพิษระบาดมาก ทรงให้หาแนวทางป้องกัน ต่อมาก็มีการเริ่มปลูกฝีครั้งแรกในไทย อีกโรค คือ กาฬโรค คาดว่าหนูมีเชื้อกาฬโรคติดมากับเรือสินค้าอินเดีย พบระบาดในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ก็มีการรับมือ ป้องกันกำจัดหนูพาหะนำโรค
“ ในอดีตเมื่อมีการระบาดของโรค ทางศาสนาจะสวดมนต์ปัดเป่าภัยพิบัติและโรคร้ายไปจากบ้านเมือง สร้างขวัญกำลังใจ นี่เป็นคติความเชื่อทางมานุษยวิทยา ขณะที่โรคโควิด-19 ปัจจุบันยังไม่มีตัวยารักษาโรคได้ผลสำเร็จ อีกมุมหนึ่งรัฐบาล จึงเชิญประชาชนสวดมนต์ไล่โรคนี้ โดยสมเด็จพระสังฆราช พร้อมพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ ร่วมสวดบทรัตนสูตร ซึ่งบทสวดมนต์นี้ใช้สวดขจัดโรคภัยสืบทอดมาจากสมัยพุทธกาล ต่อเนื่องจนสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีความเชื่อว่า หากนำมาสวดจะเป็นสิริมงคลและสร้างความสบายใจให้กับคนในสังคม “ นายเอนก กล่าว
ทีปรึกษา รมว.วธ. กล่าวว่า โรคโควิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วระบาดได้รวดเร็ว ประชาชนป่วยและเสียชีวิตในระยะเวลาสั้น อาจเกิดจากพฤติกรรมของคนในสังคม วิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป การเดินทางของโรคไปได้รวดเร็วกว่าอดีตมาก ความไม่สมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้เชื้อไวรัสใหม่เกิดขึ้นในโลก ขณะเดียวกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก็เกิดมิติทางวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวคิด social distancing หรือ การรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
“ ในเชิงมานุษยวิทยานี่คือ ปรากฏการณ์ใหม่ โรคเปลี่ยนไป คนมีการปรับตัวและเอาตัวรอดในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง แนวทาง social distancing ถ้าทำตามเป็นการระมัดระวังตัวโอกาสติดโรคน้อยลง แต่ถ้ามองภาพรวมแนวปฏิบัติต้านโควิดนี้ จะช่วยทำให้สังคมมีระเบียบวินัยมากขึ้น ทางกายภาพลดการเกิดอุบัติเหตุหรืออาชญากรรมได้ ตลอดจนลดการเผชิญหน้าทะเลาะเบาะแว้ง เวลานี้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ หลายองค์กรเข้มงวดกับการปฏิบัติเช่นนี้ แต่หลังสถานการณ์โรคโควิดคลี่คลาย ต้องดูว่า social distancing จะยังมีพลังและมีความเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพราะส่วนหนึ่งก็มีอารมณ์และความรู้สึกทุกข์ เมื่อจะต้องอยู่ห่างๆ กับคนใกล้ชิดหรือคนที่สนิทสนมในสังคม “ นายเอนก กล่าว
ในแง่การทำวิจัย อดีตผู้อำนวยการ ศมส. กล่าวว่า โรคระบาดโควิด-19 ถือเป็นประเด็นร้อนในสังคมโลก เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ มีผลกระทบในวงกว้างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ปัจจุบันการวิจัยมานุษยวิทยาในสถานการณ์โรคระบาดของไทยยังมีน้อย ก่อนมีไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น ก็มีการระบาดของโรคซาร์สที่ลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงไทยมีผู้ติดเชื้อ ยังไม่พูดถึงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการสนับสนุนทุนวิจัยด้านมานุษยวิทยาเป็นเรื่องจำเป็นไม่แพ้การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เพราะความรู้ทางมานุษยวิทยาทำให้เกิดการเรียนรู้ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และสามารถรับมือกับโรคระบาดในอนาคตได้ด้วย เนื้อหางานวิจัยที่น่าสนใจ เช่น ชีวิตทางสังคมในสถานการณ์โรคระบาดโควิด การจัดการแก้ไขปัญหาโรคระบาด การศึกษาเปรียบเทียบการรับมือของประเทศต่างๆ ในประวัติศาสตร์ และมิติทางวัฒนธรรมของโรคอุบัติใหม่ หากผลงานวิจัยมีความสมบูรณ์ทั้งการเก็บข้อมูลภาคสนาม การสัมภาษณ์ และการศึกษาเปรียบเทียบ จะต่อยอดใช้ประโยขน์เชิงนโยบายต่อไป
ล่าสุด ศมส.ได้ประกาศให้ทุนการวิจัย หัวข้อ "โรคเปลี่ยนคน คนเปลี่ยนโลก โควิด-19 มนุษยวิทยาในสถานการณ์การระบาด" ที่จะให้ทุนการวิจัย 20 ทุนๆละ 20,000 บาท ใน5หัวข้อได้แก่
1 ประสบการณ์ อารมณ์และความรู้สึกในสถานการณ์โรคระบาด ทุกข์ทางสังคม ประสบการณ์การเจ็บป่วย ความหมายและมุมมองต่อโรคโควิด 19 ชีวิตทางสังคมและอารมณ์ของมนุษย์ในสถานการณ์โรคระบาด: ความกลัว ความรัก ความเหงา และความหวัง ฯลฯ การดูแล ภารกิจทางมนุษยธรรม และประสบการณ์ทางจริยธรรม ในสถานการณ์โรคระบาด
2 . บทเรียนของวิธีจัดการและแก้ไขปัญหาโรคระบาด การศึกษาเปรียบเทียบการรับมือของประเทศต่างๆ ในบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง กาลเทศะ ความเสี่ยง และมิติทางวัฒนธรรมของโรคอุบัติใหม่ มองแบบรัฐ: รัฐเวชกรรม ภาวะผู้นำและปฏิบัติการของอำนาจในสถานการณ์เปราะบาง ชุมชน การตอบโต้ ต่อรอง และการกลายเป็นปัญหาท้องถิ่นของโรคในกระแสโลกาภิวัตน์ ประสบการณ์และปฏิบัติการเชิงพื้นที่: การเดินทาง เส้นแบ่งและเขตแดนกับการควบคุมกักกันโรค
3 การแบ่งแยกกีดกัน ความเสี่ยงและการปรับตัวทางสังคม ความเหลื่อมล้ำและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ: กลุ่มเปราะบาง ชนชั้น เชื้อชาติและเพศสภาวะในสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ สังคมเสี่ยงภัย: กลุ่มเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงและสถานการณ์เสี่ยงกับการปรับตัวและการเอาตัวรอดในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง การเกิดใหม่ของความเป็นสังคม ความเป็นพลเมือง และการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ กับการรับมือโรคระบาด
4 เทคโนโลยี พิธีกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในสถานการณ์โรคระบาด ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี: การรับมือกับสถานการณ์วิกฤต อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสังคมกับโรคระบาด ศาสนา พิธีกรรม การผลิตซ้ำและการสร้างใหม่ทางวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับโรคระบาด กติกา มารยาทและสุนทรียศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันและการอยู่กับโรค
5 ภววิทยา ปริมณฑลของความรู้และความจริง การเมืองเรื่องความรู้ ความจริง และการต่อสู้ช่วงชิงทางญาณวิทยา Visual culture and Epidemic ข้อมูลโรคระบาดกับการสร้างภาพตัวแทนและการสื่อสารผ่านภาพ การรายงานข่าว ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปล่อย และปฏิกิริยาทางสังคมของสาธารณะ วัตถุ สิ่งของ หลากสายพันธุ์กับการเป็นผู้กระทำการของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในสถานการณ์โรคระบาด
รูปแบบของผลงานต้องมีขนาดสั้น มีการวิจัยจากเอกสาร และภาคสนาม รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัวการสัมภาษณ์ การสำรวจสื่อออนไลน์ มีความยาวไม่ต่ำกว่า 15 หน้า A 4 ไม่รวมบรรณานุกรม Font TH SarabunPSK 16 สำหรับนักวิชาการ นักวิจัย หรือนักศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-20 เมษายน 2563 (ภายในเวลา 16.00 น.) โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มที่ www.sac.or.th และส่งทาง e-mail ที่ [email protected] ทั้งนี้ จะประกาศผลผู้ได้รับการสนับสนุนในวันที่ 30 เมษายน 2563 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02 880 9429 ต่อ 3814 หรือ 3835 ในเวลาราชการ.