รัฐลงทุนเพื่อเด็กก่อนเข้าเรียนอนุบาลต่ำมาก เด็ก0-3ปีคืออนาคตสำคัญของผู้ใหญ่ในวันหน้า


เพิ่มเพื่อน    

 

สุดยอดงานวิจัยเพื่ออนาคตเด็กไทย จี้จุดรัฐลงทุนต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต รอให้ถึงชั้นประถมก็สายเสียแล้ว.....หนุนรัฐบาลลงทุนเพื่อเด็กก่อนเข้าเรียนอนุบาล งบประมาณพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-3ปี ในปี 2562 จำนวน 58,508 ล้านบาท หรือ 22,806 บาท/คน/ปี เทียบงบเพื่อการศึกษาของเด็กวัย 3-17 ปี จำนวน 405,174 ล้านบาท หรือ 34,837 บาท/คน/ปี สูงกว่างบเด็กก่อนอนุบาลถึง 1.5 เท่า

             

การศึกษางบประมาณรายจ่ายภาครัฐเพื่อการพัฒนาเด็กในช่วงอายุ 0-3 ปี ในเมืองไทย

หัวหน้าชุดโครงการ : ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์, หัวหน้าโครงการ : รศ.ศาสตรา สุดสวาท

             

งานวิจัยนี้นำเสนอภายใต้ชุดโครงการ “การศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่21” มีกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาคือเด็กอายุ 0-3 ปี ในประเทศไทยทั้งหมด ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล พญาไท หัวข้อการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในการศึกษาปฐมวัยหรือก่อนวัยเรียน ว่ามีความสำคัญต่อการสร้างทักษะของทุนมนุษย์ในระยะยาวให้กับประเทศ อันส่งผลต่อเนื่องไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว

             

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสวัสดิการภาครัฐที่ใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทยและระดับสากล ทั้งยังเป็นการประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการดูแลเด็กปฐมวัยในช่วง 0-3 ปี ในประเทศไทย ภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนหรือเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาสวัสดิการภาครัฐที่จำเป็น แต่ไม่เพียงพอหรือขาดอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งประมาณการขนาดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐในบางโครงการ พร้อมทั้งระบุถึงหน่วยงานภาครัฐที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบ จัดทำข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระบวนการศึกษาวิจัยจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึกในภาคส่วนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ผลการศึกษาได้คำตอบว่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นหนึ่งในหนทางที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ประเทศเจริญก้าวหน้า เติบโตได้อย่างทั่วถึง มีความเท่าเทียมกันในด้านโอกาส และยุติความยากจนอย่างรุนแรงได้ การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ยิ่งในวัย 0-3 ปี ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในช่วงวัยอื่นๆ ทั้งหมด

             

คำถามก็คือสวัสดิการภาครัฐเพื่อการพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-3 ปี ในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร งบประมาณเหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนหรือเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาสวัสดิการหรือไม่

             

การสนับสนุนภาครัฐขยายโอกาสในการเข้าถึงการเรียนในระดับชั้นปฐมวัยว่าจะเป็นเป็น รร.อนุบาลหรือภายใต้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารที่อยู่ห่างไกล การเรียนในระดับปฐมวัยจะเป็นการพัฒนาทักษะให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนทุกคน ทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยประสานความร่วมมือของภาคการศึกษาในการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการศึกษาในระดับปฐมวัย ทั้งในด้านบุคลากรและหลักสูตรการเตรียมความพร้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในการพัฒนาเศรษฐกิจ

             

มิติทางด้านความเหลื่อมล้ำของคุณภาพของ รร.ที่ไม่เท่ากันในแต่ละแห่ง รร.ขนาดเล็กจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก อุปกรณ์การเรียน หนังสือในห้องสมุด คอมพิวเตอร์ การขาดแคลนครูผู้สอน เป็นปัญหาหลักใน รร.ขนาดเล็ก โดยเฉพาะครูผู้สอนวิชาคณะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากที่สุด โดยเฉพาะ รร.ขนาดเล็กขาดแคลนครูคณิตศาสตร์ถึงร้อยละ 30.2 ขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ร้อยละ 25.9 ในขณะที่ รร.ที่อยู่ในเขตเมือง รร.กทม. และ รร.ในเครือสาธิตส่วนใหญ่ระบุว่า รร.ของตนไม่ขาดแคลนครูคณิตศาสตร์

             

การสำรวจสวัสดิการภาครัฐที่มีการจัดหาให้กับเด็กช่วงอายุ 0-3 ปี เพื่อให้การประเมินงบประมาณมีความครอบคลุม หน่วยงานของรัฐใน 4 กระทรวงหลัก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ การของบประมาณและการดำเนินการเพื่อการพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-3 ปี ยังมีลักษณะแยกส่วนความรับผิดชอบ ในขณะที่โครงสร้างเพื่อการบูรณาการในการดำเนินงานยังไม่มีความเข้มแข็งมากนัก              

             

การศึกษานี้จึงแบ่งการประเมินงบประมาณออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.โครงการและกิจกรรมที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-3 ปี 2.งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขสำหรับเด็กเล็ก 0-3 ปีของประเทศไทย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 อยู่ที่ 58,508 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีร้อยละ 2.0 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP หากคิดเป็นงบประมาณต่อคนเท่ากับ 22,806 บาท/คน/ปี

             

งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาที่จัดสรรให้กับเด็กที่มีอายุ 3-17 ปี ที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ไม่รวมรายจ่ายด้านสาธารณสุข หรือการให้ความคุ้มครองทางสังคมด้านอื่นๆ (อนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) ของประเทศไทย พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณ 405,174 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 คิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีร้อยละ 13.5 หรือร้อยละ 2.6 ของ GDP คิดเป็นงบประมาณ 34,837 บาท/คน/ปี ซึ่งสูงกว่างบประมาณของเด็กก่อนอนุบาลถึง 1.5 เท่า

 

             

การจัดสรรงบประมาณรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กช่วงอายุ 0-3 ปี ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต อีกทั้งไม่สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนตามช่วงวัย เนื่องจากเด็กในช่วงอายุ 0-3 ปี เป็นช่วงอายุที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าเด็กในช่วงอายุอื่นๆ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่น้อยกว่า

             

จากการประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการดูแลเด็กปฐมวัยในเมืองไทย เชื่อมโยงกรอบการดูแลและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย 5 ด้านขององค์การอนามัยโลก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ธนาคารโลกกับโปรแกรมสนับสนุนเด็กปฐมวัยตามช่วงอายุ 25 โปรแกรมของธนาคารโลก ใช้เป็นกรอบการประเมิน โดยใช้ข้อมูลจากรายการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559 ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่าสภาพแวดล้อมในการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทยยังเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาแก้ไข 4 ด้าน (5 เรื่อง)

             

ด้านที่ 1 : สุขภาพที่ดีของเด็ก ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพกายและใจของผู้ดูแลเด็กเป็นอย่างมาก ว่าจะให้ความรักและตอบสนองต่อความต้องการของเด็กในด้านต่างๆ ในแต่ละวันได้เพียงพอหรือไม่ ผลจากการประเมินชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องการศึกษาของผู้เป็นแม่ เนื่องจากช่วงอายุที่เพศหญิงมีบุตรคนแรกมากที่สุดอยู่ในช่วง 15-20 ปี (ร้อยละ 36.79) ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาเทียบเท่าหรือต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษา (ร้อยละ 95.53) ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ขาดความพร้อมทั้งความรู้ ฐานะทางเศรษฐกิจ วุฒิภาวะในการดูแลและการอบรมเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเติบโต สุขภาพ พัฒนาการ โอกาสของเด็กสำหรับการเรียนรู้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

             

ด้านที่ 2 : โภชนาการที่เพียงพอ สำหรับเด็กเล็กที่เพิ่งเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนเท่านั้น การให้นมแม่แต่เพียงอย่างเดียวส่งผลดีเป็นอย่างมากต่อสุขภาพ และพัฒนาการของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากน้ำนมแม่มีคุณค่าของสารอาหารสูงและมีสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย อีกทั้งทารกที่ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีพัฒนาการทางด้านจิตสังคมดี จากการมีโอกาสใกล้ชิดและสร้างความผูกพันระหว่างเด็กและมารดา และสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป การให้อาหารเสริม การให้นมแม่ จะทำให้เด็กได้รับสารอาหารและมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเติบโตในแต่ละช่วงวัย     

             

ผลจากการประเมินสภาพแวดล้อมในการดูแลเด็กปฐมวัย พบปัญหาสองเรื่องคือ 1.การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เด็กในช่วงอายุ 0-5 เดือนที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว พบว่ามีเพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้น และ 2.อาหารปลอดภัยและมีปริมาณสารอาหารที่เพียงพอ โดยเด็กในช่วงอายุ 6-23 เดือน มีเพียงร้อยละ 55.6 เท่านั้นที่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ทั้งจำนวนมื้อและความหลากหลายของอาหาร ทั้งนี้ จากการสำรวจโดยแบบสอบถามเด็กในเขตพื้นที่เทศบาลในเขตนครรังสิต พบว่า เด็กในพื้นที่เขตเมืองถึงร้อยละ 18 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ผู้ปกครองที่ปรุงอาหารเช้าให้เด็กรับประทานอาหารเองมีเพียงร้อยละ 48 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด หมายความว่าเด็กเกินครึ่งหนึ่งต้องรับประทานอาหารที่ซื้อระหว่างการเดินทางมา รร. รวมถึงข้าวเหนียวหมูปิ้งเป็นอาหารอร่อยที่เด็กชอบ แต่ไม่มีประโยชน์ในระยะยาว โอกาสทำให้เกิดไขมันในเส้นเลือด เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาหาอาหารเช้าให้ลูกได้ทันเวลา อาหารทอด (ร้อยละ 14 ของเด็กทั้งหมดที่สำรวจ) อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่ควบคุมคุณภาพและสารอาหารได้ยาก

             

ด้านที่ 3 : การดูแลที่ตอบสนอง ข้อมูลจากการสำรวจเชิงคุณภาพในงานศึกษาพบปัญหาในเรื่องสิทธิการลาคลอดของพ่อแม่และการดูแลเด็กอย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการประกาศใช้ กม.คุ้มครองแรงงานที่กำหนดสิทธิให้ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน (รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร) การดำเนินการตาม กม.คุ้มครองแรงงานเกิดขึ้นในระดับจำกัดเฉพาะในส่วนของการจ้างงานในระบบเท่านั้น ผู้เป็นแม่ส่วนใหญ่จะได้รับรายได้ที่ลดลงในช่วงการลาคลอดบุตร และอาจไม่มีรายได้เลยในหลายกรณี ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีการจัดหาสวัสดิการที่ชัดเจน เพื่อเป็นทางเลือกในการเลี้ยงดูบุตรในช่วงอายุต่ำกว่า 2 ปีให้กับผู้ที่เป็นพ่อแม่

             

ด้านที่ 4 : ความมั่นคงและปลอดภัย เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่ไม่สามารถปกป้องตนเองและเสี่ยงต่ออันตรายที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อาจนำไปสู่ความเจ็บปวดและความเครียดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่สะอาด การปฏิบัติด้านสุขลักษณะที่ดี การมีสุขาภิบาลที่เพียงพอ มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก ส่วนใหญ่พบว่าการกำจัดอุจจาระเด็กช่วงอายุ 0-2 ปี เป็นไปด้วยวิธีการที่ไม่ถูกสุขอนามัย (ร้อยละ 58.9) การถ่ายในผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้วทิ้งในขยะ (ร้อยละ 42.7) การฝัง (ร้อยละ 5.5) การทิ้งในที่โล่ง (ร้อยละ 2.4) เป็นที่น่าสังเกตว่าการถ่ายอุจจาระในผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้วทิ้งในถังขยะมีสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"