โพลเผยข่าวเชื้อโรคโควิด-19 ติดต่อได้ง่าย-แพร่ระบาดรุนแรง ทำ ปชช.จิตตกมากที่สุด วอนรัฐบาลจัดหาหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ พร้อมขอให้ดูแลแพทย์พยาบาลเต็มที่ "พปชร." ผุดอีกแจกไข่ไก่ 1 แสนฟอง ปรับวิธีใหม่ใช้กำนัน-ผญบ.เคาะประตูส่งให้ถึงบ้าน "อ๋อย" ฟุ้งแก้ไข่แพงไม่ยาก
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน กรณีการรับข่าวสารโควิด-19 ของคนไทย ระหว่างวันที่ 25-28 มี.ค.2563 พบว่า ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารโควิด-19 จากออนไลน์ (Facebook, Twitter, Instagram, Website ฯลฯ) มากสุด 79.30% รองลงมาเป็น สถานีโทรทัศน์ 77.05%, คำบอกเล่า/เพื่อน/คนรอบข้าง 60.69%, สื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์, ประกาศจากทางราชการ ฯลฯ) 45.52% และข้อความ SMS 44.73% ถามประชาชนเชื่อถือข่าวโควิด-19 จากแหล่งใดมากที่สุด พบว่า อันดับ 1 สถานีโทรทัศน์ 89.00% รองลงมาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์, ประกาศจากทางราชการ ฯลฯ) 63.09% ตามด้วยวิทยุ 56.23% ออนไลน์ (Facebook, Twitter, Instagram, Website ฯลฯ) 53.72% และคำบอกเล่า/เพื่อน/คนรอบข้าง 42.98%
สำหรับประชาชนมีหลักในการแยกแยะข่าวจริง ข่าวปลอม พบส่วนใหญ่เชื่อจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ มีหลักฐานอ้างอิง เปิดเผยที่มาที่ไป 41.08%, อันดับ 2 ติดตามข่าวจากหลายๆ สื่อ เปรียบเทียบข่าวจากแหล่งอื่นๆ 32.22%, อันดับ 3 อ่านเนื้อหาให้ละเอียด คิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองตามหลักการและเหตุผล 22.96%, อันดับ 4 รอฟังประกาศยืนยันจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 20.10% และสุดท้ายเชื่อข้อมูลการนำเสนอของสื่อหลักมากกว่าข้อมูลที่ได้จากสื่อโซเชียล 16.95%
พอถามถึงข่าวโควิด-19 กรณีใดที่ทำให้ประชาชนจิตตกมากที่สุด พบข่าวเชื้อโรคติดต่อได้ง่าย สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรง 36.08% รองลงมาเป็นยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศ 30.59%, อันดับ 3 การบริหารจัดการของภาครัฐ มาตรการ การแก้ไขปัญหา 26.93%, อันดับ 4 ผู้ติดเชื้อไม่ยอมกักตัวเอง ฝ่าฝืน ปกปิดข้อมูล 18.90% และอันดับ 5 การปล่อยข่าวลือ ข่าวปลอม เฟกนิวส์14.23% ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากให้มีการนำเสนอข่าวโควิด-19 ในลักษณะใด พบส่วนใหญ่อยากให้เสนอข่าวที่เป็นจริง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ปิดบังข้อมูล 54.55% รองลงมาเป็นนำเสนออย่างสร้างสรรค์ เน้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ 34.33% ตามด้วยผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 25.33% และมีการคัดกรองข้อมูล แหล่งที่มา มีหลักฐานอ้างอิง 15.52% รวมทั้งนำเสนอผ่านช่องทางเดียว เช่น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ 13.31%
ขณะที่สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่องความต้องการประชาชนกับจุดยืนการเมือง ถึงการรับรู้ของประชาชนและการเข้าขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐช่วงวิกฤติโควิด-19 พบเกือบ 1 ใน 3 หรือ 31.9% รู้แต่ไม่ชัดเจน รองลงมา 26.3% รู้แต่ทำบางอย่างที่ขอได้ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม 25.4% รู้แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย 11.3% รู้และทำทุกอย่างที่ขอได้ตามสิทธิ และ 5.1% ยังไม่รู้อะไรเลย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนจากรัฐบาลช่วงวิกฤติโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.8% ต้องการแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไวรัสโควิดได้ไว้กับตัว รองลงมาต้องการหน้ากากอนามัย ป้องกันไวรัสได้จริง รวมทั้งต้องการลงทะเบียนใน Apps คนส่งของ ส่งอาหารรับสิทธิลดน้ำมัน ลดราคาขนส่ง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ 87.8% ต้องการให้รัฐบาลทุ่มเททุกอย่างไปดูแล แพทย์ พยาบาล รักษาผู้ป่วย, 86.1% ต้องการขยายเวลาจ่ายค่าเช่า หอพัก คอนโดฯ รัฐช่วยผู้ประกอบการแทน, 82.4% ต้องการ ลดต้น ลดดอกผ่อนบ้าน
วันเดียวกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธาน ส.ส.พปชร. กล่าวถึงปัญหาราคาไข่ไก่ขาดแคลนและมีราคาสูงว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจากฟาร์ม แต่เป็นเพราะพ่อค้าคนกลางฉวยโอกาสกักตุนและขึ้นราคา อยากเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ลงไปตรวจสอบและตามประกบตั้งแต่หน้าฟาร์ม ตามถึงพ่อค้าไปจนถึงรานค้า และเรียกร้องไปยังพ่อค้าควรหยุดพฤติกรรมอันโหดร้ายและซ้ำเติมชาวบ้าน
"ผมได้ประสานจากฟาร์มต่างๆ ในอำเภอบ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อจัดหาและรับซื้อไข่ไก่ในราคาต้นทุน เบื้องต้นในจำนวน 1 แสนฟอง นำไปแจกจ่ายประชาชนฟรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่รอไข่ไก่จากฟาร์มซึ่งต้องใช้เวลารวบรวมสักนิด ถ้าได้ครบถ้วนแล้วจะทำการประสาน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน นำไปมอบให้ถึงหน้าบ้านครอบครัวละ 5-10 ฟอง ถือเป็นแนวทางนี้ยังสอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการให้คนอยู่กับบ้านและเว้นระยะห่างระหว่างสังคม" นายสุชาติกล่าว
ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ตนพอรู้ปัญหาไข่ไก่อยู่บ้าง เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทรามีการเลี้ยงไก่ไข่มากที่สุดในประเทศ ตนได้สอบถามเจ้าของฟาร์มและหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วเข้าใจว่าปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดและราคาแพงนี้เป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยาก ภาวะไข่ไก่ขาดตลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันและชั่วคราวเท่านั้น หากดูแลให้ดีมีวิธีการที่ถูกต้องไม่ไปซ้ำเติมปัญหา คนไทยจะมีไข่ไก่กินเกินพอในราคาไม่แพงผิดปรกติแน่นอน รัฐบาลควรดูแลให้ดีคือสินค้าจำเป็นโดยเฉพาะอาหารประเภทอื่นที่กักตุนได้ แต่อย่าไปแทรกแซงจนไม่เกิดการผลิตหรือทำลายวงจรการค้าขาย ประเทศไทยเป็นครัวโลก ถ้าจัดการดีๆ ไม่มีทางขาดแคลนอาหาร เราควรจะใช้วิกฤติเป็นโอกาสผลิตให้เกินพอสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกอาหารในยามที่โลกจะขาดแคลนด้วยซ้ำ
"การกักตุนเป็นไปไม่ได้ เพราะไข่ไก่เก็บไว้ไม่ได้นาน ใครเก็บไว้นานก็จะเสีย ต่อไปข้างหน้าแนวโน้มไข่จะล้นตลาดด้วยซ้ำ ที่ไข่ไก่ขาดตลาดในช่วงนี้เป็นเพราะคนอยู่กับบ้านกันมาก ต้องทำอาหารกินเอง ไข่ไก่ทำกับข้าวได้ง่าย สะดวก และแต่ละบ้านก็กลัวจะหาซื้ออาหารได้ยาก จึงซื้อกันคนละมากๆ แต่ถ้าซื้อมากจนเกินไปก็จะกินไม่ทัน การซื้อไข่ไก่ก็จะน้อยลง เท่าที่ได้ข้อมูลรัฐบาลควรทำอยู่ 2 อย่าง และไม่ควรทำอยู่ 2 อย่าง ที่ควรทำคือ 1.ดูแลไม่ให้อาหารสัตว์ขึ้นราคา และ 2.ให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่ามีไข่พอแน่และราคาจะไม่แพงผิดปรกติ ผู้ที่ซื้อได้ ไม่ต้องซื้อครั้งละมากๆ ที่ไม่ควรทำคือ 1.ไม่พยายามไปกำหนดราคาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและ 2.ไม่ไปตัดวงจรการค้าของเขาซึ่งต้องอาศัยหั่งเช้ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และผู้ค้าปลีก รัฐบาลไม่ควรคิดไปขายเสียเองหรือจ้องจับผิดเจ้าของฟาร์มซึ่งส่วนใหญกำหนดราคาเองไม่ได้ และไม่ควรไปเอาเป็นเอาตายกับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หากดำเนินการอย่างถูกต้องปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดและราคาแพงจะแก้ได้ในเวลาสั้นๆ" นายจาตุรนต์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |