“ศบค.” เผยมี 44 เว็บไซต์ปลอมหลอกลงทะเบียน “คลัง” ปลื้มคนแห่ลงทะเบียนถึง 17 ล้าน ลั่น 7 วันเงินถึงมือแน่ ส่วนใครถูกเขี่ยชื่อทิ้งอุทธรณ์ได้ “หม่อมเต่า” เอาใจมนุษย์เงินเดือน เตรียมชง ครม.จ่ายเงินชดเชย 5 พันบาทเหมือนกลุ่มไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ว่าถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการลงทะเบียนได้มากในเวลารวดเร็วขนาดนี้ แต่พบว่ามีผู้ลอกเลียนแบบใช้ชื่อเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันถึง 44 เว็บไซต์ ซึ่งคนกลุ่มนี้หวังนำข้อมูลประชาชนไปใช้ประโยชน์ เราถือว่าเป็นเจตนาไม่ดี ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเว็บไซต์จริงคือ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าหน่วยงานภาครัฐต้องทุ่มเทสรรพกำลังช่วยประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งประชาชนจะได้รับเงินหลังจากลงทะเบียนอย่างเร็ว 7 วันทำการ
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อเวลา 17.40 น. ของวันที่ 29 มี.ค. มีคนลงทะเบียนใน w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ทะลุ 17.1 ล้านคน ซึ่งระบบจะตรวจสอบว่าผู้ลงทะเบียนมีคุณสมบัติครบ 3 เงื่อนไขสำคัญ คือเป็นแรงงานไม่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จริง โดยจะได้รับเงินภายใน 7 วันทำการ ผ่านบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยหลังจากนี้คลังจะเร่งตรวจสอบผู้ลงทะเบียน หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ก็จะพยายามจ่ายเงินช่วยเหลือให้ได้ภายใน 7 วันทำการ สำหรับผู้ที่ได้รับข้อความไม่ผ่านการคัดเลือกก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้
“การลงทะเบียนกระทรวงการคลังคิดว่าผ่านจุดพีกมาแล้ว เมื่อช่วงสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืนของวันที่ 28 มี.ค. มีคนเข้ามาลงทะเบียนชั่วโมงละกว่า 2 ล้านคน โดยเวลา 22.36 น. มีผู้ลงทะเบียนได้ 5.3 ล้านคน เวลา 22.51 น. มีคนลงทะเบียนได้ 6 ล้าน และตอนเที่ยงคืนมีคนลงทะเบียนแล้ว 8.5 ล้านคน ส่วนในวันที่ 29 มี.ค.2563 เวลา 06.00 น. มีคนลงทะเบียนได้ 9.6 ล้านคน และมาทะลุ 10 ล้านคน เวลา 07.20 น. และเมื่อเวลา 13.00 น. ยอดลงทะเบียนเพิ่มเป็น 15.3 ล้านคน และในเวลา 17.40 น. ยอดลดทะเบียนทะลุ 17.1 ล้านคนแล้ว”
วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงานประกันสังคม แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท มีสิทธิได้รับเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.2563 เพื่อให้สอดคล้องและเท่าเทียมกันกับการช่วยเหลือแรงงานลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในวันที่ 31 มี.ค.นี้
นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วย รมว.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท คือกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 เนื่องจากมีการส่งเงินประกันสังคม แต่เมื่อถึงวิกฤตินี้กลับไม่ได้รับเงินชดเชยเหมือนผู้ไม่ได้ส่งเงินประกันสังคม ที่ประชุมจึงมองว่าคนที่มีการจ่ายเงินประกันสังคมควรได้รับเช่นเดียวกัน โดยไม่ควรที่จะได้ต่ำกว่า ซึ่งเราจะคิดที่เพดาน 15,000 บาท ถ้าเงินเดือนเกิน 15,000 บาท จะคิดที่เพดาน 15,000 บาท ส่วนที่ไม่ถึงก็จะคิดตามฐานเงินเดือนความเป็นจริง ซึ่งจำนวนเงินจะเพิ่มเท่าไหร่นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป
“ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ทำงานไม่ถึง 6 เดือน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีการประสานกับกระทรวงการคลังว่าผู้ประกันตนในกลุ่มนี้จะไปใช้สิทธิในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70,000 คน” นายดวงฤทธ์กล่าว
นายจตุพรยัง พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการคัดกรองว่าจะทำได้เสร็จใน 7 วันจริงหรือไม่ เพราะมีผู้ลงทะเบียนเกินกว่าคาดจำนวนมาก หากสูญเสียเวลาไปกับการคัดกรอง จะเป็นเสมือนการให้เงินผิดเวลา เวลาหิวจะตายอยู่แล้วไม่มีเงิน แต่ไปได้เงินเมื่อตอนอิ่มแล้ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียความรู้สึก
นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า รัฐบาลต้องดูแลผู้เดือดร้อนให้ทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือ ส่วนที่รัฐบาลให้สัญญาณว่าจะออกพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาท แต่ก่อนจะกู้เพิ่มขอเสนออีกครั้งว่ารัฐควรปรับแผนการใช้เงินงบประมาณ และโอนงบที่ไม่เร่งด่วนหรือมีแนวโน้มว่าจะใช้ไม่ทันมาเป็นเงินทุนเพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ทุกกระทรวง กระทรวงละ 10% ได้เพิ่มอีกประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เพราะวินัยทางการคลังยังสำคัญ ทุกคนเชียร์ให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องใช้เงินภาษีให้เหมาะสมที่สุด
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวประเด็นถึงการเตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้ 2 แสนล้านบาท ว่าอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพราะจากการประเมินคาดว่าต้องใช้เงินถึง 6 แสนล้านบาท ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโอนงบประมาณใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ในปีงบประมาณ 2563 มิเช่นอาจต้องกู้จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบฐานะทางการคลังในอนาคตได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |