"บิ๊กตู่" จัดโครงสร้าง ศบค.ตั้ง 10 หน่วยงานแล้ว พร้อมรายงานตรงนายกฯ ทันที แนะคุมใจตัวเองให้ได้ ทำตามมาตรการตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง โฆษก ศบค.ระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ผลหรือไม่รอดูตัวเลขสะท้อน 5-7 วันหลังประกาศใช้ สธ.เผยผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 143 ราย เสียชีวิตรายที่ 7 โคม่า 17 ราย สะสม 1,388 บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 6 ราย จากผู้ป่วยที่ส่วนหนึ่งปกปิดข้อมูล ชี้กราฟผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นในแนวเส้นตรง วอนคนไทยให้ข้อมูลตามจริง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 29 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.), นายฉัตรชัย? พรหมเลิศ? ปลัดกระทรวงมหาดไทย,? นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) หรือ ศบค. เพื่อประชุมกลุ่มเล็กบนชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อแก้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เร่งด่วน? หลังมีผู้ติดเชื้อสะสม 1,245 ราย และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องรวมเป็นรายที่ 6 แล้ว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งแบ่งหน่วยงาน 10 แห่งภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 และขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยการปฏิบัติงานของศูนย์ดังกล่าวจะรายงานตรงสู่นายกฯ เพื่อติดตามสถานการณ์และสั่งการทันทีหากมีข้อติดขัด
จากนั้นเวลา 13.00 น. นายกฯ ได้ลงจากตึกไทยคู่ฟ้า โดยก่อนเดินทางกลับ นายกฯ ได้วนรถยนต์ส่วนตัวมาที่ ศบค. ซึ่งตั้งอยู่ภายในตึกสันติไมตรี โดยนายกฯ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มาจากหลายภาคส่วน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับ นายกฯ กล่าวว่า กำชับมาตรการไปหมดแล้ว โดยให้แต่ละส่วนชี้แจงข้อมูล
เมื่อถามว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นห่วงและจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรเพิ่ม ก็ให้ทำตามมาตรการจะได้ลดลง เมื่อถามย้ำว่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้อีกหรือไม่ เพราะบางจังหวัดมีมาตรการที่เข้มข้นและปิดพื้นที่ไปแล้ว นายกฯ กล่าวว่า “คุมใจตัวเองให้ได้แล้วกัน สื่อก็คุมตัวเองด้วย”
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณประชาชน เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เจ้าหน้าที่ ศบค.ทุกคนที่ทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย สื่อมวลชนและประชาชนที่เผยแพร่ข้อความสร้างสรรค์ผ่านโซเชียลมีเดีย นายกฯสะท้อนว่าสิ่งสร้างสรรค์เหล่านี้คือสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ ยังเน้นย้ำว่าขณะนี้อยู่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใครปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีการลงโทษเด็ดขาด นอกจากนี้ ในการประชุมกลุ่มเล็กที่มี นายกฯ เป็นประธานวันเดียวกัน ให้ความสำคัญเรื่องตัวเลข ข้อมูล โดยให้ สธ.รายงานเป็นไทม์ไลน์ เพื่อจะได้วิเคราะห์ออกมาตรการแก้ปัญหา และให้แต่ละจังหวัดรวบรวมรายงานและข้อกำหนดที่ จังหวัดออกมา เพื่อจะนำมาสื่อสารให้ประชาชนปฏิบัติตาม รวมถึงกำชับเรื่องการหาหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ประชาชนมีใช้อย่างเพียงพอ
7 วันพิสูจน์ผล พ.ร.ก.
“การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มี.ค.เป็นผลดีหรือไม่ ตัวเลขจะสะท้อนออกมาหลังประกาศไปแล้ว 5-7 วัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายกฯ ระบุว่าเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแล้วยังมีความห่วงและกังวล ดังนั้นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะต้องมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงลงไป โดยสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งมาเลยว่าแต่ละแห่งมีมาตรการอย่างไร และให้รายงานต่อนายกฯ ทุกวัน ตอนนี้ทุกพื้นที่เข้มข้น รัฐบาลต้องทำแบบนี้เพื่อท่านเอง อาจเสียความสะดวกสบายไปบ้าง แต่อดทนสักนิด ทุกอย่างจะกลับคืนกลับมาเหมือนเดิม และขอย้ำว่ารวมกันติดหมู่ แยกกันอยู่เรารอด
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 143 ราย โดยสัดส่วนยังพบในพื้นที่ กทม.มากที่สุด ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ มาจาก 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้รวม 70 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 5 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 15 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 49 ราย และผู้ร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 1 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 43 ราย ได้แก่ กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 22 ราย, กลุ่มผู้ทำงาน/อาศัย และเดินทางไปในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 8 ราย กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 8 ราย โดยติดจากผู้ป่วย 6 ราย ติดจากแหล่งอื่น 1 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างการสอบสวน ส่วนตัวไม่อยากให้มีบุคลากรติดแม้แต่คนเดียว เพราะต้องดูแลผู้ป่วยอีกเยอะ, กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 30 ราย สรุปวันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 111 ราย รักษาในโรงพยาบาล 1,270 ราย เสียชีวิต 7 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 1,388 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น เป็นชายไทยอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงและเบาหวาน มีอาการเหนื่อยหอบ เข้ารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ตรวจพบปอดอักเสบ และภาวะวิกฤติระบบทางเดินหายใจ จึงส่งต่อไปที่ รพ.พระนั่งเกล้า อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 26 มี.ค. ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย โดย 50% เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัว ใน 17 รายนี้มีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 ราย ใช้เครื่องพยุงการทำงานของปอด (ECMO) อาการอยู่ในภาวะวิกฤติ
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้กราฟผู้ป่วยในไทยเพิ่มขึ้นในแนวเส้นตรง พบผู้ป่วยมากในกลุ่มอายุ 20-59 ปี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เจอน้อยแต่มีความสำคัญ เพราะเสี่ยงที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต ในไทยตอนนี้มี 59 จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นลักษณะการดำเนินมาตรการควบคุมโรคจึงต่างกัน สำหรับเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอนั้น ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม เพราะทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน หากสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์หลายๆ อย่างจะค่อยๆ ขาดแคลน เพราะกำลังการผลิตทั้งในโลกเป็นไปตามสถานการณ์ปกติ ไม่ได้ทำไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ติดเชื้อจากผู้ป่วยปกปิดข้อมูล
เมื่อถามผลการสอบสวนโรคกรณีผู้เสียชีวิตรายที่ 7 เนื่องจากมีรายงานว่าไม่ใช่ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ตั้งแต่แรก จึงให้กลับบ้าน มีการสอบสวนผู้สัมผัสมากน้อยเพียงใด นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เคสนี้จัดเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้ให้ประวัติเรื่องการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม กรณีการไม่ยอมประวัติทำให้ยากต่อการควบคุมป้องกันโรคและการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเยอะเหมือนกัน อย่างกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็มาจากการปกปิดข้อมูลเช่นกัน ดังนั้นต้องขอความร่วมมือประชาชนอย่าปกปิดข้อมูล ขอให้บอกทุกอย่างตามความจริงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.วราวัชร์ ธรรมสโรช ผกก.สน.ตลิ่งชัน ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ที่ 29/2563 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจกักบริเวณภายในบ้านพัก ระบุว่า ได้รับรายงานว่า "พ.ต.ท." นายหนึ่งของ สน.ตลิ่งชัน เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จึงได้มีคำสั่งให้ผู้ที่ใกล้ชิด "พ.ต.ท." นายนี้ กักตัวอยู่ในบริเวณบ้านพักของตนเองเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 ถึง 8 เม.ย.นี้ รวม 6 นาย ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด
สำหรับ พ.ต.ท. ที่ติดเชื้อโควิด วันที่ 16-18 มีนาคม มาทำงานตามปกติ มีอาการไข้เล็กน้อย, วันที่ 19-25 มีนาคม มีอาการไข้เล็กน้อย นั่งทำงานอยู่ในห้องทำงานส่วนตัวเท่านั้น, วันที่ 26 มีนาคม ไปพบแพทย์ที่ รพ.ศิริราช และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ตำรวจ, วันที่ 27 มีนาคม ถูกนำตัวเข้าห้องไอซียูที่ รพ.ตำรวจ โดยมีรายงานว่าสำหรับ พ.ต.ท.ที่ติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าเกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งด่านคัดกรองโรคโควิด-19 ตามพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย
ต่อมา พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า พ.ต.ท.รายดังกล่าวคาดว่าน่าจะติดมาจากที่อื่น และยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจจุดตรวจคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่อย่างใด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ยื่นประเมิน ได้แจ้งขอยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าสินค้า Rapid test สำหรับตรวจหาเชื้อชุดก่อโรค COVID-19 ยี่ห้อ Bioeasy ซึ่งผลิตโดยบริษัท Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปแล้วนั้น เพราะรัฐบาลสเปนเพิ่งแถลงว่าใช้ไม่ได้ผล จึงขอยกเลิก และไม่นำเข้ามาจำหน่ายแล้ว ซึ่งได้สอบถามไปยังอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะผู้ตรวจสอบ และ อย.ในฐานะผู้ออกใบอนุญาต ว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่ได้คำตอบ
สั่งสอบภายใน 7 วัน
“ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และให้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน หากมีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ทำให้ทางราชการเสียหาย มีการปฏิบัติหน้าที่ หรือ มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายไม่มีละเว้น” นายอนุทินกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในไทยจะใช้วิธีการตรวจหาสารพันธุ์กรรมไวรัส ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ โดยใช้น้ำยาที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ทำขึ้นเอง กำลังการผลิต 100,000 เทสต์ ซึ่งเพียงพอในประเทศ และกำลังจะขยายกำลังการผลิตเพิ่ม กรมวิทย์และ อย.จึงตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยมี ดร.บุศราวรรณ ศรีวรรธนะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธาน ซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็ว ต่างจากเวลาปกติ การอนุญาตผลิตภัณฑ์จะใช้เวลากว่า 3 เดือน เชื่อมั่นว่า ดร.บุศราวรรณท่านไม่กังวล กลัว หรือจะมีใครไปชี้นำท่านได้
ด้าน ดร.บุศราวรรณกล่าวว่า เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเชื้อใหม่ที่ยังไม่มีใครตั้งเกณฑ์เอาไว้ ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้พิจารณาตามหลักวิชาการเทียบเคียงชุดตรวจไวรัสตัวอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยกำหนดเปอร์เซ็นต์ความไวในการตรวจและความจำเพาะเอาไว้สูง ซึ่งมีผู้ผลิตนำเข้ายื่นเรื่องมา 3 รอบ พิจารณาตามลำดับยื่นก่อนยื่นหลัง ใช้เวลาประมาณ 7 วัน รอบแรกพิจารณาวันที่ 20 มี.ค. มี 20 คำขอ ผ่านการรับรอง 6 ตัวอย่าง, รอบ 2 วันที่ 25 มี.ค. มี 18 คำขอ ผ่านการพิจารณา 3 ตัวอย่าง และรอบ 3 วันที่ 27 มี.ค. มี 10 คำขอ แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรอง ยืนยันว่าไม่มีผู้บริหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณารับรองหรือไม่รับรองผลิตภัณฑ์
ส่วน นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาฯ อย. กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีการนำเข้าชุดตรวจหาแอนติเจนตัวที่มีปัญหา แต่ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย และทาง อย.ได้ยกเลิกการอนุญาตนำเข้าแล้ว ส่วนอีกบริษัทกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทางบริษัท และจะเรียกผลิตภัณฑ์มาตรวจสอบอีกครั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |